มุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี มีวิถีปฏิบัติทั้งหลากหลายและคล้ายคลึงกัน ความหลากหลายเป็นผลมากจากการรับศาสนาอิสลามและกระบวนการเรียนรู้ด้านศาสนาอิสลามที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมในท้องถิ่น และบริบทจากโลกมุสลิมในขณะนั้น ประกอบกับพัฒนาการการรับศาสนาอิสลามที่มีมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะการรับศาสนาอิสลามจากมุสลิมลัทธิซูฟี (Sufism)
ซูฟี หรือ ลัทธิซูฟี คือ คติความเชื่อด้านจริยธรรม ซึ่งเน้นการประกอบศาสนกิจอย่างเคร่งครัด อันเป็นหนทางสู่การใกล้ชิดพระเจ้า ในลักษณะลัทธินิยมที่เชื่อความลีลับของศาสนาอิสลาม นักซูฟีเชื่อว่าสรรพสิ่งล้วนแต่เกิดจากพระเจ้าเป็นผู้สร้าง และสรรพสิ่งเหล่านั้นจะหวนคืนสู่พระเจ้า นักซูฟีจึงมุ่งทำจิตใจให้สงบ ระลึกถึงพระเจ้า ละทิ้งความปรารถนาต่างๆ และอุทิศตนเพื่อพระเจ้า มุสลิมรุ่นใหม่ค้นคว้าที่มาของซูฟี แต่ยังไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนนัก สันนิษฐานว่า ซูฟีมาจากคำว่า ซูฟในภาษาอาหรับ แปลว่าขนสัตว์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์จากการแต่งกายของนักซูฟีในอดีต ที่นิยมสวมใส่เสื้อผ้าจากขนสัตว์
แนวทางการปฏิบัติของนักซูฟีเกิดขึ้นพร้อมๆกับการประกาศศาสนาอิสลามของท่านศาสดามุฮูมหมัด โดยลักษณะของซูฟีสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท ประเภทแรก คือ ซูฟีที่สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลามด้วยการยึดอัลกุรอานและหะดิษ มุสลิมเหล่านี้มักถือความสันโดษ ซึ่งเชื่อว่าเป็นหนทางสู่พระเจ้า มุสลิมเหล่านี้มักปลีกตัวเองออกจากสังคมที่วุ่นวาย และสังคมที่ไม่เป็นศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง ส่วนประเภทที่สอง เป็นซูฟีที่ยึดการประกอบพิธีกรรมและการปฏิบัติตนเพื่อเป็นหนทางสู่การใกล้ชิดพระเจ้า และเชื่อในสิ่งลี้ลับที่ไม่สามารถใช้ตรรกะในการอธิบายได้ ซึ่งบางพิธีกรรมอาจไม่ปรากฏในหะดิษ
ศาสนาอิสลามจากลัทธิซูฟี เข้ามามีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ช่วงก่อนอาณานิคม บริเวณเกาะสุมาตรตอนเหนือ และคาบสมุทรมลายู โดยได้รับอิทธิพลจากนักซูฟีจากอินเดีย การเผยแผ่ศาสนาอิสลามและคำสอนจากซูฟี เน้นย้ำให้มุสลิมมีชีวิตสันโดษ มุ่งสู่ความสงบ การเสียสละ และการบำเพ็ญตนเพื่อศาสนาอิสลาม ซึ่งวิถีปฏิบัติไม่แตกต่างจากมุสลิมซูฟีจากที่อื่นๆมากนัก
การแผ่ขยายเข้ามาของซูฟี ทำให้ชาวพื้นเมืองรับศาสนาอิสลามมากขึ้น เนื่องจากความเชื่อของซูฟีสามารถผสานกับความเชื่อจารีตได้ง่าย (adat) เช่น การเผยแผ่ศาสนาอิสลามจากลัทธิที่อาเจะห์ (Aceh) ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 ด้วยการเผยแผ่ศาสนาอิสลามจากมินักซูฟี ซึ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการศรัทธาต่อพระเจ้าเป็นอันดับแรก แต่ซูฟีไม่ได้เข้มงวดและบังคับให้ละทิ้งความเชื่อของจารีตดั้งเดิม ซึ่งหลักการของลัทธิซูฟีบางอย่างสามารถเข้ากันได้กับความเชื่อและศาสนาฮินดูที่เข้ามามีอิทธิพลก่อนหน้านี้
รูปแบบของลัทธิซูฟีในภูมิภาค สะท้อนให้เห็นถึงการผสานระหว่าง จารีต และหลักการของศาสนาอิสลาม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของสังคมมลายูที่ให้ความสำคัญกับจารีตในลักษณะอนุรักษ์นิยม ส่งผลให้ศาสนาอิสลามแพร่หลายและได้รับความนิยมมากขึ้น อย่างไรก็ตามในระยะเวลาต่อมา ศาสนาอิสลามเข้ามามีอิทธิพลเหนือวัฒนธรรมจารีตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากในช่วงต้น ซูฟีไม่ได้หวังผลที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองมีเพียงการเปลี่ยนแปลงแนวคิดจารีตบางอย่างเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในคาบสมุทรมลายู ซูฟีเน้นการเผยแผ่ศาสนาอิสลามผ่านชนชั้นนำมลายู เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ศาสนาอิสลามมีความมั่นคง รวมทั้งสถานะของราชาด้วยเช่นกัน ภายหลังกระแสการฟื้นฟูศาสนาอิสลามมีอิทธิพลในภูมิภาค การถกเถียงและต่อต้านลัทธิซูฟีเกิดขึ้นทั่วไปในสังคมมุสลิม อย่างไรก็ตาม ศาสนาอิสลามลัทธิซูฟียังคงหยั่งรากลึกในสังคมมุสลิมจนถึงปัจจุบัน
ภัทรมน กาเหย็ม
ธันวาคม 2559