สังขละบุรี เป็นอำเภอๆ หนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรีที่ติดต่อกับชายแดนพม่า เป็นเมืองเล็กๆที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ทั้ง 3 ชาติ ได้แก่ ไทย มอญ และกะเหรี่ยง อันเป็นอีกเสน่ห์ที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
สังขละบุรี ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีประมาณ 215 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 323 หรือห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยประมาณ 358 กิโลเมตร เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อดีตเป็นเพียงเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ริมลำน้ำสามประสบ (บริเวณที่ลำน้ำสามสาย อันได้แก่ ห้วยซองกะเลีย ห้วยบิคลี่ และห้วยรันตี ไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแควน้อย) เหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ได้แก่ ในปี พ.ศ. 2494 เมื่อหลวงพ่ออุตตมะซึ่งเป็นภิกษุชาวมอญจากเมืองมะละแหม่ง พาชาวมอญอพยพหนีภัยสงครามมาตั้งรกรากจนก่อให้เกิดเป็นชุมชนมอญ อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามตัวอำเภอในปัจจุบันครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2527 เมื่อมีการสร้างเขื่อนเขาแหลม (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเขื่อนวชิราลงกรณ์) จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ชุมชนต่างๆ รวมถึงวัดวังก์วิเวการามของหลวงพ่ออุตตมะและหมู่บ้านมอญ ล้วนถูกรื้อเพราะเป็นพื้นที่ใต้เขื่อน
จากปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้ง 2 ครั้ง ส่งผลเป็นมรดกตกทอดให้แก่ชาวสังขละบุรีโดยทั้งอัตลักษณ์ชาวมอญและอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน กลายเป็นทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของสังขละบุรี นอกจากนี้ยังมีป่าเขาลำเนาไพรเป็นเสมือนจุดดึงดูดการท่องเที่ยวของสังขละบุรี
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของสังขละบุรีมีหลายแห่ง ดังต่อไปนี้ เริ่มจาก วัดวิเวกการาม อยู่เลยจากตัวอำเภอสังขละบุรีไปประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นวัดจำพรรษาของ “หลวงพ่ออุตตมะซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวไทย ชาวมอญ รวมทั้งชาวกระเหรี่ยงและพม่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ภายในวิหารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนอันงดงามชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อขาว”
ด่านเจดีย์สามองค์ ก็มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ลักษณะเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม ด้านบนเป็นทรงกลม ยอดแหลม มีสีขาวขนาดไม่ใหญ่นัก ในอดีตเป็นเพียงกองหินที่ชาวบ้านนำมาวางไว้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนเดินทางผ่านไปยังพม่า
สะพานมอญ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สะพานอุตตมานุสรณ์” เป็นสะพานไม้ข้ามแม่น้ำซองกาเลียไปยังหมู่บ้านมอญ นับว่าเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นอันดับสองของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็งในพม่า นอกจากนั้นยังเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอสังขละบุรี ถือว่าเป็นสะพานแห่งศรัทธา ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชุมชนที่อาศัยอยู่ในสังขละบุรี โดยทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวมาสัมผัสธรรมชาติ พร้อมๆ กับการได้เห็นวิถีชีวิตชุมชนชาวมอญในแถบนี้
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของสังขละบุรีที่ได้กล่าวมาข้างต้น เนื่องด้วยการเข้ามาของกระแสการท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ความที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่มากขึ้น เพื่อตอบสนองกับกระแสการท่องเที่ยวของเมืองสังขละบุรี อาทิเช่น ธุรกิจที่พัก รีสอร์ท ร้านอาหาร และร้านกาแฟ เป็นต้น ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวล้วนเป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ผ่านรูปแบบของการท่องเที่ยว
ชิดพล ยชุรเวชคุณากร
มิถุนายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
กองบรรณาธิการประชาคมท้องถิ่น. “"สังขละบุรี" ที่นี่ไม่ได้มีดีแค่สะพานมอญ”.
กรุงเทพฯ: ประชาคมท้องถิ่น. 2557.
สุจริตลักษณ์ ดีผดุง. “จากเมาะละแหม่งสู่สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี”. กรุงเทพฯ: วารสารภาษาและวัฒนธรรม,2548.
สมาน คุณความดี. “สังขละบุรี รอยต่อฝันของนักเดินทาง”. กรุงเทพฯ: ไฮคลาส,2536.
ดวงสมร สกุลอารีย์มิตร. “สังขละบุรี...เมืองในม่านหมอก”. กรุงเทพฯ: ยูงทอง,2545.