อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยครอบคลุมพื้นที่ลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการขุดดินขั้นเป็นคันกำแพง และพื้นที่ที่มีการขุดดินขึ้นก็เป็นคูน้ำรอบเมือง ภายในกำแพงเมืองนี้มีพระราชวัง วัดวาอาราม และร่องรอยอารยธรรมกระจายอยู่ทั่วไป จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าสุโขทัยมีผู้คนอาศัยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาหลัง พ.ศ.1100 กลุ่มชนพื้นที่นี้ได้มีปฏิสัมพันธ์กับอาณาจักรทางภาคกลาง ได้รับเอาวัฒนธรรมทวารวดีและเขมร และราวกลาง พุทธศตวรรษที่ 18 สุโขทัยได้ตั้งตัวเป็นอาณาจักรและมีการปกครองของตนเอง อาณาจักรสุโขทัยก่อตั้งขั้นในสมัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และรุ่งเรืองแผ่ขยายอิทธิพลสูงสุดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ราชวงศ์พระร่วงปกครองสุโขทัยอยู่ประมาณ 200 ปี
ในปี พ.ศ.2534 คณะกรรมการมรดกโลกแห่งองค์การ UNESCO ได้ประกาศให้เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยเหตุผลที่หนึ่งคือ เมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้ปรากฏหลักฐานทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไทยเป็นแห่งแรก มีศาสนสถานที่งดงาม มีการวางผังเมือง มีระบบสาธารณูปโภค ระบบการจัดการน้ำ เหตุผลที่สองคือ เมืองแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของศิลปกรรม ภาษาวรรณคดี ศาสนา ระบบกฎหมายของรัฐในประวัติศาสตร์ไทยยุคแรก
บนพื้นที่มรดกโลกแห่งนี้ปรากฏให้เห็นความสัมพันธ์ทางกายภาพและทางสังคมที่ใกล้ชิดระหว่างเมือง 3 เมือง คือ 1) เมืองสุโขทัย ในฐานะเป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองของอาณาจักร 2) เมืองศรีสัชนาลัย ในฐานะเมืองศูนย์กลางทางศาสนาและจิตวิญญาณ โดยมีวัดและพระพุทธรูปสำคัญจำนวนมาก และยังเป็นเมืองแห่งการส่งออกเครื่องชามสังคโลกไปยังอาณาจักรอื่นๆ 3) เมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองปราการทางทิศใต้ มีบทบาทด้านการทหารในการป้องกันการรุกรานจากภายนอก และรักษาความมั่นคงปลอดภัยแก่เครือข่ายทางการค้าภายในอาณาจักรสุโขทัย เมืองทั้ง 3 เมืองนี้มีระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคที่ใช้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดการน้ำ และเส้นทางคมนาคมภายในอาณาจักร หรือ “ถนนพระร่วง”
ภายใต้การอุปถัมภ์ของราชวงศ์พระร่วง ศาสนาพุทธในอาณาจักรมีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เห็นได้จากจำนวนของศาสนสถาน และประติมากรรมพระพุทธรูปซึ่งมีความโดดเด่นในศิลปะแบบสุโขทัย (Sukhothai style) รวมไปถึงภาพจิตรกรรมฝาผนัง การประดับตกแต่ง ทั้งหมดนี้มีความแตกต่างจากศิลปะแบบเขมรหรือศิลปะของอาณาจักรอื่นๆ ในภูมิภาค ถือได้ว่าศิลปะสุโขทัยเป็นรากฐานของศิลปกรรมไทยในยุคต่อๆ มา
ที่สำคัญยังมีการค้นพบศิลาจารึกที่เป็นหลักฐานการเริ่มต้นใช้ภาษาเขียนในสมัยสุโขทัย โดยจารึกเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ศาสนา องค์กรทางสังคม และการปกครองไว้ ในด้านของผังเมือง อาณาจักรสุโขทัยมีนวัตกรรมวิศวกรรมการจัดการน้ำ มีหลักฐานการสร้างฝายทำนบกั้นน้ำ สระกักเก็บน้ำ และการขุดคลอง สร้างทางส่งน้ำเพื่อรองรับการเกษตรกรรม การประกอบพิธีกรรม และการอุปโภคบริโภคของผู้คนในเมือง ในทางเศรษฐกิจเมืองสุโขทัยเน้นที่ภาคเกษตรกรรม แต่ในขณะเดียวกันก็พึ่งพาภาคการส่งออกสินค้าหัตถกรรม อย่างถ้วยชามสังคโลกที่มีชื่อเสียง อาจกล่าวได้ว่าอาณาจักรสุโขทัยในอดีตมีความเจริญรุ่งเรือง ดังชื่อสุโขทัย ที่แปลว่ารุ่งอรุณแห่งความสุข
โบราณสถานสำคัญในพื้นที่เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย เช่น วัดมหาธาตุ ซึ่งมีเจดีย์ต่างๆ รวม 200 องค์ เป็นวัดสำคัญประจำกรุงสุโขทัย เดิมเคยเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี พระพุทธสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปที่วัดสุทัศน์ กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังมีวัดศรีชุม ซึ่งมีอัจนะ พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ผนังด้านข้างมีบันไดปีนขึ้นถึงบนหลังคาวิหาร สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์โดยรอบ อีกทั้งยังมีแหล่งโบราณคดีเครื่องปั้นดินเผา (เตาทุเรียง) บริเวณคูเมืองเก่าแม่น้ำโจน มีเตาเผาเครื่องสังคโลก 49 เตา และพบเครื่องปั้นดินเผามีลายเขียนสีดำรูปดอกไม้ ปลา และจักร และสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในการศึกษาวิถีชีวิตชาวสุโขทัยในอดีตก็คือ เขื่อนสรีดภงค์ หรือทำนบพระร่วง ซึ่งเป็นเขื่อนดินกั้นน้ำระหว่างซอกเขาและส่งน้ำเข้ามาใช้ภายในกำแพงเมือง โดยปัจจุบันกรมชลประทานได้บูรณาการซ่อมแซมเพื่อกลับมาใช้งานใหม่
สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ประวัติศาสตร์สุโขทัยในปัจจุบัน อยู่ภายใต้การดูแลและบูรณะปฏิสังขรณ์ของกรมศิลปากร พื้นที่เมืองประวัติศาสตร์ทั้งหมดถือเป็นเขตมรดกโลก ไม่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงใดๆ นอกเหนือไปจากการปกป้อง อนุรักษ์ และการศึกษาตีความ ไม่มีเส้นทางการจราจรตัดผ่าน ทุกกิจกรรมที่ทำในพื้นที่จะถูกควบคุมกำกับอย่างเข้มงวด
แต่ในอีกมุมหนึ่ง รัฐบาลก็มีนโยบายในการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น สถานศึกษา และ NGOs เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มรดกโลก นอกจากนี้ ปัจจุบันคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่โดยรอบเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้ ก็ยังคงใช้ถนน คูคลอง เหมืองฝายเก่าแก่ที่ยังคงอยู่ มีการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาในศาสนสถาน พระพุทธรูปได้รับการเคารพบูชาจากชาวบ้านโดยรอบ และมีการจัดเทศกาลประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งสืบทอดมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย ถือเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล นอกเหนือไปจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมชมศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาปกติ และทั้งหมดนี้ก็คือความสำคัญของเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ในทางประวัติศาสตร์ และบทบาทในปัจจุบัน ในฐานะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางสังคมวัฒนธรรมแห่งหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน
ภัสสร ภัทรเภตรา
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
“Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns” (http://whc.unesco.org/en/list/574)
“อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” (http://www.paiduaykan.com/province/north/sukhothai/sukhothai-
historypark.html)