ระบบอุปถัมป์เป็นแนวคิดซึ่งอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนสองกลุ่มอันได้แก่ ผู้อุปถัมป์และผู้ได้รับการอุปถัมป์ โดยในความสัมพันธ์ดังกล่าว จะปรากฏการแลกเปลี่ยนกันระหว่างคนทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ผลประโยชน์ทางวัตถุหรือผลประโยชน์ที่เป็นนามธรรม อย่างไรก็ตาม คำอธิบายของระบบดังกล่าวมักอธิบายถึงชุดความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนที่ไม่เท่าเทียมกัน ในกรณีของฟิลิปปินส์ ระบบดังกล่าวมีลักษณะของความเป็น “เจ้าพ่อ” เพิ่มมาจนเกิดเป็นลักษณะเฉพาะ จึงเรียกระบบดังกล่าวว่า ระบบเจ้าพ่ออุปถัมป์
อันที่จริงระบบเจ้าพ่ออุปถัมป์สืบรากมาตั้งแต่ช่วงที่ราชอาณาจักรสเปนเข้ามามีอิทธิพลในฐานะผู้ปกครองของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวได้ปรากฏการแลกเปลี่ยนซื้อขายตำแหน่งในระบบราชการอาณานิคม ซึ่งเกี่ยวพันทั้งกับผู้ปกครองสเปนและชนชั้นสูงชาวพื้นเมือง ตำแหน่งระดับสูงในระบบราชการอาณานิคมถูกมองในฐานะผลประโยชน์อย่างหนึ่ง ในระดับเมือง ได้ปรากฏการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างชาวพื้นเมืองอันเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งนายกเทศมนตรี ในยุคปัจจุบัน การเมืองฟิลิปปินส์ก็ยังคงปรากฏไว้ซึ่งระบบดังกล่าวที่ได้รับการสืบทอดมา การเลือกตั้งแต่ละครั้งเต็มไปด้วยเรื่องของเส้นสายและผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มนักการเมืองรวมไปถึงผู้มีอิทธิพล และประเด็นของกลุ่มตระกูลสำคัญก็เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับระบบการเมืองอันเต็มไปด้วยพลังของระบบเจ้าพ่ออุปถัมป์เช่นกัน ในบางกรณี ก็ปรากฏผู้มีอิทธิพลนอกกฎหมาย (Mafia) เข้ามามีส่วนร่วมเช่นกัน โดยผ่านการใช้กลวิธีของระบบอุปถัมป์ร่วมกับการใช้ยุทธวิธีความรุนแรงเพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงสนับสนุนและอำนาจทางการเมืองในระบบ
ในส่วนกลไกการทำงานแบบทั่วไปของระบบเจ้าพ่ออุปถัมป์ สำหรับบริบททางการเมืองของฟิลิปปินส์แล้ว ก็ไม่พ้นไปจากเรื่องลูกเล่นว่าด้วยการจัดสรรผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพลและเหล่านักการเมืองท้องถิ่นอันเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อเสียงและการสนับสนุนทางการเมืองอันจะนำพวกเขาไปสู่ตำแหน่งทางการเมืองหรือเพื่อรักษาอำนาจเดิมทางการเมืองให้ยังคงอยู่ต่อไป โดยวิธีการหลักในระบบเจ้าพ่ออุปถัมป์เชิงการเมืองของฟิลิปปินส์ที่เหล่าผู้ต้องการ “อุปถัมป์” ใช้อุปถัมป์เหล่าผู้ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าก็ปรากฏอยู่ 3 วิธีการ อันได้แก่ การจัดสรรงบประมาณในโครงการสาธารณะเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือในศัพท์ทางเทคนิคเรียกว่า “Pork-Barreling” ถัดมาคือวิธีการร่วมงานทางสังคมแบบทั่วไปที่มิใช่งานสาธารณะอาทิ งานแต่งงาน หรืองานศพ เพื่อให้ตนเป็นที่รู้จักในคนหมู่มากและสร้างความรู้สึกใกล้ชิดให้กับผู้คน และวิธีสุดท้ายที่ดูจะไม่ค่อยมีลักษณะที่ซับซ้อนเท่าใดนักคือ การใช้เงินซื้อเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ก็มีปรากฏการใช้ความรุนแรงภายในโครงสร้างของระบบเจ้าพ่ออุปถัมป์เช่นกัน กรณีการสังหารหมู่ในมากินดาเนา ปี 2009 แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งในวงการเจ้าพ่ออุปถัมป์ด้วยกันเอง และเผยให้เห็นถึงวัฒนธรรมความรุนแรงของระบบเจ้าพ่ออุปถัมป์ที่ไม่เพียงไว้ใช้เพื่อควบคุมผู้ถูกอุปถัมป์เท่านั้น หากแต่เป็นไปเพื่อสยบและกดตัวแสดงอื่นที่จะเข้ามาท้าทายตนเอง โดยในตอนสายของวันที่ 23 พฤศจิกายน ปี 2009 ในขณะที่ขบวนผู้สนับสนุนนายเอสมาเอล มังงูดาดาตู และสมาชิกครอบครัวของเขากำลังเดินทางเพื่อที่จะไปยื่นสมัครลงเลือกตั้ง ซึ่งเอสมาเอลต้องการที่จะลงชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีมากินดาเนา ในการเดินทางดังกล่าว เอสมาเอลไม่ได้ร่วมไปด้วย หากแต่ส่งภรรยา น้องสาว และน้าสาวไป ระหว่างการเดินทางของขบวนดังกล่าว ได้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่โดยกลุ่มติดอาวุธที่ในเวลาต่อมาก็มีการสืบสาวไปถึงการมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญในการสังหารหมู่ดังกล่าวของตระกูลผู้มีอิทธิพลในพื้นที่อย่างตระกูลอัมปาตูวัน ทั้งตระกูลดังกล่าวก็ครองตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองมากินดาเนามาตั้งแต่ปี 2001 เหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างปรากฏการณ์อันโดดเด่นของระบบเจ้าพ่ออุปถัมป์ในฟิลิปปินส์
ความรุนแรงในระบบเจ้าพ่ออุปถัมป์ไม่เพียงสืบเนื่องจากอำนาจนอกกฏหมายของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เท่านั้นหากแต่ยังเกี่ยวพันกับการบริหารจัดการของรัฐบาลกลาง และวัฒนธรรมการไม่ถูกลงทัณฑ์อีกเช่นกัน รัฐบาลกลางฟิลิปปินส์มีนโยบายอนุญาตให้มีการจัดตั้งกองกำลังอื่นๆ นอกเหนือจากกองกำลังของรัฐอย่างตำรวจและทหาร ซึ่งเอื้อให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นซึ่งในความเป็นจริงถูกยึดครองตำแหน่งโดยผู้มีอิทธิพลสามารถสั่งสมกำลังอาวุธ ในสมัยของรัฐบาลอาโรโยสามารถเห็นได้ถึงการเชื่อมโยงกันระหว่างระบบเจ้าพ่ออุปถัมป์ท้องถิ่นกับผลประโยชน์ของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลกลางผูกมิตรกับผู้มีอิทธิพลอย่างอัมปาตูวันเพื่อให้กองกำลังของท้องถิ่นหันมาเป็นพวกเดียวกับรัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็เอื้อให้ตระกูลอัมปาตูวันสามารถแผ่ขยายอำนาจโดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดทางกฎหมาย หรือในทางหนึ่งข้อกฎหมายอันเป็นเครื่องมือของรัฐในการรักษาความสงบของประเทศซึ่งน่าจะมีระเบียบเดียวกันทั่วทั้งเขตอธิปไตย กลับกลายเป็นเครื่องมือในการตกลงอำนาจระหว่างอำนาจส่วนกลางและอำนาจท้องถิ่น ก่อเกิดเป็นรูโหว่ของระเบียบรัฐและสภาวะนอกกฏหมายที่จะส่งผลต่อเนื่องให้ระบบอุปถัมป์ยังดำรงต่อไปได้
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
กรกฎาคม 2557