ปอเนาะ (Pondok หมายถึง กระท่อม มาจากรากศัพท์ภาษาอาหรับ funduq ซึ่งหมายถึง ที่พำนักชั่วคราว) คือ สถานศึกษาศาสนาอิสลามแบบท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับความนิยมตั้งแต่ยุคจารีต ซึ่งในเวลาต่อมาปอเนาะทวีความสำคัญมากขึ้นในฐานะแหล่งบ่มเพาะความคิดมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศาสนาอิสลามแผ่ขยายเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 ท่ามกลางความเชื่อแบบจารีต อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธ ส่งผลต่อการนับถือศาสนาอิสลามในช่วงต้นมีลักษณะหย่อนคลาย แม้ว่าความศรัทธาต่ออัลเลาะห์ ศาสดามูฮัมหมัดและคัมภีร์อัลกุรอานยังคงเป็นหลักสำคัญของความเชื่อและความศรัทธา แต่ในวิถีปฏิบัติความเชื่อที่ไม่ใช่เกี่ยวข้องกับหลักศาสนาอิสลามยังคงครอบงำสังคมมุสลิมอยู่ไม่น้อย การให้ความสำคัญต่อการศึกษาศาสนาอิสลามจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการธำรงอยู่ของศาสนาอิสลามและการผนวกโลกมุสลิมเข้าไว้ด้วยกัน
สถานศึกษาในเอเชียตะวันนออกเฉียงใต้ เริ่มต้นด้วยการเกิดมัดราซะฮ์ (Madrasah) ในชวา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีลักษณะเป็นที่พักและสถานศึกษาคัมภีร์ทางศาสนา ตั้งอยู่บริเวณของผู้รู้ทางศาสนา การตั้งชื่อเป็นไปตามความนิยม โดยส่วนใหญ่มักตั้งตามพื้นที่ หรือ ชื่ออูลามาคนสำคัญ ซึ่งคล้ายกับสถานศึกษาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและพุทธเพียงแต่เป็นการศึกษาศาสนาอิสลาม วิธีเรียนเป็นแบบกางตำราทางศาสนาแล้วอ่านออกเสียงตามผู้รู้ทางศาสนา แล้วถอดความเป็นภาษาท้องถิ่น ต่อมัดราซะฮ์เปลี่ยนมาใช้คำว่า เปสันเตร็น (Pesantren) ส่วนปอเนาะเป็นคำที่ใช้ในแถบประเทศมาเลเซียและสามจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย
ศาสนาอิสลามไม่มีนักบวช มีเพียงผู้รู้ทางศาสนา ได้แก่ อูลามา โต๊ะครู และฮัจจี ทำหน้าที่สอนและเผยแผ่ศาสนาอิสลาม ผู้รู้ทางศาสนาเหล่านี้ต่างผ่านกระบวนการเผยแผ่ศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้ง เริ่มด้วยความศรัทธาในศาสนาอิสลาม การยอมรับและเข้าใจในหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติ และเข้าถึงขั้นสูงสุดในการอ่านและสามารถตีความคัมภีร์อัลกุรอานและหะดิษ (hadith) เมื่อเข้าใจศาสนาอิสลามอย่างถ่องแท้ ผู้รู้เหล่านี้จะทำหน้าที่ในการสอนศาสนาอิสลามให้กับผู้ที่ศรัทธาต่อศาสนาอิสลาม
ยุคจารีตถึงช่วงอาณานิคม การสอนศาสนาอิสลามไม่มีการจัดการระบบการศึกษาที่ตายตัว เนื้อหาการเรียนการสอนเกี่ยวกับหลักศาสนาอิสลาม การดำรงชีวิตของมุสลิมที่ดีและสอดคล้องกับประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่นำมาจากหลักคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอาน ความรู้ที่ได้รับจึงขึ้นอยู่กับผู้สอนเป็นหลัก ต่อมาการศึกษาศาสนาอิสลามในยุคอาณานิคมได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้ปอเนาะกลายเป็นแหล่งผลิตผู้รู้ทางศาสนา ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับสูงจากปอเนาะท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเดินทางไปศึกษาศาสนาอิสลามเพิ่มเติมยังอินเดียหรือตะวันออกกลาง และเดินทางไปประกอบพิธีฮัจจ์ เมื่อเดินทางกลับมายังมาตุภูมิมุสลิมเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในท้องถิ่น ซึ่งได้รับการนับถือและเสมือนเป็นผู้นำชุมชนซึ่งมีอิทธิพลต่อคนในสังคมมุสลิมยุคอาณานิคมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ยุคปลายอาณานิคมการศึกษารูปแบบปอเนาะได้รับการวิจารณ์จากรัฐบาลอาณานิคมอย่างมาก โดยเฉพาะการการสอนแบบจารีตที่ไม่พัฒนาและมีความล้าหลัง โดยเฉพาะเรื่องหลักสูตรและการวัดความรู้ที่เป็นมาตรฐาน รัฐบาลอาณานิคมจึงใช้นโยบายเข้าควบคุมสถานศึกษาของชาวพื้นเมือง ด้วยการควบคุมให้การศึกษาทั้งทางโลกและทางศาสนาขึ้นอยู่กับรัฐบาล การให้การสนับสนุนปอเนาะของรัฐบาลอาณานิคมนั้น เพื่อที่จะเข้าแทรกแซงและควบคุมการจัดการเรียนการสอนและปฏิรูปให้การศึกษามีความทันสมัย และควบคุมการต่อต้านเจ้าอาณานิคม
นโยบายทางการศึกษาของรัฐบาลมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นให้มุสลิมมีความสนใจต่อการศึกษาศาสนาอิสลาม ปอเนาะยังคงเป็นสถานศึกษาที่ได้รับความนิยมจากบรรดามุสลิมบริเวณในคาบสมุทรมลายู เมื่อมุสลิมได้รับการศึกษาที่ดีและเริ่มมีโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้น ความรู้สึกตระหนักถึงการคุกคามของชาวตะวันตกทั้งการล่วงล้ำดินแดนและการล่วงล้ำทางศาสนา มุสลิมส่วนหนึ่งนำศาสนาอิสลามมาเป็นเอกลักษณ์เด่นในการสร้างสำนึกร่วมกันโดยเฉพาะในช่วงปลายอาณานิคม ในเวลาต่อมาปอเนาะจึงเป็นแหล่งบ่มเพาะนักปฏิรูปศาสนา ทั้งกลุ่มที่เน้นการหวนกลับไปสู่พื้นฐานของศาสนา (Fundamentalism) และกลุ่มสมัยใหม่ (Modernism) โดยทั้งสองกลุ่มมีการปรับปรุงการศึกษาศาสนาอิสลาม ปอเนาะในช่วงอาณานิคมจึงมีความสำคัญทั้งการเป็นแหล่งเรียนรู้ศาสนาอิสลามเบื้องต้นของเหล่านักปฏิรูป และเป็นเป้าหมายของการปฏิรูปด้วยเช่นกัน
ปอเนาะในช่วงปลายอาณานิคมจนถึงช่วงสร้างชาติ มีการปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนขนานใหญ่ ซึ่งนอกเหนือจากการสอนศาสนาอิสลาม ยังมีการผนวกวิชาสามัญ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาตะวันตก ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วรรณคดี และอื่นๆ เข้าไปในหลักสูตร มีการกำหนดตารางเรียน ระดับชั้นเรียน ตำราเรียน การสอบ การให้คะแนน และการมอบวุฒิการศึกษา และยกเลิกรูปแบบโรงเรียนกินนอน ปอเนาะบางที่ใช้ระบบสหศึกษาที่มีทั้งเพศชายและหญิงเรียนรวมกัน ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในระยะเริ่มแรกมีการต่อต้านจากผู้รู้ทางศาสนาที่เน้นปอเนาะรูปแบบเดิมอยู่บ้าง แต่ผู้รู้ทางศาสนาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปฏิรูปการเรียนการสอนศาสนาอิสลามให้เป็นระบบมากขึ้น แต่ในส่วนอุดมการณ์ทางศาสนาของกลุ่มที่เน้นการหวนกลับไปสู่พื้นฐานของศาสนา และกลุ่มสมัยใหม่ยังคงเป็นไปตามอิทธิผลจากผู้รู้ทางศาสนา
สำหรับปอเนาะในประเทศไทยมีการปฏิรูป ซึ่งได้รับอิทธิพลจากคาบสมุทรมลายูด้วยเช่นกัน ทว่าพลังการสร้างนักปฏิรูปมีไม่มากนัก เนื่องจากผู้เรียนปอเนาะมีอายุน้อยส่วนใหญ่จะเล่าเรียนปอเนาะในท้องถิ่นเพื่อดำรงชีวิตและสร้างความเข้าใจต่อศาสนาอิสลามขึ้นพื้นฐานเท่านั้น อย่างไรก็ตามแนวคิดของนักปฏิรูปศาสนาอิสลามมีสองกลุ่มเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการได้รับอิทธิพลจากการศึกษาศาสนาอิสลามขั้นสูงจากต่างแดนมากกว่าการได้รับอิทธิพลจากปอเนาะในท้องถิ่น
ภัทรมน กาเหย็ม
สิงหาคม 2559