นัต (Nat) เป็นชื่อเรียกของกลุ่มสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อพื้นเมืองของชาวพม่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวได้รับการสักการะบูชาอย่างแพร่หลายในประเทศเมียนมาร์ หนึ่งในประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในไทยก็มีความเชื่อในแนวทางที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก เพียงแต่เรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อว่า “ผี” ตามคติความเชื่อของชาวพม่า นัตผู้ซึ่งเป็นวิญญาณทรงอิทธิฤทธิ์มีความสามารถในการดลบันดาลให้ผู้คนอันเป็นมนุษย์ธรรมดาทั่วไปได้รับความเสียหายหรือเรื่องร้ายในชีวิตได้หากมนุษย์ทำให้นัตไม่พอใจ และในอีกทางหนึ่งก็สามารถดลบันดาลสิ่งที่ดีหรือความสมหวังให้แก่ผู้ที่เคารพบูชาได้เช่นกัน
ความเชื่อเกี่ยวกับนัตเป็นความเชื่อดั้งเดิมในบริเวณดินแดนริมอ่าวเบงกอลฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน นับตั้งแต่ก่อนที่พุทธศาสนานิกายเถรวาทจะเข้ามาจำหลักในพื้นที่และสำนึกของกลุ่มคนบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ศาสนาสากลอย่างพุทธศาสนาก็ไม่ได้ลบเลือนความเชื่อดั้งเดิมว่าด้วยผีสางของคนพื้นเมืองให้หมดไปแต่อย่างใด หากแต่ทั้งสองความเชื่อกลับดำรงอยู่คู่กันและยึดโยงซึ่งกันและกันมาจวบจนถึงปัจจุบัน
เดิมทีความเชื่อเรื่องนัต เป็นความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่สถิตอยู่ตามสิ่งๆ ต่างๆรายล้อมชุมชนของมนุษย์โดยที่ไม่ได้มีแบบแผนตายตัวร่วมกันทั่วทั้งเมียนมาร์ นัตในฐานะผีสางหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นตัวแสดงทรงอิทธิพลเหนือธรรมชาติที่ปกครองและมีอำนาจเหนือมนุษย์จึงมีลักษณะที่แตกต่างหลากหลายกันไปในรายละเอียด นัตมีหลายกลุ่ม อาทิ นัตหลวง 37 ตน ซึ่งจัดเป็นนัตชั้นสูง และนัตในฐานะภูติอื่นๆ ที่อยู่ในธรรมชาติหรือในวิถีชีวิตของมนุษย์ อาทิ นัตจำพวกที่เป็นผีที่ต้องมีการสืบทอดต่อๆกันมา หรือนัตในฐานะผีบ้านผีเรือนที่ผู้ศรัทธาเชื่อว่า นัตประเภทนี้จะปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่บ้านของตน ทั้งยังมีนัตที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านซึ่งอิทธิฤทธิ์ก็มีหน้าที่แทบไม่ต่างจากนัตผีบ้านผีเรือน หากแต่อยู่ในระดับที่กว้างกว่า
ในกรณีของนัตหลวง 37 ตน ที่ได้กล่าวไปในข้างต้น เป็นกลุ่มของนัตที่ปรากฏว่าได้ถูกจัดจำแนกให้เป็นระบบระเบียบในสมัยของกษัตริย์พุกามนามว่า อโนรธามังช่อ ผู้ซึ่งนำเอาพุทธศาสนานิกายเถรวาทเข้ามาสู่ดินแดนพม่าในอดีตและจำหลักมาจนถึงปัจจุบัน ในสมัยดังกล่าว ช่วงแรก อโนรธามังช่อพยายามที่จะชำระล้างกลุ่มความเชื่อแบบนัตให้หมดไป ทว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ประสบผล จึงนำไปสู่อีกกระบวนการหนึ่ง คือ การทำให้ความเชื่อดั้งเดิมสอดคล้องไปกับความเชื่อจากศูนย์กลางอำนาจ จึงเป็นที่มาของการจัดระบบนัตหลวงชั้นสูง 37 ตน ขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วยเทพสวรรค์และเหล่าคนที่ตายไปด้วยสาเหตุร้ายแรง หรือก่อนวัยอันควร เมื่อพิจารณาถึงประมุขของนัตที่มีชื่อว่า Thagyamin ก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากความเชื่อแบบอินเดีย ซึ่งก็คือ อินทร์ตามคติฮินดู หรือ สักกะตามคติพุทธ ซึ่งก็นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของกระบวนการผสมผสานกันของความเชื่อดังที่ได้กล่าวถึงแล้วในข้างต้น
ตามคติความเชื่อในเรื่องนัต ได้ปรากฏเทศกาลทั้งยังเป็นพิธีกรรมสำคัญสำหรับเหล่าผู้ที่นับถือความเชื่อดังกล่าว ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Nat Pwe อันหมายถึงเทศกาลวิญญาณ ในพิธีกรรมดังกล่าว หากกล่าวกันในมุมของความเชื่อ จะมีพิธีอัญเชิญนัตออกมาผ่านการเข้าทรง โดยร่างทรงจะถูกเรียกว่า “Nat Kadaw” ซึ่งนับเป็นตัวแสดงหลักของเทศกาลและพิธีกรรมดังกล่าว ร่างทรงจะแต่งกายด้วยเครื่องทรงพื้นเมืองที่ประดับประดาไว้ด้วยลวดลายแพรวพราว พิธีเริ่มขึ้นด้วยการประโคมดนตรีพื้นเมืองเสียงดังกระหึ่ม ภายในพิธีผู้เข้าร่วมพิธีจะถวายเครื่องเซ่นไหว้อันได้แก่ เงิน สุรา และยาสูบ โดยมีความเชื่อว่าการถวายสิ่งของดังกล่าวจะนำมาซึ่งความเจริญและความโชคดีแก่ผู้ถวาย ภายใต้กระบวนการจัดงาน เมื่อถึงวันงานจะมีการว่าจ้างวงดนตรีสำหรับบรรเลงและจองตัวนักร้องสำหรับพิธีดังกล่าว
ในปัจจุบัน นัตได้ถูกนำมาเป็นประเด็นถกเถียงกันในเรื่องการที่กระแสสมัยใหม่กำลังทำให้พิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมเสื่อมความนิยมและสูญสลายไป ทางหนึ่งได้เสนอว่า นัตกำลังเสื่อมความนิยมลงไปตามบริบทของการเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ของเมียนมาร์ อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อโต้แย้งจากนักวิชาการอีกกลุ่มว่านัตไม่ได้เสื่อมความนิยมลงไป หากแต่ความเชื่อดังกล่าวกลับสามารถปรับตัวไปกับยุคสมัยใหม่ได้อีกด้วยซ้ำ ดังจะเห็นได้จากที่ ความเชื่อนัตยังคงปรากฏในพิธีเฉลิมฉลองต่างๆ ในแทบทุกที่ หรือแม้แต่บทบาทในการให้พรหรือปฏิบัติตนของ Nat Kadaw ที่เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยตอบสนองคำขอในเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัย ก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นพรในเรื่องความมั่นคงทางการเงิน หรือแม้แต่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่เข้ามาขอพร
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
กรกฎาคม 2560