บริบทสถานการณ์ความยากจนในประชาคมอาเซียน สามารถพิจารณได้จากรายงานของกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการเกษตรกรรม หรือ IFAD เมื่อปี 2011 ซึ่งระบุว่าร้อยละ 53 ของประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประมาณ 569 ล้านคน มีชีวิตอยู่ในระดับยากจน โดยมีรายได้ต่ำกว่า 2 US ดอลล่าห์/วัน และประมาณร้อยละ 18 ประสบความยากจนรุนแรง โดยอาเซียนมีประชากรอาศัยอยู่ในชนบทร้อยละ 54 และร้อยละ 62 ของประชากร ที่ยากจนก็อาศัยในพื้นที่ชนบท นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ แล้วยังพบว่าอาเซียนมีสัดส่วนประชากร ที่ยากจนมากเป็นอันดับสองรองจากกลุ่มประเทศ sub-Saharan ของแอฟริกา
หลายพื้นที่ของอาเซียนยังขาดแคลนสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เป็นอุปสรรคสำหรับกลุ่มคน กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สูงหรือพื้นที่ห่างไกลในการเข้าถึงระบบตลาด ในด้านสุขภาพมีอัตราการตายของแม่หลังการคลอดบุตรสูงถึงร้อยละ 3 และมีอัตราการตายของทารกแรกเกิดร้อยละ 5 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเด็กขาดการดูแล ด้านโภชนาการ น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หรือพิการ
ปัญหาภาคชนบทอาเซียนส่วนหนึ่งเกิดมาจากกระแสการพัฒนาที่รวดเร็ว จนเกิดการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรม ป่าไม้ และชายฝั่งซึ่งใช้เลี้ยงชีพสำหรับคนชนบท มาเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่การค้า ประกอบกับนโยบายของรัฐในด้านเกษตรกรรมก็กลายเป็นการส่งเสริมผู้ลงทุนรายใหญ่ ก่อให้เกิดการสูญเสียที่ดินจากเกษตรกรท้องถิ่นไปสู่บริษัทภายใต้รูปแบบเกษตรพันธะสัญญา ที่มีแนวโน้มที่จะใช้เทคโนโลยีระดับสูงแทนการจ้างงานเกษตรกร และเน้นที่พืชเชิงเดี่ยวมากกว่าการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารดังที่ผ่านมา ในส่วนของภาคการประมงนั้นก็พบว่าการเปิดเสรีธุรกิจประมงกลับเน้นคุ้มครองผู้ประกอบการรายใหญ่ แทนที่จะปกป้องชาวประมงรายย่อย นอกจากนี้ประชากรในชนบทยังได้รับผลกระทบจากโครงการระดับ mega project เช่น เขื่อน เหมืองแร่ ที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป ด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจภาคชนบทและคุณภาพชีวิตที่ลดลง นำไปสู่การอพยพเข้าสู่เขตเมือง โดยในปี 2005 UN ได้ประมาณการว่ามีประชากรอพยพในประเทศอาเซียนประมาณ 5.6 ล้านคน และ 4 ล้านคนในนั้น อพยพย้ายถิ่นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ และท้ายที่สุดก็เกิด ความยากจนในเขตเมือง เนื่องจากผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมาก แต่ระบบการเคหะ น้ำดื่มน้ำใช้ที่ปลอดภัย ไฟฟ้า สุขาภิบาล และบริการอื่นๆ ยังคงมีไม่เพียงพอ
การแก้ไขปัญหาความยากจนในประชาคมอาเซียนนั้น ได้ถูกกำหนดไว้ในเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม (ASCC) ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือหลายด้าน โดยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขจัดความยากจนได้ปรากฏอยู่ในองค์ประกอบย่อยของหลายๆ ด้าน เช่น
1. ด้านการพัฒนามนุษย์ มีองค์ประกอบย่อยที่เกี่ยวข้องคือ
การส่งเสริมการจ้างงานที่เหมาะสม
การเสริมสร้างทักษะในการประกอบการสำหรับสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ
2. ด้านการคุ้มครองและสวัสดิการสังคม มีองค์ประกอบย่อยที่เกี่ยวข้องคือ
การขจัดความยากจน
การส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร
การเข้าถึงการดูแลสุขภาพและส่งเสริมการดำรงชีวิตที่มีสุขภาพ
การเพิ่มศักยภาพในการควบคุมโรคติดต่อ
3. ด้านความยุติธรรมและสิทธิ
การคุ้มครองและส่งเสริมแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน
4. ด้านส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
การส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานการดำรงชีวิตในเขตเมืองต่างๆ ของอาเซียน
5. การลดช่องว่างการพัฒนา
ในทางปฏิบัติอาเซียนได้จัดทำกรอบแผนปฏิบัติการพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน (Framework Action Plan on Rural Development and Poverty Eradication) โดยในปี 2011-2015 ได้จัดระบุวาระ การดำเนินงานประกอบด้วย
การพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน (sustainable rural development) เช่น การจัดตั้งระบบสหกรณ์เพื่อเป็นทางเลือกด้านการเงินสำหรับเกษตรระดับครัวเรือน หรือระดับเกษตรกรรายย่อย การปฏิรูปการถือครองที่ดิน การเข้าถึงและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยกลุ่มผู้ยากจน
2. การรักษาความมั่นคงทางอาหารภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยการปลูกพืชพื้นบ้านหลาย ชนิดซึ่งทำให้เกิดความยืดหยุ่น สามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และประกัน ความมั่นคงด้านอาหาร แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ความเสี่ยงสูง
3. การพัฒนาสาธารณูปโภคและทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่ชนบท เช่น การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจน การส่งเสริมศักยภาพของผู้นำหมู่บ้าน เยาวชน และสตรีในชนบท ให้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาความเป็นอยู่และสร้างรายได้
4. การส่งเสริมการศึกษาด้านการพัฒนาชนบท รวมถึงการส่งเสริมระบบอาสาสมัคร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากตัวอย่างความสำเร็จ บนพื้นฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของคนพื้นเมือง/คนท้อง ถิ่น
ภัสสร ภัทรเภตรา
กันยายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
“ASEAN Framework Action Plan on Rural Development and Poverty Eradication (2011-2015)”
(http://asean.org/?static_post=asean-framework-action-plan-on-rural-development-and- poverty-eradication-2011-2015)