ขบวนการดาก์วะห์ (Dakwah Movement) เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสฟื้นฟูศาสนาอิสลามในช่วงหลังทศวรรษที่ 1980 ขบวนการดาก์วะห์สร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ต่อสังคมมุสลิมมาเลเซีย มุสลิมมาเลเซียมีความเคร่งครัดในหลักการศาสนาอิสลามมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปฏิบัติตนตามวิถีของท่านศาสดามูฮัมหมัด นอกจากนี้ศาสนาอิสลามเป็นปัจจัยส่งเสริมอัตลักษณ์มลายูให้เข้มข้นมากขึ้นด้วย ขบวนการดาก์วะห์จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูศาสนาอิสลามในมาเลเซีย
ขบวนการดาก์วะห์ หมายถึง การเคลื่อนไหวของมุสลิมด้วยการเชิญชวน และให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการของศาสนาอิสลามตามคัมภีร์อัลกุรอานและหะดิษอย่างถูกต้อง อันเคยเป็นภาระหน้าที่ของท่านศาสดามูฮัมหมัด และมุสลิมที่เป็นผู้รู้ทางศาสนาควรสืบทอด ขบวนการดาก์วะห์ก่อตัวขึ้นราวกลางทศวรรษที่ 1970 ด้วยพลังของมุสลิมรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม อันเกิดจากความเสียหายภายใต้ระบอบอาณานิคมในอดีต และการต่อต้านลัทธิทุนนิยมที่ทำให้สังคมมุสลิมแปลเปลี่ยนไปตามกระแสของโลกตะวันตก หรือ คริสต์เตียนมากเกินไป ไม่ว่าจะในด้านความคิดความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ ล้วนเป็นสิ่งที่ก่อความหายนะต่อชีวิตของมุสลิม โดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์จลาจลทางเชื้อชาติ ค.ศ.1969 สภาพสังคมที่เสื่อมโทรมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง การแบ่งแยกทางศาสนาของมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม และกระแสการฟื้นฟูของศาสนาอิสลามที่กำลังเฟื่องฟู ขบวนการดาก์วะห์ มีจุดประสงค์หลักร่วมกัน เพื่อการกระตุ้นให้มุสลิมมีความศรัทธาต่อศาสนาอิสลามมากขึ้น ทำหน้าที่เผยแผ่ข่าวสารเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และที่สำคัญคือการเผยแผ่ศาสนาอิสลามให้ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมหันมานับถือศาสนาอิสลาม
ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และกระแสนิยมต่อศาสนาอิสลามในมาเลเซียเพิ่มมากขึ้นผ่านทางขบวนการดาก์วะห์นั้น การแพร่กระจายการเคลื่อนไหวของขบวนการดาก์วะห์ต่อมุสลิมมาเลเซีย ส่งผลให้มุสลิมในมาเลเซียส่วนใหญ่เริ่มตระหนักและหวนกลับสู่อัลกุรอานและหะดิสเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ขบวนการดาก์วะห์ได้รับความนิยมเป็นพิเศษและได้ขยายขอบเขตมาก ซึ่งขบวนการดาก์วะห์ในมาเลเซียจะให้ความสำคัญกับศาสนาที่ใช้เป็นแบบแผนในวิถีชีวิต โดยเฉพาะการสะท้อนวิถีชีวิตของมุสลิมผ่านการแต่งกาย
ขบวนการดาก์วะห์มีบทบาทสำคัญต่อการเผยแผ่ความรู้ทางศาสนาอิสลาม โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้มุสลิมมีการเลื่อมใสต่อศาสนาอิสลามโดยแท้จริง แม้ว่าที่ขบวนการดาก์วะห์แต่ละกลุ่มมีมุมมองและวิธีการเคลื่อนไหวแตกต่างกันไป โดยการเคลื่อนไหวของขบวนการดาก์วะห์ในมาเลเซียแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มแนวคิดใหญ่ คือ แนวคิดการกลับสู่รากฐานดั่งเดิมของศาสนาอิสลาม (Fundamentalism) และแนวคิดการทำให้ศาสนาอิสลามบริสุทธิ์ (The Purification of Islam) ทั้งสองแนวคิดยึดมั่นต่อคัมภีร์อัลกุรอานและหะดิษเช่นเดียวกัน แต่วิธีการปรับตัวของมุสลิมในโลกสมัยใหม่มีวิธีการแตกต่างกัน
แนวคิดการกลับสู่รากฐานดั่งเดิมของศาสนาอิสลาม ได้รับอิทธิพลมาจากโลกมุสลิมแถบอาหรับและเป็นมุสลิมที่ผ่านการศึกษาจากโลกอาหรับ และกลับมาเคลื่อนไหวในมาเลเซีย โดยมีผู้รู้ทางศาสนาอิสลามและผู้นำมุสลิมท้องถิ่นเป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งเน้นการตีความตามตัวอักษรในภาษาอาหรับ และการต่อต้านสิ่งที่ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม รวมทั้งการเลือกรับและการห้ามปฏิบัติตามวัฒนธรรมมลายูแบบจารีตที่ไม่ถูกต้อง หรือวัฒนธรรมจากโลกตะวันตกที่ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม ภายหลังแนวคิดนี้มักถูกเรียกว่า แนวทางของมุสลิมสุดโต่ง เช่น การให้ความรู้มุสลิมที่หลงผิดและเชื่อในไสยศาสตร์ของมุสลิม ตลอดจนการใช้บทลงโทษมุสลิมด้วยกฎหมายอิสลามยุคจารีต
ส่วนแนวคิดการทำให้ศาสนาอิสลามบริสุทธิ์ ได้รับอิทธิพลจากกระแสการฟื้นฟูศาสนาอิสลามจากโลกอาหรับ แต่การเคลื่อนไหวเกิดจากกลุ่มนักศึกษามุสลิมที่สร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ผ่านกระบวนการเรียนศาสนาอิสลามในท้องถิ่นและในตะวันออกกลาง และระบบการเรียนแบบตะวันตก แนวคิดการทำให้ศาสนาอิสลามบริสุทธิ์ เน้นการตีความคัมภีร์จากคนรุ่นใหม่ที่ปราศจากการการตีความอันถูกครอบงำทางความคิดจากผู้รู้ศาสนาอิสลามในอดีต และการนำศาสนาอิสลามเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาของประเทศมาเลเซีย โดยไม่ปฏิเสธหลักการทางวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้จากตะวันตกที่ไม่ขัดกับหลักการทางศาสนาอิสลาม
การเคลื่อนไหวของขบวนการดาก์วะห์ในมาเลเซียมีการเคลื่อนไหวในระดับองค์กร และมีมุสลิมเข้าร่วมเป็นสมาชิกจำนวนมาก โดยในมาเลเซียมีองค์กรมุสลิมหลายกลุ่ม เช่น Jamaat Tabligh, Darul Arqam, Angatan Belia Islam –ABIM ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นอกจากนี้พรรคการเมืองในมาเลเซีย เช่น พรรคพาส (Parti Islam Se-Malaysia) เป็นต้น
การเคลื่อนไหวของขบวนการดาก์วะห์ในมาเลเซียมีพลังอย่างมาก ซึ่งในเวลาต่อมากอิทธิพลจากการเคลื่อนไหวส่งผลให้รัฐบาลนำหลักการของขบวนการดาก์วะห์มาใช้ในการขับเคลื่อนประเทศ รวมทั้งขจัดอิทธิพลของขบวนการดาก์วะห์ที่รัฐบาลเห็นว่าอาจส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศมาเลเซีย เช่น นโยบายเศรษฐกิจใหม่ (The New Economic Policy –NEP.) ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศใช้เมื่อ ค.ศ. 1971 ซึ่งเป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มภูมิบุตร (มุสลิมเชื้อสายมลายู) ค.ศ. 1981 รัฐบาลก่อตั้ง Yayasan Dakwah Islamiah (Islam Dakwah Foundation) เป็นขบวนการดาก์วะห์ภายใต้การดูแลของรัฐบาล ตลอดจนการตั้งธนาคารอิสลามขึ้นในมาเลเซีย ค.ศ. 1983
ภัทรมน กาเหย็ม
ธันวาคม 2559