วาลีซองงอ (Wali Songo) เป็นคำเรียก นักบุญทั้ง9ในศาสนาอิสลามของอินโดนีเซีย โดยคำว่า วาลี แปลว่า นักบุญ ซองงอมาจากภาษาชวาแปลว่า 9 วาลีซองงอได้ชื่อว่าเป็นนักบุญที่มีชื่อเสียงในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในหมู่เกาะชวาโดยเฉพาะพื้นที่สำคัญ นักบุญทั้ง 9 คน ประกอบไปด้วย เมาลานา มาลิก อิบราฮิม (Maulana Malik Ibrahim) สุนัน อัมเปล (Sunan Ampel) สุนัน กีรี ( Sunan Giri ) สุนัน โบนัง (Sunan Bonang) สุนัน กาลิจอกอ(Sunan Kalijaga) สุนัน กูนุง จาตี(Sunan Gunung Jati) สุนัน ดราจัต(Sunan Drajat) สุนัน คูดูส(Sunan Kudus) สุนัน มูเรีย(Sunan Muria)
เมาลานา มาลิก อิบราฮิม หรือ สุนัน เมาลานา มาลิก อิบราฮิม นักบุญคนแรกที่มีประวัติคลุมเครือมากที่สุด มีเอกสารการบันทึกเกี่ยวกับประวัติของเมาลานา มาลิก อิบราฮิม ไว้หลากหลายฉบับด้วยกันทำให้ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มีทั้งที่อ้างว่ามาจากเปอร์เซีย ตุรกี หรือไม่ก็มาจากอินเดียตอนเหนือ
สุนัน อัมเปล หรือชื่อเดิมว่า ระเด่น ระฮ์มัต เป็นบุตรชายคนโตของเมาลานา มาลิก สุนัน อัมเปล เป็นหนึ่งในนักบุญที่เผยแพร่ศาสนาอิสลามในหมู่เกาะชวา โดยเฉพาะหลังจากรัฐอิสลามเดอมักก่อตั้งขึ้นเป็นรัฐแรกในเกาะชวา สุนัน อัมเปลก็กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงด้านพลังจิต
สุนัน โบนัง มีชื่อจริงว่า ระเด่น เมาลานา มัคดุมอิบราฮิม Raden Maulana Makhdum Ibrahim สุนัน โบนังทำหน้าที่ในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในเขตพื้นที่ชวาตะวันออกโดยเฉพาะในพื้นที่เมืองตูบันและเมืองรอบๆ โดยหลักคิดทางศาสนานั้นสุนัน โบนังจะเน้นไปที่ความเชื่อเรื่อง Taq’hid และ Ma’rifat 9yh’ตั้งอยู่บนความเชื่อเรื่อง ความรู้สมบูรณ์
สุนัน กาลิจอกอ หรือ ระเด่น มาสชาฮิด (Raden Mas Syahid) สุนัน กาลิจอกอถือได้ว่าเป็นักบุญที่มีชื่อเสียมากที่สุดในเวลานั้น สุนัน กาลิจอกอ เป็นผู้ปูทางในการทำให้ชวากลายเป็นอิสลามด้วยการก่อตั้งรัฐอิสลามเดอมักหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการพิชิตอาณาจักรมัชปาหิต สุนัน กาลิจอกอได้พัฒนาวัฒนธรรมอิสลามในชวาผ่านการแสดงและพิธีกรรมของราชสำนัก คือ วายัง (wayang ) เซอลาเมอตัน (selametan) วิธีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมอิสลามกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของสุนัน กาลิจอกอ ประสบความสำเร็จอย่างเมื่อชาวชวาจำนวนมาก ด้วยบุคลิกที่มีความใจกว้างและอ่อนน้อมทำให้ในบรรดานักบุญ สุนัน กาลิจอกอได้รับความนับถือสูงสุดในสายตาของชาวบ้าน
สุนัน กีรี หรือระเด่น รากู (Raden Paku) เป็นผู้ก่อตั้งสถานที่นัดพบของผู้สนใจเรียนรู้ศาสนาอิสลามในกีรีซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นโรงเรียนสอนศาสนาและในเวลานั้น ชาวบ้านต่างพากันมาที่กีรีเพื่อศึกษาศาสนาอิสลามกับสุนัน กีรี โดยสุนัน กีรีจะสอนศาสนาให้แก่ลูกศิษย์ของเขาผ่านการละเล่นของเด็กตามแบบศาสนาอิสลาม
สุนัน ดราจัต หรืออีกชื่อคือ ชารีฟุดดิน (Syarifuddin) เป็นบุตรชายคนที่สองของสุนัน อัมเปล และเป็นน้องชายของสุนัน โบนัง สุนัน ดราจัตเรียนศาสนาจากพ่อของเขาโดยตรงก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาเพิ่มเติมที่ปาจิรันหลังจากที่มีลูกศิษย์จำนวนหนึ่งแล้ว สุนัน ดราจัตได้สร้างมัสยิดขึ้นในปี 1502 สุนัน ดราจัต มีชื่อเสียงในด้านกิจกรรมทางสังคมและงานการกุศล
สุนัน คูดูส เป็นผู้สอนศาสนาอิสลามในคูดุสและชวากลาง มีความเชี่ยวชาญด้าน ตาฮิด(tahid) อูซุล(usul) หะดีษ (hadits) และฟิก ( fiqih) สุนัน คูดูส เผยแพร่ศาสนาอิสลามด้วยการใช้วิธีใกล้ชิดกับชาวเมืองคูดุส วิธีการที่เขาใช้คือใช้ประโยชน์จากความเชื่อในศาสนาฮินดูของชาวบ้าน
สุนัน มูเรีย หรือระเด่น อูมาร์ ซาอิด ( Raden Umar Said ) เป็นลูกชายของสุนัน กาลิจอกอ สุนัน มูเรีย เผยแพร่ศาสนาอิสลามในพื้นที่ภูเขามูเรียและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างมัสยิดอากุงในเดอมัก ลักษณะการสอนศาสนาของสุนัน มูเรีย เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้านทั่วๆ ไปโดยเฉพาะชาวนา ชาวประมง นอกจากนี้สุนัน มูเรียยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถในการใช้ดนตรีพื้นบ้านชวาอย่าง กาเมลัน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามผ่านวงดนตรีกาเมลันเป็นที่ชื่นชอบแก่ชาวบ้านที่มักจะแวะเวียนมาชมการแสดง
สุนัน กูนุง จาตี หรือชารีฟ ฮิดายัตตุลเละห์ (Syarif Hidayatullah) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในชวาตะวันตก
อุมาพร พิชัยรักษ์
สิงหาคม 2559