จังหวัดน่าน มีที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของไทย และมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาว รวมระยะทางประมาณ 277 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ โดยมีเทือกเขาผีปันน้ำ เทือกเขาหลวงพระบางทอดตัวยาวและพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่ลุ่มแม่น้ำระหว่างหุบเขา โดยแม่น้ำสายสำคัญคือ แม่น้ำน่าน จังหวัดน่านมีประชากรประมาณ 478,000 คน และมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย รวม 11 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ไทยวน ไทลื้อ ลัว ขมุ ม้ง (แม้ว) เมี่ยน (เย้า) มลาบลี (ตองเหลือง) ลาหู่ ไทยเขิน ไทพวน เฮาะ
ด้านเศรษฐกิจ จังหวัดน่านพึ่งพาการเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยพืชเศรษฐกิจสำคัญ คือ ข้าวเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งไม้ผล เช่น ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ มะม่วง ส้ม พืชผัก เช่น พริกใหญ่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ชา ยาสูบ นอกจากนี้ ยังมีการขยายตัวของพื้นที่ปลูกยางพาราอย่างต่อเนื่องในแต่ละปีอีกทั้งประชาชนบางส่วนก็พึ่งพาภาคอุตสาหกรรม หัตกรรม เช่น อุตสาหกรรมไม้แปรรูป เครื่องเงิน เครื่องหวาย ผ้าพื้นเมือง ฯลฯ
ปัจจุบัน จังหวัดน่านกำลังมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเสาหลักด้านประชาคมเศรษฐกิจ และเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรมในประชาคมอาเซียน โดยในแผนพัฒนาจังหวัดน่าน ได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดในการเป็น “เมืองแห่งความสุข ธรรมชาติสมบูรณ์ แหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย พร้อมมุ่งสู่ประชาคมอาเซียน” ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งประกอบด้วย เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ที่มุ่งเน้นการเป็น “ประตูสู่การค้าสากล โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนา สินค้าเกษตรปลอดภัย ประชาชนร่วมใจอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ”
ด้านความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านจังหวัดน่าน เป็นที่ตั้งของจุดผ่านแดนสากล จำนวน 1 จุด คือ ด่านบ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับด่านท้องถิ่นบ้านน้ำเงิน แขวงไชยบุลี ของประเทศลาว นอกจากนี้ ยังมีจุดผ่อนปรน 2 จุด คือ ที่บ้านห้วยสะแตง อำเภอทุ่งช้าง และบ้านใหม่ชายแดน อำเภอสองแคว และมีหมู่บ้านชายแดนรวม 50 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 7 อำเภอ ในแง่หนึ่งก็มีการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้า พิจารณาจาก มูลค่าการค้าชายแดนผ่านด่านศุลกากรทุ่งช้างในแต่ละปี โดยมีสินค้าขาออกที่สำคัญ เช่น ไม้แปรรูป ลูกเดือย ลูกต๋าว ดอกหญ้าทำไม้กวาด ผ้าฝ้ายทอ และเศษเหล็ก รวมทั้งเกิดความสัมพันธ์ภาคประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็มีปัญหายาเสพติดที่ลักลอบลำเลียงเข้ามาผ่านช่องทางธรรมชาติ เพื่อหลบหลีกจุดตรวจยาเสพติดแบบบูรณาการซึ่งมีอยู่จำนวน 4 จุด ซึ่งจังหวัดน่านก็ได้วางกลยุทธ์ในการรักษาความมั่นคงโดยเน้นการมีส่วนร่วมของหมู่บ้านในพื้นที่ชายแดน
ในระดับภูมิภาคอาเซียน จังหวัดน่านกำลังอยู่บนเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน ลงมาสู่ประเทศไทย ลาวและเวียดนามผ่านโครงการก่อสร้างถนนสายหงสา-เชียงแมน ความยาวกว่า 144 กิโลเมตรมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2018 อันจะช่วยให้การเดินทางจากด่านชายแดนห้วยโก๋น จังหวัดน่าน ไปยังเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง และสะดวกในการเดินทางต่อเนื่องไปสู่เมืองเดียน เบียน ฟู ของเวียดนาม ซึ่งจากเดิมนั้น การเดินทางจากภาคเหนือของไทยไปยังเมืองหลวงพระบางต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง และโดยมากใช้การล่องเรือตามแม่น้ำโขงจากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ดังนั้น การก่อสร้างถนนสายดังกล่าวจึงมีส่วนช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงของภูมิภาคอาเซียนได้เป็นอย่างมาก ทั้งด้านการเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยว
สำหรับด้านการท่องเที่ยวในประชาคมอาเซียน ถือเป็นบทบาทใหม่อันสำคัญของจังหวัดน่าน แต่เดิมนั้นจังหวัดน่านไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากนัก แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จังหวัดน่านได้เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ในฐานะเป็นเมืองศิลปะภาคเหนือ (Art City in Northern Thailand)มีจุดดึงดูดคือ วัดโบราณสถานเก่าแก่เช่น วัดภูมินทร์ วัดพระธาตุแช่แห้ง วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ซึ่งมีจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพจิตรกรรมโดยศิลปินไทยลื้อท่าสะท้อนถึงวิถีชีวิตคนเมืองน่านซึ่งภาพ “กระซิบ” บนฝาผนังวัดภูมินทร์ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวระดับนานาชาติของจังหวัดน่าน ตลอดจนความเป็นเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ ธรรมชาติบริสุทธิ์ เหมาะแก่การพักผ่อน มีการเปิดหอศิลปะพื้นบ้าน การจัดแสดงนิทรรศการการแสดงดนตรีพื้นบ้าน เป็นประจำที่พื้นทิ่ริมแม่น้ำน่าน โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ให้ฉายาเมืองน่านว่าเป็นเสมือนอัญมณีที่ถูกซ่อนไว้ (Hidden jewel of Thailand) นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น บ่อเกลือโบราณ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นต้นนอกจากนี้ จังหวัดน่านยังได้ผลักดันผลิตภัณฑ์เครื่องเงินซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงให้มีมาตรฐานระดับส่งออก เพื่อป้อนสู่ตลาดอาเซียนซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวด้วย
ที่สำคัญยิ่งคือ ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดน่านยังตั้งอยู่บนความเชื่อมโยงระหว่างเส้นทางการท่องเที่ยวจากตอนใต้ของจีน มายังภาคเหนือของไทย และเมืองหลวงพระบางของลาว ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลกที่มีชื่อเสียงในด้านสถานที่ทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม และมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปเยี่ยมชมจำนวนมากใน แต่ละปี ดังนั้น การพัฒนาจังหวัดน่านให้เป็นเมืองท่องเที่ยวในประชาคมอาเซียน จึงมีจุดแข็งในแง่ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางต่อเนื่องเพื่อสัมผัสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่านถนนสายหงสา-เชียงแมน ได้
ภัสสร ภัทรเภตรา
สิงหาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
แผนพัฒนาจังหวัดน่าน พ.ศ.2557-พ.ศ.2560 ฉบับทบทวนใหม่ (รอบปี พ.ศ.2560)
“New road to link China & Thailand via Nan & Luang Prabang” (http://www.bangkokpost.com/learning/advanced/1015194/new-road-to-link-china-thailand-via-nan-luang-prabang)
“Nan Positioned as an Art City in Northern Thailand”
(http://asean.travel/2016/05/29/nan-positioned-as-an-art-city/)