การสร้างความตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันต่อปัญหาการเสพยาเสพติด และการขนส่งลำเลียงยาเสพติดภายในภูมิภาคได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่มีการกำเนิดของสมาคมอาเซียน ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกเพียง 5 ประเทศ และจากปฏิญญาอาเซียน หรือปฏิญญาบาหลี (ASEAN Concord) เมื่อปี 1976 ผู้นำรัฐบาลต่างๆ ได้ร่วมกันเสนอให้มีเพิ่มระดับความเข้มข้นของความร่วมมือ และจัดตั้งกลไกองค์กรระดับภูมิภาคเพื่อการป้องกันปัญหายาเสพติด
โดยในปี 1976 นั้นเอง ก็ได้มีการจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านยาเสพติดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเป็นการตอบรับต่อปฏิญญาดังกล่าว โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1) การบังคับใช้และการปรับปรุงด้านกฎหมาย 2) การฟื้นฟูบำบัดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพยาเสพติด 3) การป้องกันปัญหา และข้อมูลข่าวสารด้านยาเสพติด 4) การจัดอบรมและศึกษาวิจัย และต่อมาในการประการวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (ASEAN VISION 2020) ผู้นำชาติอาเซียนก็ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาค “ปลอดยาเสพติด” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยปลอดทั้งยาเสพติดผิดกฎหมาย ปลอดการผลิต ปลอดการลำเลียงการค้า และปลอดการเสพ
กลไกสำคัญที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าวคือ คณะเจ้าหน้าที่ผู้อาวุโสด้านยาเสพติดอาเซียน(ASOD) โครงการสำคัญของประชาคมอาเซียนเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งอยู่ในการดำเนินงานของ ASOD มีหลากหลายโครงการ เช่น
การฝึกอบรมสร้างทักษะบุคลากรด้านการให้คำปรึกษา (Counselling)
การส่งเสริมกิจกรรมป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเยาวชนนอกสถานศึกษา (Out-of-School Youth)
การส่งเสริมกิจกรรมควบคุมยาเสพติดในสถานที่ทำงาน สถานประกอบการ
การสร้างศักยภาพชุมชนในการการป้องกันยาเสพติด (Community-Based)
การอบรมสัมมนาด้านการบำบัดผู้เสพยาเสพติดและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพยาเสพติด (Treatment and Rehabilitation)
การฝึกอบรมด้านการตรวจสอบทางการเงิน ในกระบวนการยาเสพติด (Financial Investigation)
การฝึกอบรมด้านการข่าวยาเสพติด
การสัมมนาเพื่อการบูรณาการกฎหมายของกลุ่มประเทศสมาชิก ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าหลายๆ โครงการข้างต้น มุ่งเน้นที่การป้องกันปัญหาในระดับเยาวชน ภายใต้ความเชื่อว่าการป้องกันยาเสพติดที่ดีที่สุด ควรต้องเริ่มที่ตัวเยาวชนเอง โดยการสร้างความรู้ ทักษะการตัดสินใจ และค่านิยมในการถอยห่างจากยาเสพติด
แผนการดำเนินงานของอาเซียนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระหว่างภูมิภาค รวมทั้งให้ความสำคัญกับบทบาทขององค์กรภาคเอกชน (NGOs) ด้วยโดยในระดับความร่วมมือระหว่างภูมิภาค เลขาธิการอาเซียนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับหน่วยงานด้านการควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรมขององค์การสหประชาชาติ (UN-ODC) เพื่อกระชับความร่วมมือในระดับที่กว้างออกไป
สำหรับสถานการณ์ยาเสพติดของไทยและประเทศเพื่อนบ้านอินโดจีนนั้น ถือเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่การลักลอบปลูกฝิ่นและผลิตเฮโรอีนในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นจุดพรมแดนร่วมกันของไทย พม่า และลาว นอกจากนี้ ยังมีการลักลอบขนส่งลำเลียงยาเสพติดผ่านช่องข้ามแดนตามธรรมชาติบริเวณแนวชายแดน ทำให้หลายๆ ประเทศกลายเป็นจุดพักยาเสพติด ก่อนส่งต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆ เช่น ทวีปยุโรป หรือทวีปอเมริกา อีกทั้งยังมีการลักลอบปลูกกัญชา ในไทย ลาว ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
เพื่อเป็นการป้องกันปัญหายาเสพติดข้ามชาติ และในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยได้ตั้งหน่วยงาน ปปส.อาเซียน หรือ ASEAN NARCO เพื่อเป็นศูนย์กลางบูรณาการนโยบายปราบปรามยาเสพติดร่วมกับสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ 4 ประการ คือ
ยุทธศาสตร์การสร้างความร่วมมือด้านการปราบปราม ประกอบด้วยความร่วมมือด้านการข่าวการปราบปรามกลุ่มผู้ผลิตในเขตประเทศพม่า การสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดตามแนวชายแดน ท่าอากาศยาน และการติดตามยึดทรัพย์สินของขบวนการค้ายาเสพติด
ยุทธศาสตร์การลดพื้นที่ปลูกยาเสพติด ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกให้แก่ประชาชนบนพื้นที่สูงตามแนวพระราชดำริ เพื่อลดพื้นที่การปลูกพืชที่เป็นสารเสพติด
ยุทธศาสตร์การลดการระบาดในกลุ่มเป้าหมาย การตัดวงจรผู้เสพรายใหม่ การป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในกลุ่มเยาวชนอาเซียน ตลอดจนการสร้างมาตรฐานระดับภูมิภาคในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
ยุทธศาสตร์การวิจัย วิชาการ นิติวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการบูรณาการด้านกฎหมายยาเสพติดของกลุ่มประเทศสมาชิก
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็คือ สถานการณ์ความร่วมมือของประชาคมอาเซียนต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหา ยาเสพติด และบทบาทของไทยในการร่วมขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว
ภัสสร ภัทรเภตรา
กันยายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
“COOPERATION ON DRUGS AND NARCOTICS OVERVIEW”