โง ดิน เดียม (NgôĐìnhDiệm) เป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้นำคนสำคัญของเวียดนามใต้ หรือสาธารณรัฐเวียดนาม บทบาทสำคัญของเขาในฐานะผู้นำของสาธารณรัฐเวียดนามคือ การเป็นผู้นำฝ่ายเวียดนามใต้และทำสงครามกับฝ่ายเวียดนามเหนือหรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม โดยเขาได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากสหรัฐอเมริกาที่ต้องการสกัดกั้นการเติบโตของฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างเวียดนามเหนือ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เวียดนามใต้อยู่ภายใต้การปกครองที่ค่อนข้างจะเผด็จการของเขา ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลมักจะต้องประสบกับการปราบปรามที่รุนแรงจากฝ่ายรัฐบาล
โง ดิน เดียมเกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 1901 ในครอบครัวของชาวเวียดนามชั้นสูงที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเขาได้เข้ารับศึกษาในด้านการบริหารเมื่อปี ค.ศ. 1918 และตั้งแต่ปี ค.ศ.1921 จนถึงปี ค.ศ. 1930 หน้าที่การงานในแวดวงข้าราชการอาณานิคมก็เติบโตขึ้นอย่างมาก เขาสามารถเลื่อนขั้นตนเองจากพนักงานระดับล่างไปสู่ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนินถวนในระยะเวลาประมาณ 10 ปี โง ดิน เดียมเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของอาณานิคมฝรั่งเศสในอินโดจีนเมื่อปี ค.ศ. 1933 อย่างไรก็ตามเขาก็ลาออกจากตำแหน่งภายในเวลาเกือบจะไม่ถึงสองเดือนหลังจากนั้น ด้วยเหตุผลที่เขาไม่เห็นดัวยกับการปกครองของฝรั่งเศส เส้นทางนักชาตินิยมของเขาก็เริ่มโดดเด่นนับแต่นั้นมา
แม้ว่าในปี ค.ศ. 1945 โง ดิน เดียมจะถูกลักพาตัวโดยฝ่ายเวียดมินห์และได้รับการเชิญให้เข้าร่วมกับขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนามโดยโฮจิมินห์เพื่อขับไล่จักรวรรดินิยมกระนั้นเขาก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวไป ภายหลังจากรอดพ้นจากการถูกควบคุมโดยเวียดมินห์ ปัญหาการเมืองซึ่งอาจส่งผลถึงชีวิตได้บีบให้เขาต้องถอยไปตั้งหลักที่สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1954 เขาได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของจักรพรรดิเบาได๋ซึ่งปกครองเขตเวียดนามใต้อยู่ ณ ขณะนั้น
ในเวลาต่อมา โง ดิน เดียมก็ได้กลายเป็นผู้นำสูงสุดของเวียดนามใต้จากการที่เขารับชัยชนะจากการเลือกตั้งที่เขาจัดขึ้นซึ่งทำให้จักรพรรดิเบาได๋ถูกปลดออกจากตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ และทำให้เวียดนามใต้กลายเป็นสาธารณรัฐเวียดนามตามความประสงค์ของเขาในช่วงแรกของการเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเวียดนาม โง ดิน เดียมได้แสดงท่าทีของประธานาธิบดีที่ดีด้วยการอำนวยด้านสาธารณประโยชน์แก่ประชาชนของเขา อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของเขาก็เริ่มตกต่ำลงเมื่อเขาได้ทำการปราบปรามผู้ที่ต่อต้านเขาด้วยวิธีการที่รุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ค.ศ. 1959 ที่โง ดิน เดียมได้ใช้มาตรการปรามปรามขั้นเด็ดขาดผ่านประกาศ 10/59 ที่ให้สิทธิแก่ศาลทหารพิเศษดำเนินการตัดสินประหารชีวิตได้โดยไม่ต้องไต่สวน การดำเนินการดังกล่าวกลับยิ่งทำให้ประชาชนต่อต้านเขามากขึ้นเรื่อยๆ
ในด้านความสัมพันธ์กับฝ่ายเวียดนามเหนือหรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม โง ดิน เดียมมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์อย่างมากต่อฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นผลมาจากแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์ของเขาที่มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1930s แล้ว แม้ว่าจะข้อตกลงเจนีวา ปี ค.ศ. 1954 ได้ระบุให้เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รวมเป็นรัฐเดียวกันทันทีภายหลังจากการเลือกตั้งที่ถูกจัดวางไว้ว่าจะมีขึ้นใน ปี ค.ศ. 1956 โง ดิน เดียมได้ละเมิดข้อตกลงดังกล่าวและดำเนินการแยกตัวเวียดนามใต้ให้กลายเป็นรัฐใหม่ในนามสาธารณรัฐเวียดนาม โดยมีสหรัฐอเมริกาคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง รัฐบาลของโง ดิน เดียมได้ส่งกองทัพเข้าสู้รบกับฝ่ายเวียดกงนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 แม้ในช่วงแรกฝ่ายเวียดนามใต้จะได้เปรียบเนื่องจากความเหนือกว่าของอาวุธยุทโธปกรณ์ อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาต่อมากองกำลังปลดปล่อยฝ่ายเวียดกงเริ่มสามารถรับมือกับยุทธวิธีที่ฝ่ายเวียดนามใต้ใช้ และสามารถเข้ายึดดินแดนสำคัญที่เคยเป็นจุดยุทธศาสตร์ของฝ่ายเวียดนามใต้ได้ กองทัพเวียดนามใต้ของโง ดิน เดียมที่แม้ว่าได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ก็ได้กลายเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบและค่อยๆเป็นฝ่ายที่ต้องล่าถอย
แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าโง ดิน เดียมประหนึ่งเป็นหุ่นเชิดที่สหรัฐอเมริกาคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง แต่ที่จริงแล้วเขาเองก็ขัดขืนไม่ยอมทำตามคำสั่งการของทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งนั่นเองที่ทำให้เขาถูกทางสหรัฐอเมริกามองว่าเป็นเพียงผู้นำที่ไร้น้ำยา และเป็นผู้กระหน่ำซ้ำเติมความล้มเหลวให้เพิ่มขึ้นไปอีกแก่สหรัฐอเมริกาในการทำสงครามที่มากปัญหาครั้งนี้ ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวได้นำมาซึ่งจุดจบของอำนาจและชีวิตของเขา เมื่อเขาและน้องชาย โงดินหญู ได้ถูกลอบสังหารขณะกำลังเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศในปี ค.ศ. 1963 หลังจากที่รัฐบาลของเขาถูกก่อการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจไปในปีเดียวกัน การตายของเขายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า แท้จริงแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นการร่วมมือกันระหว่างสหรัฐอเมริกากับนายทหารของเวียดนามที่ต้องการจะกำจัดโง ดิน เดียมให้พ้นจากตำแหน่งและแทนที่ตำแหน่งผู้นำเวียดนามใต้ด้วยผู้บัญชาการคนใหม่ที่รับการสั่งการโดยตรงจากสหรัฐอเมริกา
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
กรกฎาคม 2559