รามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay) เป็นบุคคลสำคัญของฟิลิปปินส์ในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 7 ของฟิลิปปินส์ และเป็นประธานาธิบดีลำดับที่ 3 ของฟิลิปปินส์ในยุคสาธารณรัฐที่ 3 อันเป็นช่วงต้นของฟิลิปปินส์ในฐานะรัฐชาติเอกราชในประชาคมโลกสากล เขาขึ้นดำรงตำแหน่งในช่วงที่ฟิลิปปินส์พร้อมกับประเทศอื่นๆ เข้าสู่สังเวียนสงครามเย็น ชื่อเสียงอันโด่งดังของเขาเองก็มาจากการฟื้นฟูระเบียบและกฎหมายในฟิลิปปินส์ และการจัดการกลุ่มเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายได้อย่างประสบความสำเร็จ
หนังสือและเขาเองก็ยึดอาชีพดังกล่าวเป็นงานแรกๆ ของเขาเช่นกัน แมกไซไซจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านการพาณิชย์จากสถาบันพาณิชย์ วิทยาลัยโฮเซริซัล ในกรุงมะนิลา จากนั้นเขาได้ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการบริษัทขนส่งแห่งหนึ่งลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่ในเวลาต่อมาได้สร้างความโดดเด่นให้แก่ฐานะผู้นำประเทศของเขาก็คือ ผู้นำทางการเมืองส่วนใหญ่ในฟิลิปปินส์มักมีเชื้อสายของชาวสเปน ทว่าแมกไซไซกลับเป็นชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายมลายูที่ไม่ต่างอะไรกับเชื้อสายของคนธรรมดาทั่วไป อย่างไรก็ตาม แมกไซไซก็ได้กลายเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองของฟิลิปปินส์ในเวลาต่อมา
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น แมกไซไซเองก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามดังกล่าว ในฐานะที่มิใช่บุคคลที่โด่งดังอะไรมาก่อน เขาเริ่มด้วยการเข้าร่วมกับฝ่ายยานยนต์สังกัดกองพลทหารราบที่ 31 ของกองทัพฟิลิปปินส์ หลังจากที่กองทัพฟิลิปปินส์พ่ายแพ้การศึกกับจักรวรรดิญี่ปุ่นที่บาตาอันในปี 1942 แมกไซไซได้กบดานตามป่าเขาและได้เป็นผู้นำเคลื่อนไหวด้วยรูปแบบสงครามกองโจรในการต่อสู้กับฝ่ายญี่ปุ่น ภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เขาก็ปลดประจำการและเข้ามาโลดแล่นในแวดวงการเมือง
ภายหลังจากที่ฟิลิปปินส์ได้รับเอกราช แมกไซไซเองก็กระโดดเข้าสู่เวทีการเมืองด้วยการเริ่มต้นการเป็นสมาชิกสภา โดยเขาเริ่มต้นด้วยการโลดแล่นด้วยสังกัดพรรคเสรีนิยม ในช่วงเวลาดังกล่าว ประธานาธิบดีเอลปิดิโอ กิริโนได้แต่งตั้งเขาให้เป็นรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งภารกิจสำคัญสำหรับแมกไซไซคือ การจัดการกับปัญหาสำคัญของฝ่ายเสรีนิยมในบริบทโลกยุคสงครามเย็นซึ่งก็คือ การจัดการกับกลุ่มเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายที่มุ่งสร้างสังคมอุดมคติผ่านการโค่นล้มรัฐที่พวกเขามองว่าร่วมมือกับนายทุนเพื่อกดขี่ชนชั้นแรงงาน ในฟิลิปปินส์เองก็มีกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวที่มีชื่อว่า ฮุคส์ ซึ่งมีกองกำลังเป็นของตนเอง แมกไซไซอ่านเกมการเมืองการสงครามระหว่างฝ่ายตนกับฮุคส์ออกว่า ฮุคส์ไม่สามารถอยู่รอดได้หากขาดการสนับสนุนจากประชาชน และด้วยเหตุนี้ ในเชิงกลยุทธ์ เขาจึงชิงเอาชัยด้วยดึงความนิยมของประชาชนให้หันเหไปสู่ฝั่งรัฐบาลผ่านนโยบายที่เอื้อประโยชน์หรือเป็นไปในเชิงสวัสดิการโดยเฉพาะชาวชนบท ควบคู่ไปกับการปฏิรูปกองทัพ
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปของแมกไซไซก็ทำให้เขาถูกศัตรูทางการเมืองบีบให้ลาออกในปี 1953 เขากลับมาอีกครั้งในการลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยครั้งนี้เขาลงสมัครในสังกัดพรรคชาตินิยม และได้รับชัยชนะเหนือประธานธิบดีคนก่อนไป เขามีเป้าหมายที่มุ่งปฏิรูปความเป็นอยู่ของชาวฟิลิปปินส์ให้ดีขึ้นอย่างถ้วนหน้า แผนการของแมกไซไซมักติดขัดด้วยความขัดแย้งระหว่างเขากับสภา กระนั้น ในสมัยของเขาก็ได้มีการปฏิรูปการเกษตรซึ่งได้ให้ที่ทำกินแก่ชาวพื้นเมืองเป็นจำนวนมาก เขายังจัดตั้งระบบร้องทุกข์ที่จัดไว้ให้แก่ประชาชนสำหรับแจ้งความทุกข์ยากแก่รัฐบาล ตลอดระยะเวลาการนำประเทศของเขา แมกไซไซถูกยกย่องมากในแง่การเป็นนักการเมืองที่ไม่ทุจริตฉ้อโกง
ยุคสมัยของแมกไซไซสิ้นสุดลงอย่างกะทันหัน เมื่อเขาประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกในวันที่ 17 มีนาคม 1957 ความนิยมที่ประชาชนมีต่อประธานาธิบดีผู้นี้สะท้อนให้เห็นได้จากจำนวนตัวเลขของผู้ที่เข้าร่วมพิธีฝังศพของเขา จนทำใหขากลายเป็น “บุคคลตัวอย่างของประชาชน” และในปีเดียวกัน ได้มีการจัดตั้งรางวัลแมกไซไซขึ้นเพื่อเป็นการสรรเสริญและรำลึกถึงความดีของเขา
กาญจนพงค์ รินสินธุ์