ประเทศมาเลเซียมีลักษณะพหุสังคมที่ประกอบไปด้วยประชากรหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งมลายู จีน และอินเดีย โดยประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม วัฒนธรรมของชาวมลายูส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลของศาสนาอิสลามอย่างแยกไม่ออก อย่างไรก็ตาม ศาสนาอิสลามมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อนโยบายและการบริหารจัดการประเทศอย่างมาก ซึ่งศาสนาอิสลามแต่ละช่วงเวลานั้นมีลักษณะแต่ต่างกันไปซึ่งขึ้นอยู่กับบริบท ณ ขณะนั้น
แรกเริ่มของการรับศาสนาอิสลามในคาบสมุทรมลายูยังไม่มีหลักฐานที่ระบุแน่ชัดว่าประชาชนในคาบสมุทรมลายูรับศาสนาอิสลามมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่คาดว่าการเข้ามาของศาสนาอิสลามเกิดจากความเจริญเติบโตของการค้าในคาบสมุทรมลายู ซึ่งมีการค้นพบศิลาจารึกบนหลุมฝังศพของสตรีมุสลิมที่บรูไนระบุ ค.ศ. 1048 และมีหลักฐานอ้างอิงชิ้นแรกที่กล่าวถึงชุมชนมุสลิมในสมัยจารีต โดยเป็นบันทึกเรื่องราวของมาร์โค โปโล เมื่อ ค.ศ. 1292 ซึ่งบันทึกว่าเมืองเปอร์ลัค (Perlak) ในสุมาตราตอนเหนือได้นับถือศาสนาอิสลามแล้ว และมีศิลาจารึกตรังการนู (Terengganu Stone) แต่มีการระบุปีที่จารึกไม่ชัดเจน โดยระบุ ค.ศ.1326 หรือ ค.ศ. 1380
การรับศาสนาอิสลามในมาเลเซียเป็นนิกายซุนนี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพ่อค้ามุสลิมอินเดียและอาหรับ ศาสนาอิสลามจึงเริ่มแพร่หลายในดินแดนแถบนี้ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากนัก เนื่องจากพ่อค้าเหล่านี้มีบทบาทเพียงเผยแผ่ทัศนคติ และวิถีชีวิตบางประการเท่านั้น จนกระทั้งปลายรัชสมัยของสุลต่านมุสซัฟฟาร์ (ค.ศ.1445-1459) แห่งอาณาจักรมะละกาได้สถาปนาศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งรัฐ ศาสนาอิสลามจึงได้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ในสังคมยุคจารีตอุดมคติทางศาสนามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองและการบริหาร โดยเฉพาะการนำหลักศาสนาอิสลามเป็นกฎหมายของรัฐ อย่างไรก็ตามแม้ประชากรส่วนใหญ่จะหันมานักถือศาสนาอิสลามแล้ว แต่สภาพสังคมในขณะนั้นยังคงเต็มไปด้วยการปะปนความเชื่อทางไสยศาสตร์และจารีต จนกระทั้ง การเปลี่ยนผ่านจากยุคจารีตสู่ยุคอาณานิคมของมาเลเซีย ภายใต้การสถาปนาอาณานิคมของอังกฤษบนคาบสมุทรมลายู ค.ศ.1826-1957
สภาพสังคมของชาวมลายูและศาสนาอิสลามถูกจัดการผ่านระบอบอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งอังกฤษไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการจัดการศาสนาอิสลามโดยตรง แต่อังกฤษได้ควบคุมหน่วยงานทางศาสนาให้สอดคล้องกับนโยบายและการบริหารอาณานิคม อังกฤษให้สิทธิ์การบริหารจัดการด้านศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมมลายูแก่ชนชั้นนำมลายู (กลุ่มผู้ปกครองเดิมและผู้รู้ทางศาสนา) ในหน่วยงานศาลศาสนาที่อยู่ภายใต้สภาแห่งรัฐ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสูงสุดในระบอบอาณานิคม โดยอังกฤษแต่งตั้งให้สุลต่านทำหน้าที่เป็นประมุขสูงสุดในศาลศาสนา ทั้งนี้ศาสนาอิสลามถูกจำกัดอยู่เพียงการจัดการกฎหมายครอบครัว และการปฏิบัติศาสนกิจของชาวมลายูเท่านั้น โดยที่กฎหมายหลักยังคงเป็นกฎหมายของอังกฤษ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดแห่งรัฐอาณานิคม ศาสนาอิสลามในยุคอาณานิคมเน้นการจัดการเฉพาะชาวมลายู ส่งผลชาวมลายูพิทักษ์สิทธิของตนในเรื่องการจัดการด้านศาสนาอิสลาม ส่งผลให้มุสลิมมลายูมีเริ่มเคลื่อนไหวในการปกป้องศาสนาอิสลาม
กลุ่มเคลื่อนไหวศาสนาอิสลามแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย คือ กลุ่มอนุรักษ์นิยม (kaum tua) และปฏิรูป (kaum muda) ซึ่งทั้งสองกลุ่มต่างช่วงชิงอำนาจและสร้างความชอบธรรมในการบริหารศาสนาอิสลามและเน้นการนำหลักศาสนาอิสลามเป็นอุดมการณ์ในการเคลื่อนไหว จนกระทั้งช่วงปลายอาณานิคม กลุ่มเคลื่อนไหวศาสนาอิสลามเหล่านี่พัฒนาเป็นกลุ่มการเมืองเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ โดยมีเครือข่ายทั้งในอาณานิคมมลายาของอังกฤษและในหมู่เกาะอินโดนีเซีย เช่น พรรคอัมโน (United Malays National Orginisation) พรรคพาส (Pan-Malaysian Islamic Party) ขบวนการยุวชนมุสลิมแห่งมาเลเซีย (ABIM) กลุ่มดารุลอาร์กอม (Darul Arqam) เป็นต้น กลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามเหล่านี่มีอิทธิพลอย่างมากในมาเลเซียหลังได้รับเอกราช
หลังมาเลเซียได้รับเอกราช ศาสนาอิสลามเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อแนวทางการบริหารประเทศ แม้ว่ามาเลเซียใช้ระบอบประชาธิปไตยในการบริหารประทศ และแยกเรื่องที่เกี่ยวของกับศาสนาออกจากการเมืองอย่างชัดเจน แต่ได้ผนวกการนิยาม “ภูมิบุตร” หรือ บุตรของแผ่นดิน ซึ่งระบุว่าภูมิบุตรคือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งศาสนาอิสลามกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวมลายู ช่วงทศวรรษที่ 1980 ชาวมลายูได้รับอิทธิพลต่อการฟื้นฟูศาสนาอิสลามที่แผ่ขยายทั่วโลกโดยเฉพาะการเคร่งครัดศาสนาอิสลามมากยิ่งขึ้นและศาสนาอิสลามยังมีอิทธิผลต่อการบริหารประเทศและนโยบายต่างๆอย่างที่ไม่เคยเกินขึ้นมาก่อน อุดมการณ์ฟื้นฟูศาสนาอิสลามในมาเลเซียได้รับอิทธิพลมาจากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะความจำเป็นในการปรับตัวของมุสลิมสายซุนนี ภายหลักเหตุการณ์ปฏิวัติศาสนาอิสลาม ค.ศ. 1979 ในอิหร่าน การเคลื่อนไหวในปาเลสไตน์
รัฐบาลมาเลเซียมีความพยายามวางแนวทางจัดการประเทศด้วยการคำนึงถึงลักษณะพหุสังคมและการนำหลักการของศาสนาอิสลามมาใช้ในการบริหารประเทศ (Islamization) ส่งผลให้ศาสนาอิสลามกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินนโยบายของชาติในลักษณะกระบวนการทำให้เป็นอิสลาม ปัจจัยทางการเมืองกลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญของศาสนาอิสลามในมาเลเซีย การแข่งขันอำนาจทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน พรรคอัมโนซึ่งเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลให้ความสำคัญกับศาสนาอิสลามในฐานะศาสนาของคนส่วนใหญ่ ซึ่งได้รับความนิยมจากชาวมาเลเซียทั้งมุสลิมและผู้นับถือศาสนาอื่น ส่วนพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคพาส ให้ความสำคัญกับศาสนาอิสลามในฐานะศาสนาของชาวมลายู ซึ่งทั้งสองพรรคต่างขับเคี่ยวกันในเชิงนโยบาย พรรคพาสเรียกร้องให้นำหลักศาสนาอิสลามมาเป็นกฎหมายสูงสูดของรัฐ แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับความนิยมบางพื้นที่เท่านั้น เช่น ในรัฐกลันตันและตรังกานูซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายู การยึดอุดมการณ์ศาสนาอิสลามเป็นแนวทางในการเคลื่อนไหวทางการเมืองส่งผลต่อการปฏิรูปสังคมที่เน้นแนวทางอิสลามควบคู่ไปกับการสร้างสังคมที่ทันสมัย ซึ่งการบวนการทำให้เป็นอิสลามช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นการตื่นตัวของมุสลิมทั่วโลก รวมทั้งในในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ศาสนาอิสลามในมาเลเซียมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่การรับศาสนาอิสลามและการนำศาสนาอิสลามเป็นแนวทางในการปริหารประเทศ ส่วนกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาอิสลามในมาเลเซียมีปัจจัยสำคัญทั้งลักษณะพหุสังคมและปัจจัยภายนอกจากโลกมุสลิมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ
ภัทรมน กาเหย็ม
สิงหาคม 2559