ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกขององค์การอาเซียน มีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐโดยมีประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งทั้งในฐานะประมุขของรัฐและหัวหน้าคณะรัฐบาล แม้ว่าจะมีการใช้กลไกทางกฎหมายการเมืองในการผูกขาดอำนาจการปกครองในบางช่วงของประวัติศาสตร์สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม กล่าวกันตามหลักการโดยละกรณีกฎอัยการศึกของมากอสในทางที่เข้าใจ ตำแหน่งผู้นำทางการเมืองและตำแหน่งอื่นในระบบการเมืองของฟิลิปปินส์ถูกจัดระบบเพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจด้วยกลไกการเลือกตั้งเมื่อถึงวาระที่กำหนด
ระบบการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน เป็นระบบที่ถูกปรับเปลี่ยนจากเดิม การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งปรากฏขึ้นจากการปฏิรูปประเทศและการจัดวางระบบของรัฐธรรมนูญฉบับปี 1987 อันเป็นช่วงที่ฟิลิปปินส์ก้าวพ้นจากภาวะผูกขาดอำนาจของรัฐบาลมากอสและกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาของการปฏิรูปประเทศและฟื้นฟูกระบวนการประชาธิปไตยภายใต้การนำของประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฟิลิปปินส์คือ คอราซอน อากีโน วาระการดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ถูกจัดระบบใหม่ แม้จะมีการรื้อฟื้นระบบ 2 สภา คือสภาผู้แทนและวุฒิสภา ซึ่งระบบดังกล่าวเคยถูกยกเลิกไปในสมัยของมากอส อย่างไรก็ตามตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนถูกปรับวาระจากที่เคยมีการกำหนดให้ดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 4 ปี ก็ถูกปรับลดลงให้เหลือเพียง 3 ปี ส่วนตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภามีวาระการดำรงตำแหน่งอยู่ที่ 6 ปี เช่นเดียวกับวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี การได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีจะเป็นได้เพียงสมัยเดียวต่อหนึ่งคน สมาชิกสภาผู้แทนจำกัดการดำรงตำแหน่งได้ 3 สมัย สมาชิกวุฒิสภาจำกัดการดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัย นอกจากส่วนที่เกี่ยวกับการเมืองระดับชาติที่ได้กล่าวไปแล้ว ในแง่ของการเมืองท้องถิ่น ตำแหน่งทางการเมือง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด สภาจังหวัด นายกเทศมนตรี และสภาเมืองหรือสภาเทศบาล จะถูกกำหนดให้สามารถดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้ 3 สมัย ด้วยการจัดวางวาระดังที่กล่าวไปในข้างต้น ทำให้เมื่อครบรอบ 6 ปี จะมีการเลือกตั้งทุกระดับเกิดขึ้นพร้อมกัน โดยมีตำแหน่งในการลงสมัครสำหรับการเลือกตั้งขนาดใหญ่นี้กว่า 17,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งหัวหน้าชุมชนตามแบบวัฒนธรรมฟิลิปปินส์ที่เรียกว่า บารังไก จะถูกจัดแยกต่างหาก
การเลือกตั้งที่ถูกจัดขึ้นจะอยู่ในการดูแลขององค์กรที่จัดการเกี่ยวกับการเลือกตั้งอันมีชื่อว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (Komisyon sa Halalan) ซึ่งมีอำนาจในการจัดการตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติและมอบให้องค์กรดังกล่าว ทั้งโดยนิตินัยแล้วเป็นองค์กรที่เป็นอิสระ อย่างไรก็ตาม องค์กรดังกล่าวมักจะถูกพูดถึงเสมอว่าเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายรัฐบาลอยู่เสมอ ในการแข่งขันเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะต้องลงทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วยการยื่นคำขอ ซึ่งในกระบวนการลงทะเบียน พรรคการเมืองจำเป็นต้องทำตามเงื่อนไขทั้งที่มาจากรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการ ในการนับคะแนนการเลือกตั้งของคณะกรรมการดังกล่าว ใช้การนับคะแนนแบบ “First Past the Post” ซึ่งผู้ชนะการเลือกตั้งจะมาจากผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด ก่อนที่คะแนนจะมาถึงส่วนกลางที่มะนิลา การนับคะแนนจะผ่านกระบวนการตรวจสอบซึ่งใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน โดยมีการตรวจสอบคะแนนตั้งแต่ระดับชุมชน และจะได้รับการตรวจสอบทบทวนครั้งแล้วครั้งเล่าในระดับเมือง/เทศบาล และในระดับจังหวัด ตามลำดับ เมื่อผ่านกระบวนการดังกล่าวทั้งหมดแล้วจึงค่อยส่งมอบให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง
แม้จะมีกระบวนการตรวจสอบต่างๆ อันแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และอุดมคติของสังคมฟิลิปปินส์หลังยุคเผด็จการของมากอส อย่างไรก็ตาม การหาลู่ทางในการโกงการเลือกตั้งยังคงปรากฏอยู่ในการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ กลยุทธ์ลูกเล่นต่างๆ จะถูกใช้ตลอดการเลือกตั้งตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งการทำลายฐานเสียงของคู่แข่ง, การเพิ่มคะแนนเสียงให้กับตนเองด้วยการใส่รายชื่อผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งไปแล้วให้กลับมาเลือกตั้งอีกรอบ นอกจากนี้ตลอดการเลือกตั้งปรากฏการใช้อิทธิพลนอกกฎหมายในการดำเนินการแข่งขัน ทั้งการใช้กำลังในการข่มขู่คู่แข่ง หรือการใช้เงินสำหรับซื้อเสียงจากฐานเสียงของฝ่ายตรงข้าม “ปืน อันธพาล และเงินตรา (Guns, Goons, and Gold)” ดังที่กล่าวไปในข้างต้นว่ากระบวนการขับเคี่ยวผ่านการโกงการเลือกตั้งจะดำเนินไปจนกว่าการเลือกตั้งจะจบ เพราะแนวโน้มคะแนนเสียงสามารถผันแปรได้เสมอในระหว่างช่วงการหาเสียง
ระบบการเลือกตั้งและวิถีปฏิบัติที่กระทำกันจริงๆ ในฟิลิปปินส์ได้ก่อรูปลักษณะการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ให้มีความเฉพาะตัว ตัวแปรสำคัญส่วนหนึ่งคือการแข่งขันภายใต้ระบบ “First Past the Post” ทำให้บทบาทของพรรคการเมืองลดความสำคัญลง ในขณะที่การเคลื่อนไหวของตัวผู้ลงสมัครเองกลับเป็นสิ่งที่แสดงบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะผ่านระบบเส้นสาย จักรกลการเมืองและพันธมิตรทางการเมืองในการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง และด้วยวิถีดังกล่าว ทำให้ระบบเครือข่ายตระกูลผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นมีบทบาทอย่างมากในกระบวนการการเลือกตั้ง และทุกวิธีการถูกใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการโกงหรือการคุกคามและข่มขู่ด้วยความรุนแรง
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
พฤษภาคม 2560