นิวสเปน (New Spain) หรือในชื่ออย่างเป็นทางการคือ เขตอุปราชแห่งสเปน (Viceroyalty of Spain) เป็นคำที่ถูกใช้เพื่อกล่าวถึงดินแดนต่างๆ ที่อยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิแห่งสเปน ดินแดนต่างๆเหล่านี้ถูกพิชิตและเข้ายึดครองโดยสเปนในบริบทที่ยุโรปมีวัฒนธรรมการเมืองเศรษฐกิจของการเดินเรือเพื่อสำรวจโลกใหม่และล่าดินแดน วิธีการดังกล่าวเป็นไปเพื่อเพิ่มพูนแสนยานุภาพให้แก่ประเทศของตนจนนับว่าเป็นการแข่งขันระหว่างรัฐบาลต่างๆ ในยุโรปซึ่งย่อมรวมไปถึงราชสำนักของสเปน ณ ช่วงเวลาหนึ่งด้วย
เขตอุปราชแห่งสเปน เป็นเขตอุปราชแห่งแรกในสี่เขตอุปราชที่จัดตั้งโดยราชสำนักของสเปน โดยเขตแดนนี้ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1535 โดยแรกเริ่มควบคุมเพียงพื้นที่ทางตอนเหนือของคอคอดปานามา อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาก็มีการขยับขยายอำนาจออกไปเรื่อยๆ จากคอคอดปานามาไปสู่แคลิฟอร์เนีย, พื้นที่ทางตะวันออกเลียบอ่าวเม็กซิโกจรดฟลอริดาในปัจจุบัน และเมื่อสเปนสามารถพิชิตและครอบครองฟิลิปปินส์สำเร็จในปี 1565 ดินแดนใหม่ในอุษาคเนย์นี้ก็ได้ถูกผนวกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมของอุปราชแห่งสเปน
ความเกี่ยวพันกับอุษาคเนย์ของนิวสเปนจึงมีลักษณะของการเข้ามามีอำนาจควบคุมเหนือดินแดนในภูมิภาคดังกล่าว หมู่เกาะฟิลิปินส์สำหรับสเปนในช่วงแรก ไม่ได้ถูกมองด้วยสายตาที่ระบุว่าดินแดนดังกล่าวจะเป็นแหล่งขุมทรัพย์ทางการค้า เนื่องเพราะสายตาของชาวตะวันตกกลุ่มนี้กำลังเพ่งไปที่หมู่เกาะเครื่องเทศซึ่งอยู่ถัดไปจากหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ความประทับใจแรกที่สเปนมีต่อฟิลิปปินส์คือ การที่ได้ครอบครองฟิลิปปินส์จะเป็นทางผ่านแก่สเปนในการเข้าถึงแหล่งเครื่องเทศสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์นับจากปี 1565 ก็จะแสดงให้ประจักษ์ได้ว่า การเข้ามาของสเปนส่งผลอย่างยิ่งยวดต่อพลวัตของฟิลิปปินส์ซึ่งจะเห็นได้แม้กระทั่งในปัจจุบัน
การเข้ามาของชาติตะวันตกไม่เพียงนำเอาอำนาจการปกครองโดยคนตะวันตกมาควบคุมผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ซึ่งก็คือ ชาวตะวันตกผู้ที่มองตนว่าเจริญแล้วและจำเป็นต้องนำความเจริญของตนมาพัฒนาดินแดนป่าเถื่อนในโลกนี้ ย่อมนำเอาวิธีคิดที่ตนมองว่าก้าวหน้าศิวิไลซ์มาใช้ในภูมิภาคหรือดินแดนที่ตนเข้ามามีอำนาจอีกด้วย สำหรับการครอบครองฟิลิปินส์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับอินโดจีนของฝรั่งเศส, หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ และบริติชบอร์เนียว-มลายา ย่อมนำไปสู่การหาข้อตกลงกันระหว่างเจ้าอาณานิคมซึ่งย่อมนำไปสู่มาตรฐานการแบ่งขอบเขตอำนาจแบบตะวันตกซึ่งขั้นพื้นฐานคือ การที่ปักปันเขตแดนอย่างชัดเจน ฟิลิปปินส์จึงก่อรูปด้วยสำนึกว่าด้วยเส้นขอบที่ชัดเจนและค่อยๆ เติบโตมากขึ้นในหมู่ชนพื้นเมือง จนกลายเป็นเส้นเขตแดนในปัจจุบัน
นอกจากนี้ นับแต่การเข้ามาในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ของสเปนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ชาวสเปนยังได้นำศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาโธลิกเข้ามาสู่สังคมของเหล่าชนพื้นเมืองในดินแดนดังกล่าว ควบคู่กับการใช้กำลังทหาร ศาสนาคริสต์สายสเปนก็ได้เข้าแทนที่ศาสนาดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนเกือบจะทุกแห่งหนที่สเปนมีอำนาจควบคุม กระนั้นก็ตาม สเปนยังคงพบกับความลำบากในการเปลี่ยนให้ชาวมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์อันได้แก่ แถบมินดาเนาและซูลู หันมา “เข้ารีต” คนกลุ่มดังกล่าวถูกเรียกชื่อโดยชาวสเปนว่า โมโร และความแปลกแยกที่ไม่เหมือนชนกลุ่มอื่นในหมู่เกาะนี้เองที่ยังผลส่วนหนึ่งให้เกิดความไม่เข้มแข็งในความรู้สึกเรื่อง “ชาติฟิลิปินส์” ในพื้นที่ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์จนนำไปสู่ปัญหาเรื้อรังว่าด้วยความขัดแย้งด้านอัตลักษณ์และความรู้สึกร่วมต่อฟิลิปปินส์ของคนกลุ่มนี้ กระนั้นก็ตาม คริสต์ศาสนาก็ยังคงเป็นศาสนาที่มีนัยสำคัญต่อสังคมฟิลิปปินส์มาจวบจนถึงปัจจุบัน
ศัพท์แสงหลายคำในสังคมฟิลิปปินส์ก็เป็นคำที่รับเอามาจากภาษาสเปน ส่วนหนึ่งของตัวอย่างสำหรับกรณีนี้ซึ่งจะสามารถเห็นได้ชัดคือ ชื่อของคนฟิลิปปินส์มักมีชื่อและ/หรือแบบภาษาสเปนปรากฏอยู่ โดยมีที่มาจากนโยบายของรัฐบาลอาณานิคมที่ต้องการจะเข้ามาบริหารจัดการประชากรชนพื้นเมือง ผ่านการให้ชนพื้นเมืองเลือกที่จะเปลี่ยนชื่อสกุลเป็นแบบสเปน ตามที่รัฐบาลอาณานิคมมอบให้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีชาวพื้นเมืองบางกลุ่มที่ยังคงรักษานามสกุลแบบพื้นเมือง
นิวสเปนจึงเป็นเหมือนระบอบการปกครองแรกๆ ที่สเปนใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการเข้ายึดครองดินแดนต่างๆ หมู่เกาะฟิลิปปินส์เองก็ตกอยู่ภายใต้กระบวนการล่าดินแดนของสเปนอีกด้วย การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนิวสเปนก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่ก่อรูปฟิลิปินส์ไปสู่สาธารณรัฐฟิลิปินส์อย่างที่ผู้คนรู้จักกันในปัจจุบัน ผ่านการนำเอากรอบคิดแบบรัฐสมัยใหม่ รวมถึงแนวคิดทางการเมืองอื่นๆ แบบตะวันตก เข้ามาสู่สังคมฟิลิปปินส์พร้อมกันกับการแผ่ขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมแบบสเปนมาสู่ดินแดนแห่งนี้ซึ่งก็ได้หยั่งรากลึกจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาวฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน
กาญจนพงค์ รินสินธุ์