โฮเซ ริซัล (José Rizal) เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองของฟิลิปปินส์ เขาเป็นทั้งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ แพทย์ และที่สำคัญ เขาคือนักเคลื่อนไหวคนสำคัญที่เรียกร้องและต่อสู้เพื่อสิทธิของชนพื้นเมืองในอาณานิคมฟิลิปปินส์ของสเปน ชายคนนี้ยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเคลื่อนไหวแบบชาตินิยมเพื่อเรียกร้องเอกราชให้แก่ดินแดนฟิลิปปินส์และชาวพื้นเมืองผู้อยู่อาศัยในดินแดนดังกล่าว
โฮเซ ริซัล หรือในชื่อเต็มคือ “โฮเซ โปรตาซิโอ ริซัล เมริกาโด อี อาลอนโซ เรอาลอนดา (José Protasio Rizal Mercado y Alonso Realonda)” เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 1861 ณ เมืองคาลัมบา จังหวัดลากูน่า ภายในฟิลิปปินส์สมัยที่ยังเป็นเขตการปกครองอินเดียตะวันออกของสเปน เขาเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีพอสมควร โฮเซ ริซัลได้รับเข้ารับการศึกษาสายการแพทย์ในมะนิลา และในเวลาต่อมา เขาก็ได้เดินทางไปที่สเปนเพื่อเข้าศึกษาในระดับสูงที่มหาวิทยาลัยมาดริด และที่นั่นเอง นักศึกษาแพทย์ซึ่งมีพรสวรรค์ทั้งยังชำนาญด้านภาษาผู้นี้ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวสายปฏิรูปกลุ่มหนึ่ง ขบวนการดังกล่าวมีชื่อว่า “ขบวนการโปรปากันดา (the Propaganda Movement)”
ขบวนการโปรปากันดา เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวโดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการปกครองของรัฐบาลอาณานิคมสเปนในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เหล่านักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้เห็นว่า ฟิลิปปินส์ควรจะมีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของสเปนแบบโดยตรง ไม่ใช่เป็นเพียงดินแดนที่มีสถานะอาณานิคมของสเปน ชาวพื้นเมืองในฟิลิปปินส์สมควรได้รับสิทธิพลเมืองเทียบเท่ากับชาวสเปนในยุโรป ในประเด็นทางศาสนา กลุ่มโปรปากันดาแสวงหาวิธีที่จะขับไล่นักบวชชาวสเปนในฟิลิปปินส์พร้อมทั้งผลักดันพระที่เป็นชนพื้นเมืองขึ้นมามีบทบาทแทน กลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวยังประชันด้านภูมิความรู้และสติปัญญากับวัฒนธรรมสเปนผ่านการผลิตงานเขียนต่างๆ อีกด้วย
สำหรับงานเขียนของบุคคลสำคัญในกลุ่มอย่างโฮเซ ริซัล เขาได้ตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรกในภาษาตากาล็อกที่มีชื่อว่า Noli Me Tangere หรือในชื่อไทยที่ได้รับการแปลเอาไว้คือ อันล่วงละเมิดมิได้ โดยนวนิยายเรื่องนี้ของเขาถูกเขียนขึ้นเพื่อแสดงให้ผู้อ่านหรือสาธารณชนได้ประจักษ์ถึงมุมมืดที่ไม่น่าพิศสมัยของการปกครองฟิลิปปินส์โดยสเปน งานเขียนเล่มนี้ยังมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเกี่ยวกับเหล่านักบวชคาโธลิกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้งานเขียนของเขาจะได้รับการตีพิมพ์ กระนั้นงานของเขาเล่มนี้ก็ได้ถูกสั่งห้ามนำเข้ามาในฟิลิปปินส์ และยังเป็นเหตุผลที่ทำให้การเดินทางเข้าฟิลิปปินส์ในภายหลังของเขาต้องถูกยกเลิกไปเพราะถูกตำรวจเพ่งเล็ง
ในเวลาต่อมา โฮเซ ริซัลยังคงผลิตผลงานของเขาออกมา โดยในปี 1891 เขาได้ตีพิมพ์นวนิยายที่มีชื่อเรื่องว่า El Filibusterismo ซึ่งส่งผลให้เขามีชื่อเสียงอย่างมากในฐานะกระบอกเสียงของเหล่าผู้ที่ต้องการให้สเปนปฏิรูปการปกครองฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ โฮเซ ริซัลยังได้นำเอางานของแอนโตนิโอ มอร์กา เรื่อง Sucecos de las Islas Filipinas มาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า ชาวพื้นเมืองในหมู่เกาะฟิลิปปินส์มีประวัติศาสตร์ความเจริญในแบบของตนมาอย่างยาวนานก่อนที่สเปนจะแผ่ขยายอำนาจเข้ามา โฮเซ ริซัลเขียนบทความมากมายลงในหนังสือพิมพ์ในเครือของโปรปากันดาที่มีชื่อว่า La Solidaridad ซึ่งตีพิมพ์ในบาร์เซโลน่า และแม้ว่าในเวลาต่อมาเขาจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มเคลื่อนไหวชาตินิยม กระนั้นงานเขียนของเขาก็ไม่ได้เรียกร้องเอกราชแก่ฟิลิปินส์ หากแต่เรียกร้องในประเด็นสิทธิพลเมืองและสังคมที่ดีขึ้นของชนชาวฟิลิปปินส์ ภายใต้การปกครองของสเปนที่ควรจะปฏิรูปเสียทีในสายตาริซัล
โฮเซ ริซัลเดินทางกลับสู่มาตุภูมิในปี 1892 ที่มะนิลา เขาจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวที่ไม่นิยมความรุนแรงในนาม Liga Filipina กระนั้นก็ตาม เขาก็ยังคงถูกเนรเทศให้ไปอาศัยอยู่ที่ดาปิตันซึ่งอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของมินดาเนา เขาอยู่ในสถานะถูกเนรเทศอยู่ 4 ปี ไปพร้อมๆกับการง่วนอยู่กับการแพทย์และการให้ความรู้แก่นักเรียน ทว่าในเวลาต่อมา เมื่อมีการก่อกบฏของกลุ่มชาตินิยมฟิลิปินส์ที่นำโดยอองเดร โบนิฟาซิโอ แม้ว่าเขาจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าว รัฐบาลสเปนก็ยังคงตั้งข้อหาเขาในคดีปลุกระดมผู้คนและตัดสินประหารชีวิตเขาด้วยการยิงเป้า การตายของโฮเซ ริซัล ผู้ซึ่งต่อสู้ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ปกครองชาวสเปน นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของกระแสการต่อต้านเจ้าอาณานิคมสเปน และเขาก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสชาตินิยมดังที่กล่าวไปในข้างต้น
กาญจนพงค์ รินสินธุ์