นโยบายสังคมใหม่ (New Society) เป็นนโยบายปฏิรูปสังคมตามทัศนคติของผู้นำฟิลิปปินส์ผู้หนึ่งในช่วงที่สงครามเย็นกำลังระอุในฟิลิปปินส์รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้นำคนดังกล่าวคือ เฟอร์ดินานด์ มากอส ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักจากผลงานการครองอำนาจเป็นเวลานานเกินกว่าที่มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการครองอำนาจอันมาจากการใช้กฎอัยการศึกที่เป็นเครื่องมือทางกฎหมายและการเมืองอันเอื้อประโยชน์ทางอำนาจให้แก่ประธานาธิบดี โดยภายใต้กฎอัยการศึกนี้เองที่มากอสได้แสดงทัศนคติว่า เป็นไปเพื่อฟื้นฟูระเบียบและคุณภาพของกฎหมายในสังคม และเป็นไปเพื่อสถาปนา “สังคมใหม่” นั่นเอง
สังคมใหม่ที่เฟอร์ดินานด์ มากอสกล่าวถึง ไม่ได้เป็นเพียงคำกล่าวเลื่อนลอยสำหรับประกอบการใช้กฎอัยการศึกเพื่อให้การรวบและเพิ่มพูนอำนาจของประธานาธิบดีดูสวยหรูเท่านั้น หากแต่ดูจะมีการจัดทำแผนการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งทำให้คำว่า “สังคมใหม่” ที่ถูกบอกกล่าวโดยรัฐบาล มีลักษณะของแผนการที่ได้รับการดำเนินการอย่างรูปธรรมและเป็นระบบ โดยนโยบายสังคมใหม่ภายใต้กฎอัยการศึกนั้นเป็นไปตามประสงค์ของประธานาธิบดีที่ต้องการปฏิรูปในด้านต่างๆ อันได้แก่ ความสงบและความเป็นระเบียบ, การปฏิรูปที่ดิน, การปฏิรูปการศึกษา, การปฏิรูปแรงงาน, การจัดระบบรัฐบาลใหม่, การปฏิรูปเศรษฐกิจ และสวัสดิการสังคม
ในด้านการปฏิรูปความสงบและความเป็นระเบียบของสังคม การดำเนินนโยบายของรัฐบาลอัยการศึกดูจะเป็นไปในแนวทางของยกระดับหน่วยงานและปฏิบัติการด้านความมั่นคงภายในให้มีลักษณะที่ทรงอานุภาพมากขึ้น ในช่วงต้นของการประกาศใช้นโยบายปรากฏว่า กลุ่มกองกำลังติดอาวุธและองค์กรอาชญากรรมในฟิลิปปินส์ถูกปราบปรามเป็นจำนวนมาก โดยรัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยผสมระหว่างตำรวจและทหารในปฏิบัติการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับอาชญากรรมและการค้ายาที่ดูเหมือนจะหมดไปด้วยการปราบปรามที่กล่าวมา กลับฟื้นฟูอีกครั้งในปีถัดมา รัฐบาลอัยการศึกก็ได้ขับเคี่ยวกับปัญหาดังกล่าวมากขึ้นไปอีก ด้วยการเพิ่มงบประมาณให้แก่หน่วยงานปราบปราม พร้อมทั้งจัดตั้งหน่วยเฉพาะขึ้นมาใหม่ และเชื่อมโยงการสืบหาเบาะแสกับหน่วยปกครองระดับท้องถิ่นอย่างบารังไก นอกจากนี้ นโยบายสังคมใหม่ยังรวมไปถึงการจัดการกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐอย่างกลุ่มคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์และกลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามติดอาวุธที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ
ในส่วนของการปฏิรูปที่ดิน รัฐบาลพยายามที่จะจัดการปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งและความตึงเครียดในประเด็นชาวนาผู้ยากจนไร้ที่ทำกินที่ยังต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของนายทุนเจ้าของที่ดิน รัฐบาลผลักดันการแก้ปัญหาผ่านกลไกทางกฏหมายเชิงเศรษฐกิจว่าด้วยการจัดสรรที่ทำกินและการปลดปล่อยชาวนาติดที่ดินออกจากแอกการเป็นประหนึ่งทาสของเจ้าของที่ดิน ในด้านการปฏิรูปการศึกษา รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพของการศึกษาในด้านต่างๆ อาทิ การศึกษาแบบสองภาษา นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะทำให้การศึกษาเข้าถึงผู้คนง่ายยิ่งขึ้นผ่านนโยบายเรียนก่อนจ่ายทีหลัง ในด้านการปฏิรูปแรงงาน รัฐบาลออกกฎหมายต่างๆ ด้วยจุดประสงค์ที่มุ่งพัฒนาทักษะของแรงงานและเพิ่มพลังการต่อรองของกลุ่มแรงงาน ในด้านการปฏิรูปองค์กรภาครัฐ ได้มีการดำเนินการเพื่อ “กำจัด” เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ทุจริต มีพนักงานในหลายตำแหน่งของรัฐถูกไล่ออก นอกจากนี้ยังมีโครงการ “ประชาธิปไตยระดับบารังไก” ในด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจ ได้มีการผลักดันจากรัฐบาลในการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะทำให้ฟิลิปปินส์มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อาทิ ซีเมนต์, อิเล็กทรอนิกส์, สิ่งทอ, และปิโตรเคมี ในส่วนของการจัดการดูแลสังคม รัฐบาลกฎอัยการศึกได้ริเริ่มแผนการต่างๆ อาทิ การจัดการด้านสุขภาพและโภชนาการ, การวางแผนครอบครัว และการดูแลด้านเคหสถาน
หากมองดูจากแผนการและผลประโยชน์ของนโยบายสังคมใหม่ ก็นับเป็นอุดมคติที่พึงปรารถนาสำหรับมนุษย์ อย่างไรก็ตาม นโยบายสังคมใหม่และมากอสก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบเช่นกัน ภายใต้การปฏิรูปด้านต่างๆ ของมากอสเป็นไปเพียงเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองระดับสูงที่ขวางเส้นทางอำนาจของเขา แม้ว่ารัฐบาลอัยการศึกจะสามารถกำจัดกลุ่มอำนาจเก่าที่เคยสร้างปัญหาแก่สังคมได้ ทว่า ก็เป็นพวกเขาเองที่สถาปนาตนเองเป็นอำนาจขั้วเดียวใหม่ในสังคมฟิลิปปินส์ ในส่วนของดำเนินการด้านงบประมาณและผลประโยชน์ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นไปเพื่อการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง รูปแบบการทุจริตดังกล่าวถึงกับได้รับการนิยามเป็นศัพท์เฉพาะว่าทุนนิยมพวกพ้อง (Crony Capitalism) ในส่วนของการปราบปรามอาชญากรรมก็กลับเกิดเหตุการณ์ตลกร้ายเมื่อรัฐบาลมากอสกลับมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารศัตรูทางการเมืองของเขาเสียเอง ซึ่งก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านที่ยกระดับขึ้นจนนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลอัยการศึกในปี 1986 โดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ
กาญจนพงค์ รินสินธุ์