เสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง (ASEAN Political-Security Community) เป็น 1 ใน 3 เสาหลักในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน โดยจาก APSC Blueprint ได้กำหนดคุณลักษณะหรือหลักการสำคัญ ประกอบด้วย
- ความเป็นชุมชนระดับภูมิภาคที่อยู่บนพื้นฐานกฎหมาย ระเบียบ มีการแบ่งปันบรรทัดฐานและค่านิยมร่วมกัน (A Rules-based Community of Shared Values and Norms)
- การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน (Promotion and Protection of Human rights) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์ของอาเซียน หรือ ASEAN Convention on Trafficking in Persons (ACTIP) ซึ่งเน้นการคุ้มครองเด็ก และสตรี และการปฏิบัติตามปฏิญญาสิทธิมนุษยชนสากล หรือปฏิญญาเวียนนา
- การป้องกันและต่อต้านการคอรัปชั่น (Prevent and Combat Corruption) โดยการให้ประเทศสมาชิกลงนามใน MOU หรือบันทึกความเข้าใจในการแก้ปัญหาร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบอย่างความสำเร็จ มุมมอง ค่านิยม จริยธรรม ผ่านเวทีสัมมนาต่างๆ
- การส่งเสริมหลักการประชาธิปไตย (Promote Principles of Democracy) โดยเริ่มต้นจากในระบบการศึกษา มุ่งเน้นที่เยาวชน สนับสนุนการจัดกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐและภาคประชาสังคมในหลักการประชาธิปไตย
- การส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค (Promote Peace and Stability in the Region)โดยการปลูกจิตสำนักให้รัฐและประชาชนเคารพในความหลากหลาย มีความอดกลั้นต่อความแตกต่าง และเข้าใจในความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรมของกันและกัน รวมไปถึงผลักดันให้มีการเจรจาแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์และศาสนา และที่สำคัญคือ การบรรเทาปัญหาความยากจน และการลดช่องว่างการพัฒนา อันจะนำมาซึ่งสันติภาพอันยั่งยืน
- การสร้างบรรทัดฐานร่วมกัน เช่น สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia หรือ TAC) ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on Conduct of Parties หรือ DOC) สนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone (SEANWFZ)
- การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล (Promote ASEAN Maritime Cooperation) โดยร่วมมือกันในด้านความปลอดภัย การแบ่งปันเทคโนโลยีในการค้นหาและกู้ชีพทางทะเล
2.ความเป็นภูมิภาคที่กลมเกลียว มีสันติภาพ และมีความรับผิดชอบร่วมกันในการรักษาความมั่นคง (A Cohesive, Peaceful and Resilient Region with Shared Responsibility for Comprehensive Security)
- การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การส่งเสริมการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งหรือภาคีต่างๆ การสร้างความเคารพด้านดินแดน และอธิปไตยของประเทศสมาชิก โดยประชาคมอาเซียนถือหลักการสำคัญในการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก
- การดำเนินการสร้างสันติภาพภายหลังการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง (Post-conflict and Peacebuilding) ผ่านการดำเนินงานด้านมนุษยธรรม และการศึกษาอบรมด้านสันติภาพและการพัฒนา
- การรับมือภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Security Issue) เช่น ปัญหายาเสพติดซึ่งในวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (ASEAN VISION 2020) ผู้นำชาติอาเซียนก็ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาค “ปลอดยาเสพติด” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยปลอดทั้งยาเสพติดผิดกฎหมาย ปลอดการผลิต ปลอดการลำเลียงการค้า และปลอดการเสพ และในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยได้ตั้งหน่วยงาน ปปส.อาเซียน หรือ ASEAN NARCO เพื่อเป็นศูนย์กลางบูรณาการนโยบายปราบปรามยาเสพติดร่วมกับสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระดับภูมิภาคในด้านอื่นๆ เช่น ด้านการปราบปรามการโจรกรรมทางทะเล การลักลอบขนอาวุธ สินค้าผิดกฎหมาย
- การต่อต้านการก่อการร้าย (Counter-Terrorism) อนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย(ASEAN Convention on Counter-Terrorism หรือ ACCT)
- การจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติและการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน (Disaster Managementand Emergency Response) โดยประสานความร่วมมือระหว่างภาคการทหารและประชาสังคมในการป้องกันบรรเทาภัยพิบัติ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาทุกข์
3. ความเป็นภูมิภาคแห่งพลวัตและมุ่งสู่ภายนอก ภายใต้สังคมโลกแห่งการบูรณาการและการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (A Dynamic and Outward-looking Region in An Increasingly Integrated and Interdependent World) อันหมายถึงการรักษาความสัมพันธ์อันเป็นมิตรกับภูมิภาคอื่นๆ เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนของประชาคมอาเซียนจะได้อยู่อย่างมีสันติสุขในบริบทโลกที่เป็นประชาธิปไตยและกลมเกลียวกัน
ภัสสร ภัทรเภตรา
กันยายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
“APSC Blueprint” (http://asean.org/asean-political-security-community)