แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาร จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำเกษตรกรรม โดยมีกลุ่มชาวไทยพวนอาศัยอยู่ในปัจจุบัน แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ถูกค้นพบโดย Steve Young นักศึกษามานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เมื่อปี ค.ศ.1966 จากนั้นก็มีนักโบราณคดีและหน่วยงานต่างๆ เข้าไป ขุดสำรวจอย่างต่อเนื่อง จากหลักฐานที่ค้นพบและการคำนวณอายุวัตถุด้วยวิธีทางรังสี แสดงให้เห็นว่าบ้านเชียงโบราณมีอายุยาวนานกว่า 4,000 ปี อดีตกลุ่มชนที่อาศัยในบริเวณนี้รู้จักวิธีผลิตเครื่องปั้นดินเผา การทำลายขูดขีด
ลายทาบเชือก และการขัดมัน จากงานศึกษาของนักวิชาการ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้วิเคราะห์ว่าเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงมักมีพื้นเป็นสีนวลดิน และเขียนลายด้วยสีแดงธรรมชาติ บ้างก็เป็นลวดลายที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะรูปสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำและการเกษตรกรรม เช่น แย้ ตะกวด ปลา ควาย และลายที่พบมากคือลายเส้นสีแดงวนขนานกันคล้ายก้นหอยซึ่งแต่ละใบจะไม่ซ้ำกัน ลายดังกล่าวอาจเป็นนามธรรมแทนธรรมชาติรอบตัว หรืออาจเป็นการเลียนแบบอัตลักษณ์ลายนิ้วมือของมนุษย์ จากการที่พบเครื่องปั้นเหล่านี้ในหลุมฝังศพ สามารถสันนิษฐานได้ว่าเครื่องปั้นดังกล่าวถูกผลิตขึ้นเพื่อแสดงสถานภาพของผู้ตายตามพิธีกรรมความเชื่อ เครื่องปั้นบ้านเชียงถือได้ว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการขุดพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นอกจากนี้ยังขุดพบหอก ขวาน มีด ลูกกลิ้งดินเผา เบ้าดินเผา รูปปั้นดินเผา ลูกปัดทำจากหินสี กำไล
แหวนสำริด หินขัด เศษผ้าที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาการทอผ้า และเครื่องการเกษตรที่มีเศษแกลบข้าวติดอยู่โดยสามารถแบ่งลำดับขั้นความก้าวหน้าของชุมชนบ้านเชียงโบราณได้เป็น 6 สมัย วัฒนธรรมสมัยที่ 1 มีการถางป่า เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ มีพัฒนาการเรื่อยมาจนสมัยที่ 4 เริ่มรู้จักใช้เครื่องมือเหล็กในการเลี้ยงควายเพื่อช่วยทำนา สมัยที่ 5 เริ่มมีการทำเครื่องปั้นดินเผาเขียนลาย จนถึงสมัยที่ 6 เริ่มมีเครื่องปั้นดินเผาที่เน้นสีแดง มีการทำเครื่องประดับซึ่งมีส่วนผสมของโลหะที่มีความวาวมากขึ้น พบแม่พิมพ์เบ้าหลอม และมีการใช้เครื่องมือเหล็กเพื่อการเกษตร เครื่องมือสำริดจำนวนมาก อาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมยุคสำริดของบ้านเชียงโบราณและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเริ่มต้นขึ้นก่อนพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาคใกล้เคียง ที่ยังคงใช้หิน กระดูกสัตว์ และเปลือกหอยเป็นเครื่องประดับอยู่ ณ ห้วงเวลาเดียวกัน
ด้วยเหตุผลข้างต้น ในปี พ.ศ.2535 คณะกรรมการมรดกโลกองค์การ UNESCO ได้ประกาศให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ด้วยคุณสมบัติสำคัญคือ เป็นศูนย์กลางปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยียุคแรกของมนุษย์ ซึ่งกำเนิดขึ้นและเติบโตอย่างอิสระ ก่อนที่จะแพร่กระจายวัฒนธรรมออกไปยังภูมิภาคโดยรอบ
ในปี ค.ศ.2008 นิวยอร์ค ไทม์ ได้รายงานว่าวัตถุโบราณถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งของอเมริกา ซึ่งเป็นผลมาจากการลับลอบขโมยออกไปจากประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหม้อปั้นเขียนลายสีแดงที่เป็นที่ติดตาของคนในวงกว้างและเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของบ้านเชียง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาโดยการส่งเสริมให้ชุมชนหมู่บ้านโดยรอบผลิตเครื่องปั้นดินเผา หม้อ ไห จำลองลายบ้านเชียงขึ้นเพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว โดยกลุ่ม OTOP ที่มีชื่อเสียงคือ กลุ่มบ้านคำอ้อ (แหล่งปั้น) บ้านปูลู (แหล่งเขียนลาย) และบ้านเชียง (แหล่งจำหน่าย)
ในด้านการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงนั้น อยู่ภายใต้การดำเนินงานของกรมศิลปากร มีการส่งเสริมการวิจัย และการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับสาธารณชนผ่านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ณ วัดโพธิ์ศรีในซึ่งจัดแสดงหลุมโบราณคดี และประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีจะมีการจัดงานมรดกโลกบ้านเชียง เพื่อเผยส่งเสริมการเรียนรู้อดีตของบ้านเชียง และวิถีชีวิตชาวไทยพวนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านเชียงในปัจจุบัน นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายในการกระจายอำนาจการบริหารจัดการลงสู่ระดับท้องถิ่น มหาวิทยาลัย NGOs ตลอดจนการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำหรับความสำคัญต่อภูมิภาคอาเซียน อาจกล่าวได้ว่าหลักฐานที่ค้นพบที่บ้านเชียง ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจในการตั้งถิ่นฐานอารยธรรมของชุมชนเกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ การผลิตเครื่องปั้นดินเผา การใช้สำริดและ โลหะกรรมต่างๆ ในยุคเริ่มต้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนมีการกล่าวขานว่าบ้านเชียงเป็น “แหล่งวัฒนธรรมการผลิตโลหะแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก” รวมทั้งเห็นถึงรูปแบบสังคมและพิธีกรรมที่เริ่มมีความซับซ้อนในยุคแรกๆ ของบริเวณนี้ภูมิภาคนี้ด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิวัฒนาการการทำนาข้าวในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ ถือเป็นแบบแผนวิถีชีวิตร่วมกันของทั้งภูมิภาค ที่แม้ว่ากลุ่มชนจะมีการอพยพออกจากพื้นที่ดังกล่าวไปนับพันปีเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ แต่ภายหลังก็มีกลุ่มคนกลับเข้ามาอาศัยทำการเกษตร ทำนาในรูปแบบเดิมอีกครั้งสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ทำให้การศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่บ้านเชียง มุ่งเน้นการหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมชุมชนเกษตรกรรมโบราณกับวัฒนธรรมเอเชียวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน
ภัสสร ภัทรเภตรา
สิงหาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
“Ban Chiang Archaeological Site” (http://whc.unesco.org/en/list/575)
“Ban Chiang: Thailand’s most underrated UNESCO World Heritage Site” (http://travel.cnn.com/bangkok/visit/discovering-isaan/ban-chiang-thailands-most-underrated-unesco-world-heritage-site/)
“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง” (http://www.udonthani.com/banchiang.htm)