มัณฑะเลย์หนึ่งในเมืองประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญของพม่า สมควรที่จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยก็ว่าได้ เนื่องจากมัณฑะเลย์เป็นราชธานีแห่งสุดท้ายที่ปรากฏเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันโหดร้ายของชนชั้นปกครอง อันส่งผลให้เข้าสู่ยุคอวสานการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งราชวงศ์คองบอง ก่อนจะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม ปัจจุบันมัณฑะเลย์นับได้ว่า เป็นเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจเป็นอันดับที่สามของพม่ารองจากย่างกุ้งและเนปยีดอว์
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองมัณฑะเลย์แห่งนี้ เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้ามินดงแห่งเมืองอมรปุระได้สร้างราชธานีใหม่ขึ้น ที่ตั้งระหว่างภูเขามัณฑะเลย์กับแม่น้ำอิระวดี เนื่องจากมีความเชื่อว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับอยู่ที่ด้านหลังพร้อมกับทรงตรัสว่า “เมืองนี้ในอนาคตจะเจริญรุ่งเรืองเป็นแหล่งเผยแผ่ศาสนาพุทธที่สำคัญยิ่งในด้านตะวันออก” สำหรับในด้านยุทธศาสตร์นั้น มัณฑะเลย์มีลักษณะทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม และอยู่ไกลจากแม่น้ำมากกว่าเมืองอมรปุระ ทำให้เป็นชัยภูมิที่สำคัญเหมาะแก่การหนีเรือกลไฟของกองทัพอังกฤษที่จะรุกประชิดเข้ามาได้ด้วยเหตุนี้ ทำให้พระเจ้ามินดงที่มีศรัทธาแรงกล้าในพุทธศาสนา ทำการย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระมาที่มัณฑะเลย์ในช่วงราวปี พ.ศ. 2400 พร้อมกับตั้งชื่อเมืองตามภูเขาว่า“มัณฑะเลย์”แต่ถึงกระนั้นความรุ่งเรืองของมัณฑะเลย์ในฐานะเมืองหลวงของอาณาจักรพม่ากลับปรากฏความรุ่งเรืองแค่เพียง 28 ปี ก็เข้าสู่ยุคสิ้นสุดราชวงศ์พม่าอย่างไม่มีวันหวนกลับมาในปี พ.ศ. 2428 ในสมัยพระเจ้าธีปอ (สีป่อ) กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์คองบอง
ปัจจุบัน มัณฑะเลย์นับว่าเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าทางตอนเหนือของพม่า และถือเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ รองจากย่างกุ้งและเนปยีดอว์ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญบนเส้นทางการค้าระหว่างอินเดียกับจีน และรัฐบาลพม่า ยังให้ความสำคัญโดยตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเข้ามาดำเนินการประมาณ 1,000 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานถลุงเหล็ก และโรงงานผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรกล นอกจากนั้นมัณฑะเลย์ ยังเป็นเมืองศูนย์กลางคมนาคม มีทั้งท่าเรือ และท่าอากาศยานนานาชาติมัณฑะเลย์ เนื่องจากปัจจัยความเป็นเมืองประวัติศาสตร์เก่าแก่จึงปรากฏโบราณสถานที่สำคัญมากมายจนถูกพัฒนากลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในภายภาคหลัง
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของมัณฑะเลย์ส่วนใหญ่ล้วนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ อาทิเช่น พระราชวังมัณฑะเลย์ (Mandalay Palace) พระตำหนักไม้สักชเวนันดอร์ (Shwenandaw Monastery) มัณฑะเลย์ฮิลล์ (Mandalay Hill)วัดกุโสดอว์ (Kuthodaw Temple)วัดพระมหามัยมุนี (MahaMyat Muni Paya) ฯลฯ
ชิดพล ยชุรเวชคุณากร
มิถุนายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
DhidaSaraya. “Mandalay : the capital city, the center of the universe”. Bangkok: MuangBoran,1995.
วัธนา บุญยัง. “ตามหาฝันที่มัณฑะเลย์”. นนทบุรี: บ้านหนังสือ,2554.
บุญเทียม พลายชมพู. “พม่า : ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์”. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์,2548.