จินเป็ง(Chin Peng)ชื่อนี้เป็นอีกหนึ่งตำนานผู้นำกองกำลังติดอาวุธผู้เชี่ยวชาญการทำสงครามกองโจร และจินเป็งผู้นี้ยังมีตำแหน่งเป็นถึงอดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์มลายา ช่วงปลายทศวรรษ 1940ถึงต้นทศวรรษ 1950ในดินแดนมลายาภายใต้การปกครองของอังกฤษ คนเชื้อสายจีนเป็นพวกที่ด้อยสิทธิ์ด้อยเสียง ทำให้คนหนุ่มสาวชาวจีนจำนวนไม่น้อยหันหน้าเข้าหาลัทธิคอมมิวนิสต์นิยม เพื่อเป็นตัวแทนความยุติธรรมทางสังคม และหนึ่งในนั้นก็คือ จินเป็ง
จินเป็ง หรือ จีนเป็ง มีชื่อจริงว่า อองบุนหัว (Ong Boon Hua) เกิดเมื่อ 21 ตุลาคม 1924เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน เกิดในครอบครัวชาวจีนฐานะดีที่รัฐเปรัค ก่อนที่ครอบครัวนี้จะย้ายไปตั้งร้านขายอะไหล่รถยนต์ที่ปีนัง เขาเข้าเรียนในโรงเรียนภาษาจีนในซิเตียวันระหว่างเรียนหนังสือที่โรงเรียนจีน เริ่มได้รับการบ่มเพาะอุดมการณ์คอมมิวนิสต์จากครูว่าเป็นแนวทางเดียวที่จะนำความยุติธรรมและความเท่าเทียมมาสู่ชาวจีนในคาบสมุทรมลายู ซึ่งถูกกดขี่ยิ่งกว่าพลเมืองชั้นสองชั้นสาม ต่อมา ในปี 1937 เขาเข้าร่วมในสมาคมสนับสนุนการต่อต้านศัตรูของชาวจีนซึ่งก่อตั้งเพื่อช่วยเหลือจีนต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น ในเวลานั้นเขายังไม่ได้นิยมคอมมิวนิสต์ เขาเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านญี่ปุ่นในโรงเรียน เป็นผู้สนับสนุนซุน ยัดเซ็น จนราวในปี 1939 โรงเรียนที่เขาเรียนอยู่ปิดตัวเพราะขาดแคลนเงิน เขาจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนของนิกายเมโทดิสต์ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อออกจากโรงเรียนเขาสนใจกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น และกลายเป็นนักปฏิวัติในที่สุด ในเดือนมกราคม1939 ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายู ต่อมาในเดือนกันยายน 1940 พรรคได้ส่งเขาไปยังอีโปห์ในฐานะคณะกรรมการแห่งเปรัค และเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม ต่อมาในต้นปี 1941 สมาคมสนับสนุนการต่อต้านศัตรูของชาวจีนได้สลายตัว จินเป็ง จึงกลายเป็นคณะกรรมการระดับตำบลของพรรคในเปรัค ต่อมาในเดือนมิถุนายนเขาได้เป็นคณะกรรมการรัฐเปรัค
สำหรับบทบาทในฐานะ คณะกรรมการจินเป็งมีบทบาทมากในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งชาวจีนในมลายาจำนวนมากต่อสู้แบบกองโจรต่อต้านญี่ปุ่นโดยได้แบบอย่างมาจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อกองทัพประชาชนมลายาต่อต้านญี่ปุ่น จินเป็ง เป็นผู้ประสานงานระหว่างกองทัพประชาชนและกองทัพอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองจินเป็ง ได้นำพลพรรคชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนทำสงครามกองโจรต่อต้านทหารญี่ปุ่นอย่างกล้าหาญในช่วงที่กองทัพสัมพันธมิตรถูกกองทัพลูกหลานซามูไรกวาดออกไปจากคาบสมุทรมลายาและเกาะสิงคโปร์ จากความกล้าหาญนี้ทำให้จินเป็ง ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นโอบีอี ซึ่งถูกริบคืนในภายหลัง ทั้งยังได้รับเชิญไปร่วมเดินแถวฉลองชัยชนะที่กรุงลอนดอนด้วย
จนเมื่อสงครามโลกยุติลง และอังกฤษกลับเข้ามาปกครองมลายาอีกครั้ง ในระหว่างนี้ จินเป็งจึงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายาคนใหม่เมื่อปี 1947 และได้กลายเป็นผู้นำกองทัพคอมมิวนิสต์ต่อต้านการครอบครองของอังกฤษเพื่อเอกราชมลายา จนกลายเป็นศัตรูสำคัญที่อังกฤษตั้งค่าหัวถึง 250,000 เหรียญ ด้วยการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดของฝ่ายอังกฤษ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์มลายาต้องย้ายศูนย์กลางพรรค ข้ามมาอยู่ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ในประเทศไทย และต่อมา ทางการไทยจะเรียกกองกำลังนี้ว่า “โจรจีนคอมมิวนิสต์” หรือ จคม. และถือเป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายภาคใต้
ภายใต้กระแสการต่อสู้เพื่อเอกราช และการกดดันจากสถานการณ์สากล อังกฤษจึงต้องยอมผ่อนปรน และมอบเอกราชให้กับชนชั้นสูงมาเลย์ ตั้งเป็นสหพันธรัฐมลายา ได้รับเอกราชสมบูรณ์ เมื่อปี 1957 โดยมีรัฐบาลพันธมิตรอัมโน ของตนกูอับดุล เราะห์มาน บริหารประเทศ ซึ่งก็ถือความสืบเนื่องของนโยบายในการปราบปรามฝ่ายคอมมิวนิสต์ ต่อมา มลายาได้รวมกับบอร์เนียวเหนือและซาราวัค เป็นประเทศมาเลเซียเมื่อปี 1963 ส่วนสิงคโปร์ได้แยกตัวออกเป็นประเทศอิสระในปี 1965
การต่อสู้ด้วยอาวุธของคอมมิวนิสต์มลายายังดำเนินต่อไป เพื่อปฏิวัติมลายาให้เป็นสังคมนิยม แต่ก็ประสบปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะเกิดการแตกแยกภายในเป็น 3 พรรค ตั้งแต่ปี 1970 คือ พรรคคอมมิวนิสต์มลายาเดิม ที่ยังคงมีจีนเป็งเป็นเลขาธิการ ตั้งสำนักศูนย์กลางที่เบตงตะวันออก ส่วนอีก 2 พรรค คือ พรรคคอมมิวนิสต์มลายา (ลัทธิมาร์กซ์ - เลนิน) นำโดย จางจงหมิง ตั้งอยู่ที่เบตงตะวันตก และพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (ฝ่ายปฏิวัติ) นำโดย อี้เจียง ตั้งอยู่ที่สะเดา ในสมัยรัฐบาลประชาธิปไตยของ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ไทยได้เป็นผู้ประสานให้มีการยุติศึก โดยมีการลงนามในสัญญาสันติภาพระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลมาเลเซียในวันที่ 2 ธันวาคม 1989 ฝ่ายพลพรรคยินยอมที่จะวางอาวุธและตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย และรัฐบาลมาเลเซียยอมรับในเงื่อนไขที่จะให้ผู้ปฏิบัติงานที่วางอาวุธ กลับไปใช้ชีวิตปกติสุขในประเทศมาเลเซียได้อย่างมีศักดิ์ศรี
แต่กระนั้น จินเป็งและกรรมการพรรคส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับประเทศ และพลพรรคของ พคม. นับหมื่นคนต้องตั้งถิ่นฐานถาวรในประเทศไทย ทั้งที่ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา จินเป็งใช้ชีวิตที่เหลือในประเทศไทย หรือเดินทางไปประเทศจีน และกลายเป็นผู้ถูกเนรเทศตลอดกาล และในที่สุดจินเป็งก็ถึงแก่อนิจกรรมในประเทศไทยเมื่ออายุ 88 ปี ในโรงพยาบาลกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2013 ร่างของเขาถูกฝังในกรุงเทพฯ แม้ว่าเขาต้องการให้ฝังในซิเตียวัน แต่รัฐบาลมาเลเซียปฏิเสธไม่ให้นำร่างของเขาเข้าประเทศ โดยรัฐบาลมาเลเซียได้อ้างถ้อยแถลงของนาจิบ ราซัค นายกรัฐนมตรีที่ว่า จะไม่อนุญาตให้นำศพหรือกระทั่งกระดูกและอังคารของจินเป็งกลับมายังแดนเสือเหลือง จินเป็งจึงเป็นที่จดจำกันในมาเลเซียว่าเป็นผู้นำกลุ่มการก่อการร้ายที่ทำสงครามต่อต้านประเทศชาติ เข่นฆ่าสังหารประชาชนอย่างโหดเหี้ยมและโจมตีกองกำลังความมั่นคงของมาเลเซีย แม้กระทั่งภาพยนตร์เชิงสารคดีเกี่ยวกับจินเป็งในชื่อเรื่อง “คอมมิวนิสต์คนสุดท้าย” ถูกต่อต้านและถูกสั่งห้ามฉายในมาเลเซีย
ก่อนที่จะถึงแก่กรรม จินเป็งได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ คือ เอียน วอร์ค และ นอร์มา มิราฟลอร์ ซึ่งได้เรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ My Side of Historyพิมพ์ที่สิงคโปร์ เมื่อปี 2003 แล้วจึงแปลถ่ายทอดออกเป็นภาษาไทย ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้เกิดการขยายความรู้เรื่องประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของมาเลเซีย ในด้านที่ทางการรัฐบาลของมาเลเซีย อาจจะไม่ได้อยากจะพูดถึง และก็น่าจะเป็นประโยชน์ในด้านบทเรียนแห่งการต่อสู้ของภาคประชาชนอีกด้วย
นูรุลฮูดา ฮามะ
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Barnard, RohayatiPaseng and Timothy P. Barnard. “The Ambivalence of P. Ramlee: PenarekBeca and BujangLapok in Perspective.” Asian Cinema13, 2 (Fall/Winter 2002): 9-23.
Barnard, Timothy P. “Film, Literature, and Context in Southeast Asia: P. Ramlee, Malay Cinema, and History.” In Southeast Asian Studies: Debates and New Directions, edited by Cynthia Chou and Vincent Houben, 162-79. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2006.
Harding, James and Ahmad Sarji.P.Ramlee: The Bright Star. Subang Jaya, Selangor: Pelanduk, 2002.
Ramli Ismail. KenanganAbadi P. Ramlee. Kuala Lumpur: Adhicipta, 1998.