จังหวัดระนอง มีที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้มีฝนตกชุกเกือบตลอดปี สภาพทางเศรษฐกิจทั่วไปของจังหวัดระนองพึ่งพาการประมงและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการประมง เช่น อุตสาหกรรมผลิตน้ำแข็ง อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง อุตสาหกรรมปลาป่น ฯลฯ ทั้งนี้ เนื่องจากระนองมีอาณาเขตติดต่อกับทะเลอันดามันและประเทศพม่าซึ่งมีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ภาคเศรษฐกิจที่สร้างรายได้รองลงมาคือ การทำสวนผลไม้ โดยไม้ผลสำคัญ ได้แก่ กาแฟ ยางพารา มะม่วงหิมพานต์ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กาแฟ ในขณะที่การทำนาข้าวมีสัดส่วนลดลง เพราะเกษตรกรหันไปปลูกไม้ผลซึ่งให้รายได้ดีกว่า ในด้านขนาดประชากร ระนองเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประชากรเบาบางที่สุดของไทย (ประมาณ 180,000 คน)
ปัจจุบัน ระนองกำลังมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเสาหลักด้านประชาคมเศรษฐกิจในประชาคมอาเซียนโดยในแผนพัฒนาจังหวัดระนอง ได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดในการ “เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศฝั่งอันดามัน ที่ดำรงไว้ซึ่งการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่” ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันที่มุ่งเน้นการเป็นพื้นที่ “การท่องเที่ยวทางบกและทางทะเลที่มีคุณภาพระดับโลกบนฐานความเข้มแข็งภาคเกษตรและชุมชนอย่างยั่งยืน”
ด้านความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านจังหวัดระนองเป็นที่ตั้งของจุดผ่านแดนไทย-พม่า แห่งที่ 4 ณ บริเวณท่าเรือศุลกากรระนอง บ้านเขานางหงส์ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนองรวมทั้งมีการตั้งตลาดการค้าชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดระนอง-เกาะสอง ในบริเวณท่าเรือดังกล่าว ซึ่งเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ทั้งระดับรัฐบาล ภาคธุรกิจ และประชาชนในการเดินทางเข้าออก ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ผลผลิตต่างๆ ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
เมื่อมองในระดับภูมิภาคอาเซียนจากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งอยู่ริมฝั่งอันดามันตอนบน หลายภาคส่วนจึงประสานความร่วมมือพัฒนาท่าเรือนี้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางทะเลของประเทศแถบอันดามันและเอเชียใต้ได้โดยไม่ต้องอ้อมแหลมมลายู ถือเป็นการย่นระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่งสินค้าได้เป็นอย่างมาก เป็นประตูการค้าระหว่างไทย อาเซียน และกลุ่มประเทศ BIMSTEC (ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 7 ประเทศ คือ บังคลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย เนปาล และภูฏานโดยไทยเป็นประเทศนำในสาขาสาธารณสุข การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน รวมทั้งสาขาการประมง ซึ่งการพัฒนาท่าเรือดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี และความร่วมมือด้านอื่นๆ ต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออินเดียกำลังกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ของโลก
นอกจากนี้ จังหวัดระนองยังได้ร่วมมือกับจังหวัดเกาะสอง ของพม่า ในการพัฒนาสนามบินเกาะสองขึ้น สนามบินดังกล่าวกำลังมีความสำคัญในการเชื่อมโยงระนองและกลุ่มจังหวัดอันดันมันตอนบน เข้ากับพื้นที่ตอนใต้ของพม่า คือมะริด และทวาย อันจะช่วยรองรับการค้าระหว่างไทย-พม่า-กลุ่มประเทศเอเชียใต้การลงทุน รวมไปถึงการเดินทางของนักท่องเที่ยวสู่จังหวัดระนองและชายฝั่งอันดามันของไทยได้
สำหรับบทบาทด้านการท่องเที่ยวในประชาคมอาเซียนนั้น กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดภูเก็ต นั้น ถือเป็นมรกตเมืองใต้ เป็นแหล่งดำน้ำที่มีคุณภาพระดับโลก และมีแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น เกาะตะปู (เกาะเจมส์บอนด์) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หาดป่าตอง ภูเก็ตแฟนตาซี หมู่เกาะพีพี อ่าวมายา ทะเลแหวก และในส่วนของจังหวัดระนองเอง ก็มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว อุทยานแห่งชาติเขาแหลมสน เกาะพยาม และที่สำคัญคือมีบ่อน้ำแร่ธรรมชาติ มีซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้ระนองเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ ในประชาคมอาเซียน
ในอีกมุมหนึ่ง ภายใต้กระแสข้ามแดน ก็ทำให้เกิดการก่อตัวของธุรกิจบ่อนการพนันกาสิโน แถบแนวชายแดนด้านจังหวัดระนอง–เกาะสอง ซึ่งตามสถิติการขออนุญาตผ่านแดนพบว่านักท่องเที่ยวและนักแสวงโชค ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้เดินทางไปใช้บริการบ่อนการพนันที่เกาะสน และเกาะคู่ เป็นจำนวนมากในแต่ละปี ผู้คนบางส่วนเห็นว่าทำให้เกิดการหมุนเวียนรายได้ภายในจังหวัด แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนอีกส่วนหนึ่งก็มีความเห็นว่าบ่อนกาสิโนนำมาซึ่งปัญหาอาชญากรรม ปัญหาหนี้สิน ปัญหาสังคมในพื้นที่ อีกทั้งนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการก็ออกมา ใช้จ่ายในภาคเศรษฐกิจ/สินค้า/บริการโดยรวมของจังหวัดน้อยมาก ซึ่งประเด็นนี้ก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงที่ประเทศที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือเพื่อหาแนวทางการพัฒนาและป้องกันปัญหาร่วมกันต่อไป
ภัสสร ภัทรเภตรา
สิงหาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
แผนพัฒนาจังหวัดระนอง พ.ศ.2557-พ.ศ.2560
“Ranong Province Prepares to Become an Export Center in the Andaman Sea” (http://thailand.prd.go.th/ewt_news.php?nid=1288&filename=index)
“ดันระนอง ประตูเชื่อม เมียนมา” (http://www.posttoday.com/biz/aec/news/421007)