มลายูใหม่ หรือ มลายู บารู เกิดขึ้นจากการพัฒนาภายหลังที่มาเลเซียได้รับเอกราช ท่ามกลางความหลากหลายของเชื้อชาติ ที่ได้ก่อตัวมาตั้งแต่ยุคสมัยภายใต้การปกครองของอังกฤษอย่างไรก็ตามอำนาจทางการเมืองได้ตกอยู่ในหมู่ชนชั้นนำมลายูซึ่งได้มีนโยบายการปกครองที่เอื้อประโยชน์ให้กับชาวมลายูโดยเห็นได้ชัดในรัฐธรรมนูญของมาเลเซีย ภูมิบุตรา โดยในรัฐธรรมนูญของสหพันธ์รัฐมาเลเซีย มาตรา 153 กำหนดว่า กษัตริย์มีหน้าที่ในการปกป้องสถานะพิเศษของชาวมาเลย์ (Malays) และชนพื้นเมืองแห่งบอร์เนียว (Natives of Malaysian Borneo) บทบัญญัติดังกล่าวมีผลต่อการกำหนดสัดส่วนของการเข้ารับราชการ การศึกษาในสถาบันของรัฐ การจัดสรรทุนและการออกใบอนุญาตเพื่อทำการค้าหรือธุรกิจ ในด้านการศึกษา ตำแหน่งทางราชการ และการเป็น เจ้าของในกิจการธุรกิจบางชนิด โดยแต่ละกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ ได้มีความพยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ไว้กับกลุ่มของตัวเอง เช่น ชาวมลายูต่างได้รับผลประโยชน์ในส่วนของการเมือง และชาวจีนได้รับประโยชน์ในส่วนของเศรษฐกิจ โดยในแต่ละกลุ่มเชื้อชาติพยายามที่จะรักษาเอกภาพของกลุ่มตัวเองไว้ เช่น ชาวมลายูได้สั่งห้ามการแต่งงานนอกกลุ่ม เป็นต้น นโยบายของรัฐบาลที่มีการแบ่งแยกการพัฒนาระหว่างเชื้อชาติระหว่างชาติพันธุ์ ระหว่างชาวมลายูและชาวจีน ใช่ว่าจะเกิดผลดีในภาพรวม มันทำให้ก่อเกิดเป็นปัญหา ได้ถือว่าเป็นความขัดแย้งในสังคมมาโดยตลอด เมื่อชาวมลายูตระหนักในสิทธิ์ความเป็นลูกของแผ่นดินมากยิ่งขึ้นเท่าใด ก็เริ่มที่จะเรียกร้องสิทธิต่างๆ รวมไปถึงการแสดงความเป็นเจ้าของประเทศ และเหตุการณ์การจลาจลในปี ค.ศ. 1969 ถือเป็นผลพวงจากความไม่เท่าเทียมในการพัฒนาทั้งสิ้น ทางรัฐบาลจึงมีความพยายามที่จะหาออกในปัญหาเหล่านี้ โดยได้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy-NEP) สาระสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจใหม่ก็คือ การลดปัญหาความยากจน และนำไปสู่การขจัดความยากจนให้หมดสิ้น โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์สำหรับเชื้อชาติใด เชื้อชาติหนึ่ง โดยมีกระบวนการในการพัฒนาโครงสร้างของประเทศเพื่อที่จะให้มีความสมดุลกันทุกเชื้อชาติอย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ตามรัฐบาลมาเลเซียก็ยังคงเอื้อประโยชน์ให้แก่ชาวมลายูในนโยบายเศรษฐกิจใหม่นี้
รัฐบาลพยายามที่จะนำมาเลเซียไปสู่ประเทศที่เอกภาพระหว่างเชื้อชาติ สำหรับนโยบายเศรษฐกิจใหม่ รัฐบาลได้กำหนดการพัฒนาของประเทศไว้ถึง 20 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971-1990 นโยบายเศรษฐกิจใหม่จะเป็นกระบวนการพัฒนาที่สำคัญจะนำไปสู่การสร้างเอกภาพของชาติ และพัฒนาประเทศมาเลเซียให้ก้าวหน้า ภายใต้ความยุติธรรม รัฐบาลมีความพยายามในการที่พัฒนาเศรษฐกิจที่มีความแปลกแยกออกจากที่อื่นๆ คือ จะนำระบบอุตสาหกรรมเข้าไปใช้ในกระบวนการเกษตรในชนบท โดยการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายใหม่ รัฐบาลจะมีบทบาทในการควบคุมการดำเนินการทางเศรษฐกิจมากขึ้น นโยบายเศรษฐกิจใหม่ได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 20 ปี กลุ่มเชื้อชาติมลายูสามารถที่จะพัฒนาตัวเอง รวมถึงสามารถลดปัญหาความยากจนลงได้ แต่กลับได้ปิดกั้นการพัฒนาของกลุ่มเชื้อชาติอื่น นโยบายเศรษฐกิจใหม่จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้
นโยบาย NEP ทำให้คนมลายูมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น โดยเฉพาะชาวมลายูชนชั้นกลาง ทั้งในแง่ของเงินทุน โอกาส และประสบการณ์ ในขณะที่รัฐบาลพยายามให้โอกาสและสิทธิพิเศษแก่คนมลายูในการทำธุรกิจ โดยการออกกฎหมายสงวนอาชีพบางอย่างซึ่งกำหนดเฉพาะไว้ให้กับคนมลายูเท่านั้นที่จะได้รับใบอนุญาตในการขอดำเนินกิจการ อาทิเช่น สัมปทานป่าไม้ แต่คนมลายูกลับขี้เกียจไม่ยอมดำเนินกิจการ แต่กลับไปทำสัญญาทางธุรกิจกับคนจีนโดยการขายสิทธิบัตรสัมปทานให้คนจีน ผลก็คือทำให้สัมปทานตกไปอยู่ในมือของคนจีนสะส่วนใหญ่ส่งผลให้คนมลายูกลายเป็นเพียงลูกจ้างเท่านั้น การที่คนมลายูไม่อาจแข่งขันกับคนจีนในด้านธุรกิจทั้งที่รัฐได้ให้สิทธิพิเศษและเอื้ออำนวยความสะดวกในด้านต่างไว้ให้แล้ว อาจเป็นเพราะคนมลายูยังคงยึดติดกับจารีตประเพณีและวัฒนธรรมแบบเก่าอยู่ ซึ่งไม่ได้หวังที่จะแสวงหาผลประโยชน์และความมั่งคั่งเหมือนคนจีน นี้จึงเป็นช่องว่างของนโยบายที่คนจีนสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ได้ แต่ท้ายที่สุด คตินิยมเรื่อง มลายู บารู ไม่ได้เพียงให้น้ำหนักเรื่องภาษาและวัฒนธรรมมลายูเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดง “ความเป็นชาติของชาวมาเลเซีย” มากขึ้นด้วย
ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข
กันยายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
ชัยโชค จุลศิริวงศ์. การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองมาเลเซีย. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2542
บาร์บารา วัตสัน อันดายา และ ลีโอนาร์ด วาย อันดายา ; พรรณี ฉัตรพลรักษ์, แปล; มนัส เกียรติธารัย, บรรณาธิการ. ประวัติศาสตร์มาเลเซีย. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโตโยต้า, 2549
สีดา สอนศรี และคนอื่นๆ. ผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ศึกษาเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย. กรุงเทพฯ : โครงการวิชาโทเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, 2548
อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ และชปา จิตต์ประทุม.บรรณาธิการ. วิกฤตการณ์มาเลเซีย เศรษฐกิจ การเมือง- วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา, 2544