ปุตราจายา (Putrajaya)นับเป็นเมืองใหม่ของสหพันธรัฐมาเลเซียถูกเนรมิตขึ้นจากแนวความคิดของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ที่จะสร้างเมืองเพื่อเป็นที่ตั้งของฝ่ายบริหารและประมุขของประเทศตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกัวลาลัมเปอร์
ปุตราจายาเป็นเขตปกครองพิเศษที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของดร.มหาเธร์ที่ต้องการจะเนรมิตเมืองใหม่ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2538คำว่า “ปุตราจายา” มาจากชื่อนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย นามว่า “ตนกู อับดุล รามัน ปุตรา อัลฮัจ” นอกจากนี้คำว่า “ปุตราจายา” ในภาษาสันสกฤตยังมีความหมายว่า “ชัยชนะของเจ้าชาย”หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า “The Victory of Prince” เกิดจากการสมาสคำ ระหว่าง “Putra” แปลว่า เจ้าชาย กับ “Jaya” ที่แปลว่า ความสำเร็จ หรือชัยชนะ
เขตปกครองพิเศษดังกล่าวมีพื้นที่ประมาณ 4,932 เฮกเตอร์ ประชากรประมาณ 350,000 คน โดยกำหนดแผนการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะ 1A แล้วเสร็จในปีพ.ศ.2542 ระยะ 1B แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2544 และระยะที่ 2แล้วเสร็จในปี 2553 เพื่อเป็นศูนย์การบริหารและปกครองที่แยกออกจากเมืองหลวงอย่างกัวลาลัมเปอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการควบคุมปัญหาการเจริญเติบโตของเมืองหลวงอย่างรวดเร็ว กอปรกับเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองหลวง นอกจากนี้ปุตราจายายังประกอบไปด้วยเป็นระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกในทุก ๆ ด้าน
ปุตราจายานอกจากจะเป็นเมืองราชการแห่งใหม่ของมาเลเซียแล้ว ปัจจุบันยังเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเยี่ยมเยียน เนื่องจากสถาปัตยกรรมอันงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างศาสนาอิสลามผ่านรูปแบบอาคารสถาปัตยกรรม กับความทันสมัยผ่านรูปแบบของการออกแบบอาคารสถาปัตยกรรม และการจัดวางผังเมืองที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ด้วยปัจจัยดังกล่าวปุตราจายาจึงเป็นเสมือนทั้งศูนย์ราชการที่สำคัญ เมืองใหม่ และในขณะเดียวกันก็เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมแห่งใหม่ของมาเลเซีย
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองปุตราจายาที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด ได้แก่ มัสยิดปุตรา หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า “มัสยิดสีชมพู” เป็นสถาปัตยกรรมมัสยิดสีชมพูลอยอยู่บนแหลมปุตราจายา จุดที่สูงที่สุดของมัสยิด มีความสูงเทียบเท่าตึกประมาณ 25 ชั้น นับเป็นจุดสนใจที่สำคัญของเมือง ตั้งตระหง่านอยู่ริมทะเลสาบที่สร้างขึ้นโดยการขุด นอกจากมัสยิดสีชมพู สะพานเสรีวาวาซาน (Seri Wawasan Bridge) ยังเป็นอีกหนึ่งจุดสนใจสำคัญของเมือง เนื่องจากสะพานแห่งนี้เป็นสะพานที่สว่างไสวไปด้วยแสงไฟที่ประดับประดาไว้ตรงกลางเส้นทาง มีการออกแบบที่ทันสมัย นอกจากนี้สะพานคอนกรีตดังกล่าวเป็นการผสมผสานระหว่างเคเบิล กับ โครงสร้างเหล็กได้อย่างลงตัวอีกหนึ่งจุดสนใจของเมืองได้แก่ “สะพานปุตรา” ( Putra Bridge) เป็นสะพานที่มีความสำคัญที่สุดในบรรดาสะพานทั้งหมด มีความยาว 435 เมตร เป็นตัวเชื่อมพื้นที่ต่างๆเข้าด้วยกัน จากเขตรัฐบาล กับหน่วยงานราชการต่างๆ และ สำหรับส่วนชั้นบนของตัวสะพานถูกสร้างเป็นทางเดินขนาดใหญ่ สะพานสองชั้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมแบบอิสลาม ของสะพานคาจูในเมืองอิศฟาฮาน ประเทศอิหร่าน
ปุตราจายาไม่เพียงแต่เป็นเมืองที่ถูกเนรมิตขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางหน่วยงานราชการของมาเลเซีย ที่สำคัญแทนกัวลาลัมเปอร์ แต่ยังเป็นเสมือนนวัตกรรมที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อวาทกรรมการสร้างเมืองใหม่ อันนับได้ว่า ปุตราจายาเป็นต้นแบบของนวัตกรรมการสร้างเมืองใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่งผลต่อรูปแบบของการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ในเมืองใหญ่ๆของภูมิภาคแห่งนี้
ชิดพล ยชุรเวชคุณากร
มิถุนายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
การเคหะแห่งชาติกองผังเมืองและสิ่งแวดล้อม ฝ่ายโครงการเมืองใหม่.“เอกสารแปลปุตราจายา ศูนย์ บริหารสหพันธรัฐมาเลเซีย Putrajaya Federal government administrative center”. กรุงเทพฯ : กอง, 2540.
กุสุมา โยธาสมุทร. “ปุตราจายา เมืองแห่งวิสัยทัศน์ของมหาเธร์”. กรุงเทพฯ: ผู้จัดการรายเดือน, 2538.
เจริญรัตน์ สุขุม. “เที่ยวเมืองปุตราจายา”. กรุงเทพฯ: ธุรกิจก้าวหน้า, 2546.