จังหวัดมุกดาหาร มีที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีอาณาเขตติดต่อกับ เมืองไกสอนพมวิหาร เมืองไชยบุรี เมืองชัยพูทอง ของแขวงสะหวันเขต ประเทศ สปป.ลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน ความยาวประมาณ 72 กิโลเมตร มุกดาหารมีประชากรประมาณ 346,000 คน โดยประกอบด้วยชนเผ่าพื้นเมือง 8 เผ่า คือ ผู้ไท ไทยย้อ ไทยข่า ไทยโซ่ ไทยกระเลิง ไทยแสก ไทยกุลา และไทยอีสาน ในทางเศรษฐกิจประชาชนพึ่งพา ภาคเกษตรกรรม โดยพืชเศรษฐกิจสำคัญ คือ ข้าว รองลงมาคือ มันสำปะหลัง ยางพารา และอ้อยโรงงาน ตามลำดับ
ด้านความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและบทบาทในประชาคมอาเซียนนั้น จังหวัดมุกดาหารได้กำหนดวิสัยทัศน์ตามแผนพัฒนาจังหวัดในการเป็น “เมืองการค้า การเกษตร การท่องเที่ยวชายโขง เชื่อมโยงอาเซียน” ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (มุกดาหาร สกลนคร นครพนม) ที่มุ่งเป็น “สังคมเข้มแข็ง เกษตรกรรมนำการพัฒนา เส้นทางการค้าการท่องเที่ยว สู่ประเทศเพื่อนบ้านและจีนตอนใต้” จังหวัดมุกดาหารเป็นที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 โดยเชื่อมจังหวัดมุกดาหารกับแขวง สะหวันเขต มีฐานะเป็นจุดผ่านแดนถาวร เช่นเดียวกับท่าข้ามเรือเทศบาลเมืองมุกดาหาร กับเมืองไกสอนพมวิหาร นอกจากนี้ ยังมีด่านประเพณีและตลาดในหมู่บ้านชายแดน 8 แห่ง ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอหว้านใหญ่ อำเภอดอนตาล และมีท่าเรือหมู่บ้านซึ่งสัญจรข้ามแดนอีก 24 แห่ง ใน 3 อำเภอข้างต้น ในส่วนมูลค่าการค้าชายแดนจังหวัดมุกดาหาร สินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุด คือ ทองแดง หน่วยประมวลผลฮาร์ดดิสก์ น้ำมันเชื้อเพลิง และผลไม้สด
ด้านที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค/อนุภูมิภาค ทั้งมุกดาหารและสะหวันเขต ตั้งอยู่บนเส้นทาง East West Economic Corridor (EWEC) หรือ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือถนนสาย R-2 (ชื่อเรียกตามระบบทางสายหลักอาเซียน) ความยาว 1,450 กิโลเมตร จากชายฝั่งทะเลอันดามัน (ท่าเรือเมืองเมาะลำไย ของพม่า) ผ่านไทย ลาว เวียดนาม ไปสู่ทะเลจีนใต้ (ท่าเรือดานัง ของเวียดนาม) โดยโครงการนี้เป็นนโยบายของ The Asian Development Bank (ADB)หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1992 โดย ADB ได้มีการระบุหน้าที่ของเมืองสำคัญต่างๆ บนเส้นทาง EWEC ซึ่งจังหวัดมุกดาหารและสะหวันเขตได้รับความคาดหวังให้เป็น “เมืองแห่งการผลิตสินค้าพื้นฐาน เพิ่มมูลค่าสินค้า และเป็นเมืองแห่งการเปิดกว้างสำหรับการเข้าถึงสินค้าทั้งระดับชาติและนานาชาติ”
นอกจากนี้ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS ระหว่างกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม ยังประกาศให้มุกดาหารและสะหวันเขต เป็นเมืองแฝด (twin cities) ด้วย จุดแข็งดังกล่าว ทำให้มุกดาหารเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ควบคู่กับเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันเซโน (Savan Seno) ของแขวงสะหวันเขต ที่มีการลดอัตราภาษีบางประเภท เช่น ภาษีส่งออก และภาษีนำเข้าวัตถุดิบ รวมทั้งได้สิทธิต่อเนื่องในการเช่าที่ดิน สำหรับนักลงทุน โดยทางฝั่งไทยสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เพื่อการผลิตและส่งออกสินค้าชายแดนนอกจากนี้ จากมุกดาหารยังสามารถเดินทางผ่านสกลนคร เข้าสู่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้โดยสะดวกทำให้มุกดาหารมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สำหรับการท่องเที่ยวในประชาคมอาเซียนนั้น มุกดาหารอยู่บนเส้นทางความเชื่อมโยงไปยังแขวงสะหวันเขต และเวียดนาม ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมากในแต่ละปีโดยแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของมุกดาหารมีอยู่หลายแห่ง เช่น หอแก้วมุกดาหาร ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดชมทิวทัศน์เมืองมุกดาหาร แม่น้ำโขง และมองเห็นไกลถึงแขวงสะหวันเขต ทั้งยังเป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุและจัดแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตชาวบ้านแก่งกระเบา ซึ่งเป็นแก่งหินยาวตามลำน้ำโขง เป็นจุดพักผ่อนหย่อนใจและรับประทานอาหาร ภูมิมโนรมย์สำหรับชมทิวทัศน์แม่น้ำโขง อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว ซึ่งนอกจากจะมีธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังมีภาพฝ่ามือยุคก่อนประวัติศาสตร์ อีกทั้งจังหวัดมุกดาหารยังมีการค้นพบกลองมโหระทึกที่ทำจากสำริด อันเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมร่วมกันของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
เช่นเดียวกับฝั่งแขวงสะหวันเขต ที่มีจุดท่องเที่ยวที่เป็นที่ดึงดูด เช่น ตลาดสิงคโปร์ ซึ่งประเทศสิงคโปร์สนับสนุนงบประมาณการก่อสร้าง พระธาตุอิงฮัง ซึ่งบรรจุพระบรมสาริริกธาตุส่วนสันหลังของพระพุทธเจ้า มีโบสถ์เซนต์เทรเรซ่าตามแบบศิลปะฝรั่งเศส เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนที่นับถือศาสนาคริสต์ มีถนนสีเมือง ซึ่งมีอาคารบ้านเรือน ร้านค้าซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยยุคอาณานิคมและยังได้รับการอนุรักษ์ไว้ โดยปัจจุบันมีธุรกิจการจัดบริการนำเที่ยวมุกดาหาร-สะหวันเขต ในรูปแบบการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน กลายเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในหมู่ผู้สนใจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ภัสสร ภัทรเภตรา
สิงหาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
แผนพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร (พ.ศ.2557-2560) ฉบับทบทวน (รอบปี 2560)
Nathalie Fau, Sirivanh Khonthapane, Christian Taillard. “Transnational Dynamics in Southeast Asia:
The Greater Mekong Subregion and Malacca Straits Economic Corridors”.