ดารุลอาร์กอม (Darul Arqam) เป็นขบวนการดาก์วะห์ที่เคลื่อนไหวในมาเลเซีย และทรงอิทธิพลต่อความคิดมุสลิมในมาเลเซียอย่างมาก
ดารุลอาร์กอม ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 โดยมีนายอัสชารี มูฮัมมัด (Ashari Muhammad) เป็นหัวหน้า ศูนย์กลางการเคลื่อนไหวอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ และสาขาที่เมืองเกอมา ในรัฐตรังกานู และเมืองยัน ในรัฐเคดะห์ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นมุสลิมที่ผ่านการศึกษาศาสนาอิสลามขั้นพื้นฐาน และมีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นจากตะวันออกกลาง และมีสมาชิกส่วนหนึ่งมาจากการแยกตัวจากพรรคพาส ภายหลังจากพรรคพาสเข้าร่วมรัฐบาลใน ค.ศ. 1970 ดารุลอาร์กอม ได้รับความนิยมจากบรรดามุสลิมในมาเลเซียมากขึ้น ซึ่ง ค.ศ. 1976 ดารุลอาร์กอมมีนักเรียนเข้ามาเรียนภายในโรงเรียนของชุมชนมากกว่า 800 คน
ดารุลอาร์กอม มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสังคมให้เข้มแข็งตามแนวทางของหลักการศาสนาอิสลาม และขจัดความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่งมงาย แต่ลึกๆแล้ว ดารุลอาร์กอมมีลักษณะยึดมั่นในแนวคิดของซูฟี ดารุลอาร์กอมเน้นการเคลื่อนไหวตามแนวทางของการดาก์วะห์ ซึ่งทุกคืนวันพุธทางกลุ่มจะมีการให้ความรู้แก่สมาชิก เกี่ยวกับการอธิบายอัลกุรอาน (Koranic Tafsir) ศาสนสถาน (Tauhid) และหลักเกี่ยวกับนิติศาสตร์ (Figh) นอกจากนั้น ทางดารุลอาร์กอมได้ตีพิมพ์ หนังสือพิมพ์ Al Arqam เพื่อเผยแผ่แนวคิด กิจกรรม วิจารณ์สภาพสังคมมาเลเซีย และเผยแพร่ข่าวสารของโลกมุสลิม โดยตีพิมพ์เป็นภาษามลายู อักษรอาหรับ
การเคลื่อนไหวของ ดารุลอาร์กอม มีจุดเด่นที่สำคัญ คือ การสร้างชุมชนต้นแบบแก่สังคมมุสลิมมาเลเซีย ด้วยการพยายามสร้างชุมชนเล็กๆ ภายใต้แนวคิดอุมมะห์ (Ummah) ภายในชุมชนประกอบไปด้วยโรงเรียน สุเหร่า คลินิก และสิ่งบริการต่างๆแก่สมาชิก เน้นการปกครองกันเองในหมู่สมาชิก การการควบคุมเศรษฐกิจของชุมชน การผลิตสินค้าฮาลาล (Halal) และเกษตรกรรมในชุมชน โดยจัดให้ใกล้เคียงกับชุมชนผู้เผยแพร่ศาสนาในสมัยศาสดามูฮัมมัด (Prophet Mohammad)
เมื่อกระแสการฟื้นฟูศาสนาอิสลามเข้ามามีอิทธิพลในมาเลเซีย ใน ค.ศ. 1981 การเติบโตของดารุลอาร์กอมเป็นที่น่าสนใจจากทางรัฐบาล รัฐบาลได้เชื้อเชิญให้ดารุลอาร์กอมเข้ามามีบทบาทในการเผยแผ่ศาสนาอิสลามร่วมกับภาครัฐ รัฐบาลได้ตระหนักถึงอิทธิพลของขบวนการดาก์วะห์อย่างยิ่ง ซึ่งในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี นายฮุซ เซน ออน (Tun Hussein Onn ค.ศ. 1976-1981) ได้พยายามควบคุมสถานการณ์การถกเถียงประเด็นทางศาสนาและ เข้าควบคุมขบวนการดาก์วะห์ เนื่องจากข้อถกเถียงบางประการถูกนำมาเชื่อมโยงและนำไปสู่ข้อเรียกร้องในการนำกฎหมายอิสลาม (Shariah) มาใช้เป็นกฎหมายสูงสูดของประเทศ
ต่อมา ค.ศ. 1994 รัฐบาลเห็นว่า การเคลื่อนไหวของดารุลอาร์กอมเป็นภัยต่อความมั่นคงประเทศจากการสะสมกลุ่มคนและพยายามแทรกแนวคิดของกลุ่มต่อสมาชิก รัฐบาลได้สั่งห้ามการเคลื่อนไหวของสมาชิกดารุลอาร์กอม และจับกุมนายอัสชารีได้ที่ประเทศไทยและนำตัวมาดำเนินคดีในประเทศมาเลเซีย เหตุการณ์นี้ถือเป็นการยุติบทบาทการเคลื่อนไหวของดารุลอาร์กอมในมาเลเซีย
ภัทรมน กาเหย็ม
ธันวาคม 2559