พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party- PAP) เป็นพรรครัฐบาลของประเทศสิงคโปร์ซึ่งได้ประกาศตั้งคณะกรรมการบริหารกลางของพรรคชุดใหม่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ หลังคณะกรรมการฯ ชุดเก่า ที่ประกอบด้วยนักการเมืองคนสำคัญอย่าง ลี กวน ยู (Lee Kuan Yew) , โก๊ะ จก ตง (Goh Chok Tong) อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกและคนที่สองของสิงคโปร์ ตามลำดับ ก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2554 และลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสิงคโปร์
การก่อตั้งพรรคกิจประชาชนมีพื้นฐานมาจากการรวมตัวกันของนักศึกษาชาวมลายาซึ่งศึกษาเคยอยู่ ที่สหราชอาณาจักร ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มทางการเมืองที่เรียกว่า มลายันฟอร์รัม (Malayan Forum) ในปี ค.ศ 1950 หลังจากที่คืนสู่มาตุภูมิ ลี กวน ยู และ โก๊ะ เกง ซวี ก็ยังคงดําเนินกิจกรรมของมลายันฟอร์รัม ด้วยความมุ่งหวังที่จะก่อตั้งพรรคการเมืองที่มีจุดประสงค์เพื่อความเป็นเอกราชตลอดจนความกินดีอยู่ดีของชาวสิงคโปร์ ในขณะเดียวกันนั้น ลี กวน ยู ก็ได้ให้ความสําคัญกับสหภาพแรงงาน โดย ลี กวน ยู ได้เล็งเห็นว่า มวลชนของสหภาพแรงงานนั้นจะเข้ามาเป็นฐานเสียงที่สําคัญในการสนับสนุนทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1954 พรรคกิจประชาชนจึงได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งในที่ประชุมได้เลือก ดร.โต๊ะ ชิน ไช เป็นหัวหน้าพรรค และได้เลือก ลี กวน ยู เป็นเลขาธิการพรรคซึ่งการก่อตั้งพรรคกิจประชาชนเกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนสองกลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มที่มีการศึกษาแบบตะวันตก โดยกลุ่มนี้จะเป็นพวกที่มีแนวคิดไม่นิยมความรุนแรง มีพื้นฐานมาจากการรวมตัวของมลายันฟอร์รัม เรียกว่ากลุ่มสายกลาง (moderate) ส่วนอีกกลุ่มก็คือกลุ่มแกนนําที่มีการศึกษาแบบจีน โดยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีแนวคิดตามแบบคอมมิวนิสต์และมีพื้นฐานมาจากสหภาพแรงงานต่างๆ เรียกว่ากลุ่มคอมมิวนิสต์(procommunist) จะเห็นได้ว่ากลุ่มสายกลางเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดจะก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา แต่ก็ยังขาดมวลชนแนวร่วม ระยะเวลา 4 ปีจากปี ค.ศ. 1950 การสร้างมวลชนขึ้นมาอย่างรวดเร็วนั้นกระทําได้ยากยิ่ง ดังนั้นกลุ่มสายกลางจึงดําเนินการสานสัมพันธ์ดึงมวลชนสําเร็จรูปมาจากกลุ่มคอมมิวนิสต์ทั้งที่กลุ่มสายกลางไม่เคยเห็นด้วยกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ โดยกลุ่มคอมมิวนิสต์นั้นมีมวลชนอยู่ในมือโดยผ่านการควบคุมสหภาพแรงงานและบรรดาสมาคมต่างๆ ในขณะที่กลุ่มคอมมิวนิสต์ก็ต้องการมีพรรคการเมืองเพื่อการดําเนินการทางการเมืองตามแนวทางของกลุ่มเช่นกัน
นอกจากที่พรรคกิจประชาชนมีฐานมวลชนที่เหนือกว่าพรรคการเมืองอื่นแล้ว พรรคกิจประชาชนยังสามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ไปสู่ความเป็นรูปธรรม รวมทั้ง ในช่วงปี ค.ศ. 1960 ระบบพรรคการเมืองของสิงคโปร์ได้เปลี่ยนมาเป็นระบบการเมืองแบบสองพรรค (Two Party System) เนื่องมาจากคณะกรรมการบริหาร (CEC) ของพรรคกิจประชาชนได้มีมติขับกลุ่มคอมมิวนิสต์ออกจากพรรค ทําให้กลุ่มคอมมิวนิสต์ดําเนินการก่อตั้งพรรคแนวร่วมสังคมนิยม (Barisan Socialist) อีกด้านนึง พรรคกิจประชาชน (สายกลาง) ได้สร้างฐานมวลชนขึ้นมาจากการผลักดันนโยบายต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ทําให้พรรคกิจประชาชนได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 37 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคแนวร่วมสังคมนิยมได้รับเลือกตั้ง 13 ที่นั่ง ในช่วงเวลานั้นพรรคกิจประชาชนจึงฉวยโอกาสในการใช้อํานาจรัฐสร้างความเข้มแข็งให้แก่พรรค และบั่นทอนพรรคแนวร่วมสังคมนิยมให้อ่อนแอลง ด้วยวิธีการจัดตั้งสหภาพแรงงานแห่งชาติ (National Trade Union Congress: NUTC) เพื่อควบคุมสหภาพต่าง ๆ ที่เคยเป็นแนวร่วมสนับสนุนของคอมมิวนิสต์และพรรคแนวร่วมสังคมนิยมตลอดจนการใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน (Internal Security Act: ISA) ในการปราบปรามและจับกุมกลุ่มคอมมิวนิสต์ ซึ่งพรรคแนวร่วมสังคมนิยมได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา ทําให้สมาชิกของพรรคจํานวนมากถูกจับกุมและพรรคแนวร่วมสังคมนิยมเองก็ถูกรัฐบาลพรรคกิจประชาชนใช้กฎหมาย ISA อายัดเงินสนับสนุนของพรรค และลดทอนความเข้มแข็งของพรรคมาโดยตลอด
จากวิธีการข้างต้นส่งผลให้พรรคแนวร่วมสังคมนิยมก็ต้องประสบกับความอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง การบอยคอตท์การเมืองในรัฐสภา และการดําเนินยุทธศาสตร์การเมืองนอกสภา แต่ด้วยแนวร่วมและผู้สนับสนุนพรรคนั้นลดจํานวนลงเป็นอย่างมาก จนถึงการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1968 ปรากฏว่าพรรคกิจประชาชนสามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสิงคโปร์ได้อย่างเบ็ดเสร็จทั้งหมด 58 ที่นั่ง และสามารถธํารงความเป็นพรรคการเมืองโดดเด่นพรรคเดียว (one dominant party) ในสิงคโปร์จนถึงปัจจุบัน
ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข
กันยายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
บทวิเคราะห์ปัจจัยการก้าวขึ้นสู่อำนาจของพรรคกิจประชาชนในสิงคโปร์ ภายใต้การอธิบายเชิงสาเหตุ
วทัญญู ใจบริสุทธิ์ ฉบับมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ วารสารวิชาการ Veridian E-Journal ปีที่ 7 ฉบับที่ 3 เดือนกันยายน – ธันวาคม 2557