จากข้อมูลเอกสารความเป็นมา โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP เป็นนโยบายของรัฐบาลที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 โดยมีวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย การสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน การส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของชุมชน
แนวคิดการพัฒนา OTOP คือการพัฒนาอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนเป็นรากฐานของประเทศ เน้นการรวมกลุ่มของประชาชนระดับฐานรากในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และขณะเดียวกันก็มีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นของท้องถิ่น ถือเป็นการพึ่งตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในชุมชน อันจะสามารถต่อยอดขยายผลสู่การเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต่อไป
โดยภารกิจดังกล่าวเป็นหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชนในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคง เชื่อมโยงไปสู่การดำเนินโครงการ OTOP ซึ่งกระบวนการโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์มี 4 ขั้นตอน คือ
สำหรับสถานะของ OTOP ในประชาคมอาเซียนนั้น ตามมุมมองของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เห็นว่าสินค้า OTOP จะได้รับผลกระทบจากประชาคมอาเซียน เนื่องจากแต่ละประเทศต่างหันมาให้ความสำคัญกับจุดแข็งของชุมชนในด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญา เพื่อเชื่อมโยงสู่การสร้างสัญลักษณ์ให้แก่ผลิตสินค้าและบริการ อันจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาด ภายใต้บริบทที่ผู้บริโภคกำลังนิยมสินค้าที่เป็นธรรมชาติ สินค้าวัฒนธรรม สินค้าส่งเสริมสุขภาพ และสินค้าที่มีส่วนช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากตลาดในประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ยังสามารถขยายช่องทางไปยัง ASEAN+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ASEAN+6 (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย) ได้อีกด้วย
สำหรับโอกาสของ OTOP ในประชาคมอาเซียนนั้น จากงานศึกษาของ ทิชากร เกษรบัว ได้วิเคราะห์ถึงพฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ในด้านสินค้าอาหาร ผู้บริโภคในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์จะมีความต้องการอาหารสุขภาพ จึงเป็นโอกาสทางการตลาดของสินค้าโอทอปจำพวกผักปลอดสารพิษ ธัญพืช สมุนไพร น้ำเพื่อสุขภาพ เช่น น้ำสำรอง น้ำว่านกาบหอย น้ำธัญพืช และอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ยังนิยมอาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุง และขนมขบเคี้ยว ด้านเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า ลาว กัมพูชา จะนิยมเสื้อผ้าที่ดูมีรสนิยมและราคาไม่แพง ซึ่งไทยสามารถส่งออกสินค้าเสื้อผ้าที่ดูทันสมัย ในขณะที่สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย จะนิยมเสื้อผ้าที่หรูหรา มียี่ห้อที่มีชื่อเสียง ซึ่งไทยอาจเข้าไปทำการตลาดค่อนข้างยาก ด้านสินค้าเครื่องประดับตกแต่ง ของที่ระลึก แหล่งตลาดสำคัญคือ บรูไน เวียดนาม ในส่วนประเทศอื่นๆ ผู้บริโภคไม่นิยมเท่าใดนัก และด้านสุดท้ายคือสินค้าสมุนไพร จากการศึกษาพบว่าผู้บริโภคใน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ค่อนข้างนิยมสินค้าธรรมชาติ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของโอทอปสมุนไพร เช่น ลูกประคบ ยาสระผมและสบู่สมุนไพร :ตัวอย่างของสินค้า OTOP ไทยที่มีชื่อเสียงและมีโอกาสในตลาดอาเซียนและตลาดโลก ยกตัวอย่างเช่น หมวกกะปิเยาะห์ หรือหมวกสำหรับชายชาวมุสลิม ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ขึ้นชื่อของจังหวัดปัตตานี ซึ่งได้ส่งออกไปยัง 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา จีน มาเลเซีย บรูไน และซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการประกอบพิธีฮัจญ์ รวมทั้งในพื้นที่ก็มีความต้องการใช้อยู่ตลอด เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตทางศาสนา เครื่องเงินเมืองน่าน ซึ่งทางจังหวัดผลักดันเข้าสู่ตลาดอาเซียนผ่านการจัดแสดงในงานมหกรรมต่างๆ และเชื่อมโยงเข้ากับกระแสการท่องเที่ยวเมืองน่าน ในฐานะเป็นเมืองแห่งศิลปะ ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปของจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นเมืองขึ้นชื่อด้านสวนผลไม้ โดยมีผลิตภัณฑ์ขายดี เช่น ทุเรียนทอด ทุเรียนกวน มังคุดกวน น้ำสำรอง สละลอยแก้ว ชมพู่สามรส ผลไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรทางการแพทย์อภัยภูเบศร์ จังหวัดปราจีนบุรี เช่น ยาแคปซูล ยาชง ยาแก้ไอ เครื่องสำอาง โดยเน้นความเข้มแข็งของเกษตรกร และพึ่งตนเองโดยการปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการบริโภคสินค้าธรรมชาติเพื่อสุขภาพ
ภัสสร ภัทรเภตรา
กันยายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
“โอกาสและผลกระทบของ OTOP กับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” (http://www.sme.go.th/Lists/EditorInput/DispF.aspx?List=15dca7fb-bf2e-464e-97e5-440321040570&ID=1760)
“งานวิจัย แนวทางการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tambon One Product : OTOP) เพื่อการส่งออก ในตลาดอาเซียน Development of OTOP products (One Tambon One Product: OTOP) For the export market in ASEAN” โดย ทิชากร เกสรบัว (https://www.tci-thaijo.org/index.php/HUSO/.../27531)