ทิพา นูสันตารา ไอดิต (Dipa Nusantara Aidit) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเมืองอินโดนีเซียภายหลังได้รับเอกราช เขาเป็นผู้ที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งภายหลังจากที่ถูกปรามปรามในช่วงก่อนที่อินโดนีเซียจะได้รับการยอมรับอธิปไตยอย่างเป็นทางการจากดัตช์ แนวคิดมาร์กซิสต์ของเขาเป็นไปในแนวทางของการยืดหยุ่นอย่างไม่ตายตัว ซึ่งได้นำมาซึ่งความเจริญของ PKI ในฐานะหนึ่งในพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
ทิพา นูสันตารา ไอดิต มีชื่อเดิมว่า อาห์หมัด ไอดิต เขาเป็นชาวสุมาตรา เกิดเมื่อ 30 กรกฎาคม ปี 1923 ก่อนที่เขาจะได้เข้ามาโลดแล่นในวงการการเมืองและการเคลื่อนไหวชาตินิยมตามแนวทางของคอมมิวนิสต์ เขาได้เข้าร่วมกับองค์กรชาตินิยมฝ่ายซ้ายอย่าง Gerindo หากแต่ว่าในช่วงที่เขาได้อยู่ใน Gerindo ไอดิตเองก็มิได้มีโอกาสในการศึกษาแนวคิดของคอมมิวนิสม์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อดินแดนหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ตกอยู่ภายใต้บริบทของสงครามโลครั้งที่ 2 และถูกบุกยึดโดยกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายญี่ปุ่นที่มีต่อกลุ่มขบวนการชาตินิยมอันจะเห็นได้จากการจัดตั้งองค์กรชาตินิยมต่างๆขึ้นมา การสนับสนุนจากผู้ที่เปรียบเสมือนเจ้าอาณานิคมรายใหม่ได้เปิดโอกาสให้ไอดิตได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ทางด้านการเคลื่อนไหวทางการเมือง และยังได้ทำให้เขาได้มีโอกาสพบปะกับนักชาตินิยมอินโดนีเซียคนสำคัญ อาทิ ซูการ์โน และในช่วงเวลาแห่งการปกครองอินโดนีเซียโดยกองทัพญี่ปุ่นนี้เอง ที่เขาได้มีโอกาสศึกษางานของกลุ่มอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย อาทิ Das Kapital ของคาร์ล มาร์กซ์ อย่างเป็นจริงจัง จนกล่าวได้ว่า ทักษะของไอดิตเพิ่มพูนเป็นอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว
อย่างไรก็ตามบทบาทของเขาในบริบทการเมืองอินโดนีเซียเริ่มโดดเด่นภายหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 และการประกาศเอกราชของอินโดนีเซียในปี 1945 ณ ช่วงเวลาดังกล่าว ไอดิตได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (Partai Komunis Indonesia : PKI) ในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งสมาชิกระดับล่างของโปลิตบูโร ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ การก่อกบฏที่มาดีอุนในปี 1948 โดยกลุ่มขบวนการคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียที่เต็มไปด้วยแนวคิดการปฏิวัติหัวรุนแรงและอิทธิพลจากภายนอกอันได้แก่ สหภาพโซเวียต เหตุการณ์ดังกล่าวจบลงด้วยความย่อยยับของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ความผิดพลาดของฝ่ายคอมมิวนิสต์ครั้งนั้นได้ทำให้ไอดิต ตระหนักว่า สิ่งสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนคอมมิวนิสม์ในอินโดนีเซียคือการเป็นอิสระจากอิทธิพลภายนอก การมุ่งแสวงหาและขยายการสนับสนุนจากมวลชน รวมไปถึงการประยุกต์ใช้หลักการมาร์กซิสต์อย่างมีความยืดหยุ่น และสิ่งที่ไอดิตตระหนักได้เหล่านี้จะเป็นลักษณะของการบริหาร PKI ของเขาในเวลาต่อมา
ช่วงต้นทศวรรษ 1950s เป็นช่วงเวลาแห่งการคืนชีพอีกครั้งของ PKI ภายหลังจากการถูกปราบปรามอย่างหนัก ภายใต้การนำของไอดิต ผู้ซึ่งในขณะนั้นได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเป็นที่เรียบร้อย ร่วมกับ เอ็ม.เอช. ลุคมาน ผู้เป็นรองเลขาธิการพรรคคนที่ 1 และโจโต ผู้เป็นรองเลขาธิการพรรคคนที่ 2 PKI ได้มีการปฏิรูปไปสู่การมุ่งเน้นการเคลื่อนไหวของมวลชน พรรคดังกล่าวได้อิงอยู่กับพื้นฐานสำคัญอันได้แก่ การโฆษณาชวนเชื่อ การจัดระเบียบองค์กร และการระดมมวลชน วิถีดังกล่าวได้ถูกประกาศใช้ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียครั้งที่ 5 จุดมุ่งหมายของวิถึทางดังกล่าวที่ไอดิตนำมาใช้ก็เพื่อที่จะขยายขนาดและสร้างความเข้มแข็งของ PKI ให้มากพอที่จะปกครองอินโดนีเซียในอนาคต การปฏิรูปดังกล่าวนำมาสู่ความเฟื่องฟูอย่างเห็นได้ชัดของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครองอันดับสามรองจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ไอดิตได้แสดงทัศนคติของเขาที่มีต่อสังคมอินโดนีเซียในขณะนั้นว่า มีความเป็น “กึ่งอาณานิคมกึ่งศักดินานิยม” นั่นทำให้เขามองว่าเป้ามหายแรกที่พึงกระทำคือการร่วมมือกับกลุ่มอื่นๆที่มิใช่ฝ่ายซ้ายที่เขาใช้ศัพท์แสงของฝ่ายซ้ายเรียกว่า “กระฎุมพีน้อย” และ “กระฎุมพีแห่งชาติ” ในการที่จะกำจัดลัทธิอาณานิคมให้พ้นไปจากอินโดนีเซีย
ในช่วงปลายทศวรรษ 1950s จนถึงต้นทศวรรษ 1960s ที่อินโดนีเซียตกอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำของซูการ์โน พรรคคอมมิวนิสต์ได้กลายเป็นกลุ่มอำนาจสำคัญในการสนับสนุนซูการ์โน แม้จะมีบทบาทสำคัญทางการเมือง PKI ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางอำนาจกับฝ่ายกองทัพที่คานอำนาจอยู่กับตน และในปี 1945 วันที่ 30 กันยายน ได้เกิดเหตุการณ์การรัฐประหารขึ้นซึ่งในเวลาต่อมาถูกอ้างว่าเป็นการกระทำของ PKI เหตุการณ์ดังกล่าวได้มาซึ่ง “การปฏิวัติซ้อน” ของฝ่ายกองทัพนำโดยซูฮาร์โต สิ่งที่ตามภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวคือ กระบวนการการกวาดล้างฝ่ายคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของฝ่ายกองทัพ ในเหตุการณ์ดังกล่าว ไอดิตได้ถูกจับกุมและถูกสังหารในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ที่เมืองโซโลหรือสุราการ์ตาในปัจจุบัน
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
กรกฎาคม 2559