ข้อตกลงตริโปลี 1976 (Tripoli Agreement 1976) เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์สมัยเฟอร์ดินานด์ มากอสกับกลุ่มปลดแอกแห่งชาติโมโร โดยข้อตกลงดังกล่าวเป็นหนึ่งในกระบวนการไกล่เกลี่ยอย่างสันติในประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับดินแดนทางตอนใต้โดยพื้นที่หลักคือเกาะมินดาเนาและเกาะข้างเคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กลุ่มปลดแอกแห่งชาติโมโรต้องการให้แยกออกมาจากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์แล้วจัดตั้งเป็นรัฐอิสลาม โดยในข้อตกลงมีจุดมุ่งหมายหลักอันได้แก่ การเจรจาหยุดยิง และการจัดตั้งกลุ่มเขตปกครองตนเองให้แก่ชาวมุสลิมในทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์
โดยภายในเนื้อความของข้อตกลงตริโปลี 1976 ฉบับที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับการเจรจาตกลงกันในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มมุสลิมทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ในเอกสารข้อตกลงได้มีการอ้างถึงองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ซึ่งได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเจรจาตกลงดังกล่าว นับแต่ปี 1973 ที่มีการเสนอในที่ประชุมให้ตัวแทนคณะกรรมาธิการ OIC ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาที่ได้กล่าวถึงไปในข้างต้น โดยได้เรียกร้องให้มีตัวแทนจากลิเบีย, ซาอุดิอาระเบีย, เซเนกัล และโซมาเลีย และยังได้กล่าวถึงพัฒนาการของการประชุมแก้ปัญหาโดยมีตัวแสดงหลักคือ กลุ่ม OIC ในตอนท้ายของช่วงเกริ่นนำได้กล่าวถึงการเข้ามาร่วมเจรจาของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มากอส และนางอิเมลดา มากอสผู้เป็นภรรยาของเขาและสตรีหมายเลขหนึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว
การเจรจาที่ตริโปลีอันเป็นเมืองหลวงของลิเบียเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 1976 และเสร็จสิ้นกระบวนการการเจรจาพร้อมทั้งมีการลงนามในข้อตกลงในวันที่ 23 ธันวาคม 1976 ซึ่งเวทีเจรจาดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบหลักของฝ่ายต่างประเทศของลิเบีย นำโดยดร.อาลี อับดุลสลาม เตรกี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของลิเบีย เวทีการเจรจาดังกล่าวมีคู่เจรจาจากทั้งฝ่ายรัฐบาลสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ที่ส่งตัวแทนเป็นคาร์เมโล บาร์เบโร ปลัดกระทรวงกลาโหมของฟิลิปปินส์ และฝ่ายโมโรที่มีตัวแทนเป็นหัวหน้ากลุ่มปลดแอกซึ่งก็คือ ดร. นูร มิซูอารี เดินทางมาเป็นตัวแทน นอกจากนี้การเจรจายังมีผู้เข้าร่วมจากภายนอกฟิลิปปินส์ด้วยดังที่ได้มีการเรียกร้องในการประชุมความร่วมมืออิสลามซึ่งได้อ้างถึงในตอนต้นของข้อตกลง ตัวแทนจากคณะกรรมาธิการ OIC ประกอบไปด้วย ตัวแทนจากลิเบียซึ่งรับหน้าที่โดย ดร.อาลี อับดุลสลาม เตรกี, ตัวแทนจากฝ่ายซาอุดิอาระเบียคือ ซาเลาะห์ อับดัลลา เอล-ฟาดิล ผู้เป็นทูตของราชอาณาจักรซาดุดิอาระเบียประจำลิเบีย, ตัวแทนจากเซเนกัลคือ อาบูบาการ์ อุธมาน ซี อุปทูตเซเนกัลในกรุงไคโร และตัวแทนจากโซมาเลียคือ บาซี โมฮาเหม็ด ซูฟี ผู้เป็นทูตโซมาเลียประจำลิเบีย ในเอกสารข้อตกลงยังได้กล่าวถึงความร่วมมือจากคณะเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลามอันประกอบไปด้วย ดร. อาห์เหม็ด คาริม ไก ผู้เป็นเลขาธิการใหญ่ขององค์การ, ควาซิม ซูเฮรี ผู้ช่วยเลขาธิการใหญ่ และอาเร็ฟ เบ็น มูซา ผู้อำนวยการฝ่ายการเมือง
ในข้อตกลงเกี่ยวกับดินแดนและวิธีการปกครองเหนือพื้นที่ซึ่งเป็นปัญหาขัดแย้ง ได้มีการตกลงระหว่างทั้งสองฝ่ายในการจัดตั้งเขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมในพื้นที่ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ โดยได้มีการชี้แจงอย่างชัดเจนถึงแต่ละเขตที่จะเป็นเขตปกครองตนเองอันประกอบไปด้วย บาซีลัน, ซูลู, ตาวี-ตาวี, ซัมโบอางา เดล ซูร์, ซัมโบอางา เดล นอร์เต, นอร์ธ โกตาบาโต, มากินดาเนา, สุลต่านกุดารัต, ลาเนา เดล นอร์เต, ลาเนา เดล ซูร์, ดาเวา เดล ซูร์, เซาธ์ โกตาบาโต, ปาลาวัน รวมทั้งทุกหมู่บ้านและทุกเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตที่กล่าวมาทั้งหมด โดยได้มีการตกลงเรื่องการปกครองที่สรุปโดยสังเขปแล้วกล่าวคือ ในส่วนกิจการภายในผู้ปกครองสามารถจัดตั้งในรูปแบบที่รัฐบาลท้องถิ่นต้องการก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อมโยงกับส่วนกลางในขณะที่กิจการทางการทหารจะเป็นความร่วมมือด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ในสภาพจริงภายหลังจากที่มีการตกลงดังกล่าว ความขัดแย้งเหนือดินแดนทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ยังคงดำรงอยู่ เมื่อเกิดการเรียกร้องเอกราชโดยสมบูรณ์บนพื้นที่ดังกล่าว และกลุ่มโมโรได้ประกาศไม่ยอมรับการเลือกตั้งในเขตมินดาเนา นอกจากนี้ยังได้เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวใหม่ในมินดาเนาอันได้แก่ ขบวนการปลดแอกอิสลามโมโรและองค์กรปลดแอกบังซาโมโร ในขณะเดียวกัน กลุ่มปลดแอกแห่งชาติโมโรเองก็ยังคงเคลื่อนไหวก่อความรุนแรงอยู่เช่นกัน
รัฐบาลฟิลิปปินส์พยายามที่จะเจรจาหยุดยิงกับกลุ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่ปัญหา อย่างไรก็ตาม ความทุลักทุเลส่วนหนึ่งมาจากที่กลุ่มเคลื่อนไหวไม่ได้มีเพียงกลุ่มเดียว จึงไม่อาจหยุดความรุนแรงได้อย่างสมบูรณ์ แต่ภายใต้บริบทที่ความรุนแรงยังคงดำเนินอยู่ รัฐบาลเองก็ได้ดำเนินการในการจัดตั้งเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนาซึ่งกินพื้นที่บางส่วนบนเกาะมินดาเนาและเกาะข้างเคียง
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
เมษายน 2560