ศ. ดร. ซัยยิด มูฮัมหมัด นากิบ อัล-อัตตาส (Syed Muhammad Naquib al-Attas) เป็นปัญญาชนมุสลิมที่มีความเชี่ยวชาญหลายด้าน และเป็นที่ยอมรับในบรรดามุสลิมสมัยใหม่ ทั้งด้านอภิปรัชญาศาสนาอิสลาม ประวัติศาสตร์มลายูและอิสลาม รวมทั้งวรรณกรรมมลายู และเป็นผู้เสนอกระบวนการองค์ความรู้อิสลาม (Islamization of knowledge)
นากิบ อัล-อัตตาส เกิดที่เมืองโบกอร์ ในเกาะชวาตะวันตก เมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1931 ในครอบครัวชนชั้นนำเชื้อสายอาหรับ-ฮัดรามี (Hadrami-Arab) เขาสำเร็จการศึกษาในระดับประถมจาก Sekolah Dasar Ngee Heng รัฐยะโฮร์ ค.ศ. 1936-1941 และ Madrasah Al-'Urwah Al-Wutsqaai ค.ศ. 1941-1945 ช่วงเวลาที่นากิบ อัล-อัตตาส ศึกษาที่ยะโฮร์ เขาได้สัมผัสกับความกระตือรือร้นของนักเคลื่อนไหวมุสลิมในช่วงส่งครามโลกครั้งที่สอง และการแพร่สะพัดของวรรณกรรมศาสนาและวรรณกรรมคลาสิคตะวันตก ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่บ่มเพาะประสบการณ์ให้นากิบ อัล-อัตตาส สะสมประสบการณ์ด้านงานเขียนและการอ่านงานวิชาการ หลังจากนั้นเขาได้เข้าเรียนที่สถาบันฝึกหัดทหาร Royal Military Academy ประเทศอังกฤษ ในขณะที่เขาศึกษาอยู่ในยุโรป เขาเดินทางไปศึกษาและเก็บข้อมูลที่ห้องสมุดของสถาบันต่างๆ และเดินทางไปศึกษาแหล่งอารยธรรมอิสลาม หลังจากนั้น เขาตัดสินใจลาออกจากกองทหารมลายู เพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ University of Malaya ในสิงคโปร์ ระหว่าง ค.ศ. 1957-1959 เขาเรียนต่อที่ University McGill และระดับปริญญาเอกที่ University London
เมื่อสำเร็จการศึกษา เขาได้กลับมาทำงานที่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (University Kebangsaan Malaysia (UKM) โดยเขาเป็นหัวหน้าภาควิชาวรรณกรรมภาษามลายูและวรรณคดี (Ketua Jurusan Bahasa dan Sastra Melayu) ค.ศ. 1965-1968 และดำรงตำแหน่งเป็นคณบดี คณะศิลปศาสตร์ ค.ศ. 1968-1970 อีกทั้งเขาร่วมก่อตั้ง สถาบันภาษาวรรณกรรมและวัฒนธรรมมลายู (lBKKM) ใน ค.ศ. 1973 และเป็นหัวหน้าภาควิชาวรรณคดี ที่คณะมลายูศึกษา และเป็นคณบดี คณะศิลปศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมลายา ต่อมาเขาเป็นอาจารย์สาขาอิสลามศึกษาที่ University Temple ที่ฟิลาเดลเฟีย ค.ศ. 1976-1977 นอกจากนั้น เขาเป็นที่ปรึกษาด้านอิสลามให้กับ UNESCO เขาได้รับรางวัล "Iqbal Centenary Commemorative Medal" จากประธานาธิบดีปากีสถาน ค.ศ. 1978 และตั้งแต่ 1987 เขาดำรงตำแหน่งอธิการบดี Institute of Islamic Thought and Civilization (ISTAC) ประเทศมาเลเซีย
ผลงานด้านวรรณกรรมลายูและวรรณกรรมอิสลาม เขาประพันธ์ Rangkaian Ruba'iyyat เป็นครั้งแรก ค.ศ. 1959 ในขณะที่กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษา และเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง The Mysticism of Hamzah Fansuri ค.ศ. 1963 ซึ่งเป็นงานทางวิชาการเกี่ยวกับลัทธิซูฟี ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ที่ได้รับการยอมรับและอ้างอิงจนถึงทุกวันนี้ ในแวดวงวิชาการมลายูและอิสลาม เขาเป็นผู้มีบทบาทและทรงอิทธิพลของนักคิดมุสลิมสมัยใหม่ ผลงานของเขามีข้อเสนอใหม่หลายประการที่น่าสนใจ เช่น อิทธิพลของภาษามลายูในการสร้างชาติ ซึ่งต่อมาข้อเสนอของเขาเป็นที่ยอมรับทั้งในแวดวงวิชาการและมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการใช้ภาษามลายูเป็นภาษาประจำชาติ
แนวคิดด้านศาสนาอิสลาม นากิบ อัล-อัตตาส ให้ความสำคัญกับการศึกษาองค์ความรู้จากตะวันตก เขามองว่า การศึกษาองค์ความรู้จากตะวันตก เป็นองศ์ความรู้ใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง ส่วนองค์ความรู้ของศาสนาอิสลามเป็นข้อเท็จจริงที่ประทานจากพระเจ้า ส่วนสภาวะแวดล้อมในบริบทโลกเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ได้รับการอธิบายไวแล้วในอัลกุรอาน ทัศนคติของนากิบ อัล-อัตตาส ต่อแนวคิดองค์ความรู้อิสลาม (Islamization of knowledge) เน้นการทำความเข้าใจและตอบสนองทางด้านร่างการและจิตวิญญาณอิสลาม และผลกระทบที่มีต่อตนเองและผู้อื่น องค์ความรู้อิสลามถูกเสนอเมื่อ ค.ศ. 1978 ในหนังสือ Islam and Secularism ที่แสดงให้เห็นว่า องค์ความรู้อิสลาม เป็นองค์ความรู้ที่ครอบคลุมทุกบริบทในสังคม และครอบคลุมวิถีชีวิตของมุสลิม นากิบ อัล-อัตตาส ได้เสนอกระบวนการในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้สอดคล้องกับหลักการของศาสนาอิสลาม หรือ การพัฒนาทางวัตถุไปพร้องกับการพัฒนาจิตวิญญาณของอิสลาม เพื่อสร้างดุลยภาพ ซึ่งเป็นการสร้างการบูรณาการทั้งด้านศาสตร์ศาสนาอิสลามและศาสตร์ทางโลกเข้าด้วยกัน นากิบ อัล-อัตตาส ให้ความสำคัญกับการศึกษารูปแบบใหม่ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาในสังคมมาเลเซียอย่างเป็นระบบ เนื่องจากอัลอัตตัสเห็นว่า การศึกษาทุกแขนงวิชาควรเป็นไปตามแนวทางของศาสนาอิสลาม
แนวคิดของนากิบ อัล-อัตตาส มีอิทธิพลต่อมุสลิมในไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการปฏิรูปการเรียนการสอน และหลักสูตรในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในประเทศไทย แนวคิดนี้เข้ามามีอิทธิพลในสังคมมุสลิมไทยราว ทศวรรษที่ 1990 โดยมีการเคลื่อนไหวของมุสลิมรุ่นใหม่ เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มกันเพื่อหารือเรื่องหลักหาร วิธีการ แนวทางการจัดการหลักสูตรและปรับปรุงตำราเรียนให้มีความเหมาะสม โดยเน้นการเรียนการสอนในศาสตร์ทั่วไปกับศาสตร์ของศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับมาเลเซีย
ภัทรมน กาเหย็ม
ธันวาคม 2559