การสังหารหมู่จาบิดาห์ (Jabidah Massacre) เป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ทหารโมโร เกิดขึ้นที่เกาะคอร์เรกิดอร์ (ด้วยเหตุนี้ บางครั้งเหตุการณ์นี้จึงอาจเรียกขานกันในชื่อ การสังหารหมู่ที่คอร์เรกิดอร์) ในวันที่ 18 มีนาคม 1968 ทำให้รัฐบาลลดความสำคัญของกองทัพลง ซึ่งส่งผลให้เอกสารที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวมีน้อยลงไปด้วย และคาดการณ์กันว่าอาจมีผู้เสียชีวิต 11-68 คน แต่ไม่มีการระบุสาเหตุที่ก่อให้เกิดการสังหารหมู่ครั้งนี้ ในขณะที่บางคนยังเชื่อว่าการสังหารหมู่นี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
รัฐซาบาห์อยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่านซูลู ซึ่งเป็นดินแดนที่ได้รับมอบมาจากสุลต่านบรูไนในปี 1658 เพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือจากสุลต่านซูลูในสงครามกลางเมืองบรูไน ในปี 1878 ซาบาห์ถูกยกให้กับอังกฤษ กระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียในปี 1963 อย่างไรก็ตามรัฐบาลฟิลิปปินส์อ้างว่าภาคตะวันออกของรัฐซาบาห์ไม่เคยขายให้กับต่างประเทศและเพียงแค่ให้สุลต่านซูลู "เช่า" (padjak) เท่านั้น จึงมีความพยายามทางการทูตกับมาเลเซียและสหประชาชาติในช่วงประธานาธิบดี ดิออสดาโด มาชาปากัลป์ อยู่หลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งวันที่ 13 กันยายน 1963 สหประชาชาติจัดทำประชามติ ผลคือประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งมาเลเซียต่อไป
ในปี 1962 ประธานาธิบดีดิออสดาโด มาชาปากัล ถูกกล่าวหาว่าวางแผนการฝึกอบรมหน่วยคอมมานโดสำหรับเข้าแทรกซึมพื้นที่รัฐซาบาห์และก่อวินาศกรรม ต่อมาในปี 1967 สมัยประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อนุญาตให้ อับดุล ลาทิฟ มาร์เตลิโน จัดตั้งหน่วยลับที่มีชื่อว่า "จาบิดาห์" และเริ่มดำเนินโครงการเมอร์เดกา ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงนายพลในกองทัพ ปลัดกลาโหม และนายมาร์กอส ช่วงแรกของการดำเนินงาน มาร์เตลิโน และคณะ เดินทางไปรัฐซาบาห์สามครั้งเพื่อสำรวจ ในช่วงที่สองของการดำเนินงาน คือ การรับสมัครผู้ชายกว่า 180 คน เข้ารับการอบรมพื้นฐานเกี่ยวกับเกาะคอร์เรกิดอร์ สถานที่ฝึกฝนการรบแบบกองโจรของพวกเขา โดยวัตถุประสงค์ของหน่วยนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด จึงเกิดการคาดเดาและถกเถียงกันอย่างมาก
โดยบางคนกล่าวว่าสาเหตุของการจลาจลเนื่องมาจากความล่าช้าในการรับสมัคร สภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและต้องอดอยากเป็นเวลากว่าสามเดือนจึงนำไปสู่ความไม่พอใจ จนหลายคนเรียกร้องที่จะกลับบ้าน ซึ่งคนที่ได้รับการปลดบางคนได้กลับบ้าน แต่บางคนถูกนำไปยังค่ายทหารที่เกาะลูซอน และถูกฆ่าโดยกองทัพ จีบิน อารูลา ผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียว ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความโหดร้ายที่เกิดขึ้น แต่นักวิชาการบางคนมองว่าสื่อบิดเบี้ยวข้อมูล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงยังไม่ชัดเจนเพราะมีการกล่าวหาว่ามาร์เตลิโน เป็นผู้ทำลายเอกสารที่เกี่ยวข้อง ต่อมาเดือนกันยายน 2010 อารูลาเสียชีวิตอุบัติเหตุทางรถยนต์
อีกทั้ง นักการเมืองฝ่ายค้านอย่าง เบนีโญ อากีโน จูเนียร์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การสังหารหมู่จาบิดาห์ คือแผนการของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เป็นเครื่องมือต่ออายุอำนาจของเขา และฝ่ายค้านนำเหตุการณ์นี้มาใช้วิพากษ์วิจารณ์นายมาร์กอส ถึงการบริหารงานที่ด้อยคุณภาพและไม่ให้ความสำคัญชาวมุสลิม ต่อมาเบนีโญ อากีโน ที่ 3 ก็ยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงในวันครบรอบ 45 ปี ของการสังหารหมู่จาบิดาห์ และยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการประวัติศาสตร์แห่งชาติฟิลิปปินส์ รวมทั้งพยายามยกย่องคอร์เรกิดอร์ เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่เบนีโญ อากีโน จูเนียร์ กลับกล่าวในรัฐสภาว่าการสังหารหมู่นี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลแต่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายความเห็น เช่น หน่วยจาบิดาห์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมทหารเข้าแทรกซึม ก่อความวุ่นวายในรัฐซาบาห์ และใช้ความวุ่นวายดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการเรียกร้องดินแดนให้มาเป็นส่วนหนึ่งของฟิลิปปินส์ รวมทั้งเป็นหน่วยที่จะร่วมมือกับกองทัพฟิลิปปินส์ เพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ซึ่งนักวิชาการบางคนยืนยันว่าการสังหารหมู่เกิดขึ้นจากการก่อกบฏของผู้รับการฝึกที่ปฏิเสธคำสั่งแทรกซึมรัฐซาบาห์ และไม่อยากก่อวินาศกรรมในรัฐซาบาห์ อีกทั้งยังมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับพี่น้องมุสลิมชาวซาบาห์ รัฐบาลจึงสังหารผู้เห็นต่างเพื่อปกปิดเป็นความลับ และควบคุมสื่อให้บิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ อีกทั้งยังขาดหลักฐานสำคัญที่จะลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ครั้งนี้ ทำให้พวกเขาถูกปล่อยตัวเป็นอิสระและไร้ความผิด
หลังการสังหารหมู่จาบิดาห์ แพร่ออกไปยังประชาคมโลก ทำให้ผู้นำจากหลายประเทศออกมากล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น มูอัมมาร์ กัดดาฟี นายกรัฐมนตรีลิเบีย ออกมาแสดงความกังวลต่อข่าวที่แพร่ออกมา และตนกู อับดุล เราะห์มาน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฟิลิปปินส์ อีกทั้งยังนำมาสู่การจลาจลของชาวมุสลิมสมัยรัฐบาลมาร์กอส ที่รู้สึกว่าตนไม่ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับชาวคริสต์ โดยเฉพาะนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นผู้นำการชุมนุมในกรุงมะนิลาด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากนักการเมืองมุสลิมและปัญญาชน นอกจากนี้ ความไม่สงบในมินดาเนายังได้รับความสนใจจากประชาคมโลกมากขึ้น
ฐิติพงศ์ มาคง
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
The manila crime. ‘Jabidah’ was a big hoax. [Online]. Search on 21 July 2016. Retrieved from :
http://www.manilatimes.net/jabidah-was-a-big-hoax/171247/
Jabidah massacre. Search on 19 July 2016, Retrieved from Wikipedia: https://en.wikipedia.org/wiki
/Jabidah_massacre.
JORGE MADLOS (Ka Oris)Spokesperson. Remembering Jabidah Massacre: Moro people must persist
in armed resistance vs. chauvinism, state repression. [Online]. Search on 22 July 2016.
Retrieved from : http://www.ndfp.org/remembering-jabidah-massacre-moro-people-must-
persist-in-armed-resistance-vs-chauvinism-state-repression/