กระแสการฟื้นฟูอิสลาม (Islamic Revival) คือ ความพยายามปฏิรูปสังคมมุสลิมให้เป็นรัฐในอุดมคติตามแนวทางของศาสดามูฮัมหมัด ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมุสลิม ซึ่งกระแสการฟื้นฟูอิสลามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีลักษณะเป็นระลอกคลื่นที่ไม่หยุดนิ่ง
กระแสฟื้นฟูศาสนาอิสลามยุคอาณานิคม ก่อตัวขึ้นจากปัจจัยที่รัฐมุสลิมต่างๆที่ตกเป็นดินแดนอาณานิคมของชาวตะวันตก ทำให้มุสลิมทั่วโลกต่างตระหนักถึงการคุกคามจากชาวตะวันตก ส่งผลให้มีการปกป้องศาสนาอิสลาม กระแสการฟื้นฟูอิสลามที่แพร่หลายในประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางได้เริ่มแผ่ขยายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการรับรู้ร่วมกันของบรรดามุสลิมที่ไปศึกษาและประกอบพิธีฮัจจ์ มุสลิมในภูมิภาคเกิดการตื่นตัวต่อกระแสการฟื้นฟูศาสนาอิสลามอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่มุสลิมหมู่เกาะอินโดนีเซีย มลายา และภาคใต้ของสยาม กระแสฟื้นฟูศาสนาอิสลามสะท้อนเห็นเห็นถึงความพยายามในการสร้างประชาชาติมุสลิมในคาบสมุทรมลายู และการปฏิรูปศาสนาอิสลาม (Reformism) ในลักษณะการจัดตั้งเป็นขบวนการมุสลิม จากการรวมตัวกันของผู้นำศาสนา นักเขียนมุสลิม ปัญญาชนมุสลิมรุ่นใหม่ รวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหว โดยมุสลิมในภูมิภาคมีการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับมุสลิมในตะวันออกกลาง มีการแลกเปลี่ยนความรู้และข่าวสารของมุสลิมทั่วโลก โดยมีศูนย์กลางการเผยแพร่ข่าวสารที่สิงคโปร์ เนื่องจากขณะนั้น สิงคโปร์เป็นดินแดนที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการพิมพ์ที่ทันสมัย อีกทั้งยังมีท่าเรือที่สำคัญ ทำให้กระแสปฏิรูปศาสนาอิสลามเข้ามายังภูมิภาคผ่านเส้นทางทางการค้าและเส้นทางสู่นครเมกกะ
ขบวนการฟื้นฟูศาสนาอิสลาม และการปฏิรูปทางศาสนา เรียกว่า กาอุมมูดา (Kaum Muda) มีความต้องการที่จะปฏิรูปศาสนาอิสลามให้มีความทันสมัย ขจัดความเชื่อที่แปลกปลอมและงมงาย และกระบวนการของความเป็นเหตุเป็นเป็นผลตามความคิดวิทยาศาสตร์ของโลกตะวันตกสมัยใหม่ โดยยึดคัมภีร์อัลกุรอานและหะดิษเป็นหลัก แม้ว่ากาอุมมูดาได้รับการตอบรับจากบรรดามุสลิมภูมิภาค โดยเฉพาะบริเวณเมืองท่า แต่ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร โดยเฉพาะเขตชนบท มุสลิมส่วนใหญ่ยังคงยึดติดกับคำสอนของบรรดาผู้รู้ทางศาสนารุ่นเก่าอยู่มาก ทำให้แนวคิดของกาอุมมุดาแทรกซึมเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าวได้ยาก กาอุมมูดาเรียกกลุ่มตรงข้ามว่า กาอุมตูวา (Kaum Tua) ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นผู้รู้ศาสนาอิสลามและเป็นผู้นำท้องถิ่นที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม กาอุม มูดาให้ความเห็นว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการบิดเบือนคำสอนในศาสนาอิสลาม และเชื่อว่าการตีความคัมภีร์อัลกุรอานและสอนความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลามจากกาอุมตูวา เป็นการสอนศาสนาอิสลามแบบผิดๆ ผ่านการตีความตามทัศนคติ ม่ได้เป็นเนื้อแท้ของคัมภีร์อัลกุรอาน ความพยายามเป็นครั้งคราวในช่วงอาณานิคมของกลุ่มปฏิรูปศาสนาอิสลามไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ความพยายามในการปฏิรูปจึงกลายเป็นความขัดแย้งภายในกลุ่มมุสลิมมากกว่าจะเป็นความพยายามปรับปรุงสังคมมุสลิม จนกระทั้ง ยุคปลายอาณานิคมถึงยุคสร้างชาติมุสลิมในภูมิภาคนำแนวคิดการฟื้นฟูศาสนาอิสลามมาใช้เป็นอุดมการณ์ชาตินิยมอิสลาม เพื่อเรียกร้องอิสรภาพและสิทธิในการปกครองตนเอง
การเปลี่ยนแปลงจากการเป็นดินแดนอาณานิคมสู่การเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ปรากฏการณ์ทั่วไปได้มีการพัฒนาและปรับปรุงประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงแก่ประเทศอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ความแตกแยกทางความคิดระหว่างกลุ่มมุสลิมรุ่นใหม่ และกลุ่มมุสลิมอนุรักษ์นิยมยังคงมีอยู่ จนกระทั้ง ทศวรรษที่ 1980 กระแสการฟื้นฟูอิสลามเข้มข้นขึ้นอีกครั้ง หลังจากความสำเร็จในการปฏิวัติอิหร่าน ค.ศ. 1979
ค.ศ. 1979 เกิดการการปฏิวัติอิหร่าน (สายชีอะห์)โดยการนำของอิมามโคมัยนี (Ayatollah Khomeini) ทำการล้มล้างระบบกษัตริย์ ในสมัยกษัตริย์มูฮัมหมัด เรซา ปาห์เลวี (Shah Mohammad Reza Pahlavi) ซึ่งขณะนั้นอำนาจของกษัตริย์เป็นเพียงหุ่นเชิดของชาวตะวันตก ที่กำลังครอบงำอิหร่าน โดยแนวทางในการปฏิวัติอิหร่านนั้น มีจุดมุ่งหมายในการต่อต้านตะวันตกและเรียกร้องอิสรภาพ และเมื่อการปฏิวัติสำเร็จ ผู้นำอิหร่านสถาปนากฎหมานอิสลามเป็นกฎหมายสูงสุด และได้สถาปนาอิหร่านเป็นรัฐอิสลาม เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นตัวกระตุ้นให้มุสลิมทั่วโลก รวมทั้งมุสลิมนิกายซุนนี
การเคลื่อนไหวของขบวนการมุสลิมจากกระแสฟื้นฟูอิสลามระลอกใหม่ เกิดจากการเคลื่อนไหวของเหล่าขบวนการดาก์วะห์ (dakwah หมายถึง เรียกร้อง หรือ เชื้อเชิญ) การเคลื่อนไหวคล้ายกับการเผยแผ่ศาสนาของมิชชั่นนารี ขบวนการดาก์วะห์ มีอิทธิพลอย่างมากในฐานะผู้เผยแพร่ศาสนาตามกระแสฟื้นฟูศาสนาอิสลามสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมุสลิม มุสลิมให้การตอบรับและเข้าร่วมเป็นสมาชิกจำนวนมาก มีการหันมาแต่งกายตามแบบอิสลามอย่างเคร่งครัดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในภูมิภาค การปฏิรูปศาสนาอิสลามจากขบวนการดาก์วะห์เป็นตัวกระตุ่นสำคัญให้มุสลิมในภูมิภาคเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดในศาสนา จนเกิดกระบวนการอิสลามานุวัตน์ (Islamization) ในสังคมมุสลิมทั่วทั้งภูมิภาค
สังคมมุสลิมในภูมิภาคหลังทศวรรษที่ 1980 ให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์ เช่น โรงเรียน เพื่อการเรียนการสอนในวิชาการทั่วไป และวิชาการในหลักการของอิสลาม สหกรณ์ออมทรัพย์ การแต่งกาย ซึ่งเห็นได้ชัดเจน ผู้หญิงจะคลุมฮิญาบ ปกปิดร่างกาย ใบหน้า แขน บางครั้งมีการสวมถุงเท้า ส่วนผู้ชายจะใส่หมวกแบบอาหรับมากขึ้น ที่สำคัญมีการเรียกร้องและพยายามรัฐอิสลาม และใช้กฎหมายอิสลาม มุสลิมบางกลุ่มได้แปรสภาพกลุ่มการฟื้นฟูอิสลามเป็นพรรคการเมือง เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
ภัทรมน กาเหย็ม
พฤศจิกายน 2559