พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน (Indochinese Communist Party) เป็นพรรคการเมืองอุดมการณ์สายมาร์กซิสม์ภายใต้กำกับของโคมินเทิร์น ที่เคลื่อนไหวในเวียดนามอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 1930-1945 พรรคดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งองค์กรมวลชนต่างๆ เพื่อดำเนินการในการต่อต้านเจ้าอาณานิคมและเรียกร้องเอกราชพร้อมกับดำเนินการ “ปฏิวัติ” ของประชาชน
พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน หรือชื่อเดิมในช่วงก่อตั้งคือ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มการเมืองสายมาร์กซิสม์ 3 กลุ่มในเวียดนาม อันได้แก่ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดจีน, พรรคคอมมิวนิสต์อันนัม และสันนิบาตคอมมิวนิสต์อินโดจีน ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การคอมมิวนิสต์สากลหรือโคมินเทิร์นในสหภาพโซเวียต ก่อนหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนจะได้มีการจัดตั้งขึ้นในปี 1930 ได้เกิดความแตกแยกในแทนห์เนียน ซึ่งเป็นกลุ่มขบวนการคอมมิวนิสต์ที่สำคัญกลุ่มหนึ่งในเวียดนาม ระหว่างฝ่ายที่ต้องการเดินทางสายกลางซึ่งมุ่งเน้นถึงความเป็นชาตินิยม กับฝ่ายก้าวหน้าที่มุ่งเน้นอุดมการณ์มาร์กซิส ฝ่ายที่เน้นอุดมการณ์ได้แยกตัวออกมาจากแทนห์เนียน และได้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดจีน ส่วนกลุ่มแทนห์เนียนที่เหลือก็ได้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อันนัมขึ้นเพื่อสกัดกั้นการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดจีน ส่วนขบวนการเตินเหวียดในภาคกลางที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดจีนซึ่งทำให้สมาชิกของตนลดลง ก็ได้ตอบโต้ด้วยการจัดตั้งสันนิบาตคอมมิวนิสต์อินโดจีนขึ้นมาโดยมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและครู
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งพรรคการเมืองทั้งสามได้สร้างความไม่พอใจแก่ทางโคมินเทิร์นเป็นอย่างมาก ทางโคมินเทิร์นได้มีความพยายามที่จะผลักดันให้พรรคทั้งสามรวมตัวกันและจัดตั้งพรรคปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ โดยได้ส่งเตรินฝูไปเชิญโฮจิมินห์มาเป็นแกนนำในการประชุมของทั้งสามฝ่ายที่กำลังจะมีขึ้น การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นที่ฮ่องกงในเดือนกุมภาพันธ์ ปี1930 จากการเจรจาและไกล่เกลี่ยกันภายในที่ประชุม ก็ได้มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามขึ้นมา และในเวลาต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนในการประชุมพรรคครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมปี 1930
บทบาทส่วนใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนมักจำกัดอยู่เพียงแต่ในเขตตังเกี๋ย อันนัม และโคชินจีน ภายหลังจากการก่อตั้งพรรคไม่นาน พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนได้กลายเป็นเสมือนแกนนำของชาวพื้นเมืองทั้งในฐานะผู้ต่อต้านจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสและตัวแทนชนชั้นล่างในการต่อต้านชนชั้นนายทุน ในปี 1930 พรรคดังกล่าวได้ก่อตั้งสหพันธ์การค้าซึ่งเป็นองค์กรใต้ดินขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายคือ เพื่อที่จะรวบรวมชนชั้นกรรมาชีพในการที่จะดำเนินการเคลื่อนไหวปฏิวัติของประชาชน โดยสหพันธ์ดังกล่าวมีจำนวนสมาชิกประมาณ 10,000 คน กิจกรรมส่วนใหญ่ที่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนดำเนินการผ่านสหพันธ์การค้าใต้ดินคือ การสนับสนุนการนัดหยุดงานของเหล่าแรงงาน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวแม้ว่าการนัดหยุดงานจะเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในยุโรป หากแต่ในเวียดนามซึ่งปกครองโดยเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ผู้ที่เข้าร่วมการนัดหยุดงานต้องประสบกับความเสี่ยงที่จะถูกจำคุก เนรเทศ หรือปราบปรามอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามในปี 1931 พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนก็ประสบกับวิฤติการณ์ตกต่ำอันเป็นผลมาจากการปราบรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศส พรรคได้สูญเสียบุคลากรคนสำคัญจากการปราบปรามกวาดล้างครั้งดังกล่าวอาทิ เตรินฝู เลาธิการของพรรคซึ่งถูกจับกุมในเดือนเมษายน ปี 1931 และถูกทรมานจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ผู้นำหลายคนของพรรคถูกจับกุม เหลือเพียงไม่กี่คนที่หลบหนีไปได้
อย่างไรก็ตาม การปราบปรามของรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสก็มิอาจกำจัดลัทธิคอมมิวนิสต์ให้สิ้นไป กิจการของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง ภายหลังจากที่เหล่าแกนนำพรรคส่วนหนึ่งเริ่มกลับออกมาจากการลี้ภัยการกวาดล้างและอีกส่วนหนึ่งที่ถูกจับกุมก็ได้รับการปล่อยตัว ในปี 1938 พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนในฐานะองค์การทางการเมืองที่แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วดินแดนเวียดนาม ได้ดำเนินนโยบายที่เน้นการร่วมมือกับทุกฝ่ายในการต่อต้านกับอิทธิพลของลัทธิฟาสซิสต์โดยคณะกรรมการกลางของพรรคได้ก่อตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยของอินโดจีนขึ้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นบุกยึดอินโดจีนสำเร็จ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 8 ของพรรคว่า การปฏิวัติของชาวเวียดนามจะดำเนินไปโดยไม่มีรีรอค่ายนานาชาติ พรรคคอมมิวนิสต์ได้ก่อตั้ง แนวร่วมเพื่อเอกราชของชาวเวียดนามหรือเวียดมินห์ ซึ่งเป็นแนวร่วมชาตินิยมที่ไม่จำกัดเพียงแต่ฝ่ายซ้ายแต่ยังรวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆในเวียดนามโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องเอกราชให้แก่เวียดนาม และจุดมุ่งหมายต่อมาซึ่งเป็นไปในแนวทางสังคมนิยมคอมมิวนิสต์คือ การยึดทรัพย์สินและที่ดินของพวกจักรวรรดินิยมและนำมาแบ่งปันแก่เหล่าชนชั้นกรรมาชีพจะดำเนินการในภายหลัง แนวร่วมดังกล่าวมิได้เคลื่อนไหวก่อการจลาจลอย่างรุนแรงในทันที หากแต่ปลุกระดมมวลชนเพื่อขัดขืนเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส จนกระทั่งในปี 1945 เมื่อญี่ปุ่นผู้ซึ่งพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 จำต้องถอนกำลังออกไปเวียดนาม แนวร่วมเวียดมินห์ก็ได้ก่อการ “ปฏิวัติสิงหาคม” ขึ้นโดยบุกยึดเมืองสำคัญและที่ทำการของฝ่ายรัฐบาล ภายหลังจากการปฏิวัติดังกล่าวได้มีการจัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามขึ้น และในปี 1951 พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามก็เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคแรงงานเวียดนาม
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
กรกฎาคม 2559