แนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional หรือ BN) ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1974 เป็นปีกขวา ของพรรคการเมืองในประเทศมาเลเซีย ถือเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภาของมาเลเซียก็ว่าได้ แนวร่วมแห่งชาติก่อตั้งขึ้นแทนพรรคเก่าที่มีชื่อว่า พรรคพันธมิตร (Parti Perikatan) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1955 โดยการริเริ่มของพรรคอัมโน (United Malay National Organization) และพรรคสมาคมจีนมาเลเซีย (Malaysian Chinese Association; MCA) ต่อมาพรรคพรรคสภาอินเดียมาเลเซีย (Malaysia Indian Congress; MIC) ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย
พรรคพันธมิตรถูกสร้างขึ้นเพื่อมุ่งหวังที่จะเอาชนะการเลือกตั้งในสังคมหลากหลายเชื้อชาติ ที่แต่ละเชื้อชาติต่างก็แข่งขันกัน การดึงเอาตัวแทนของแต่ละเชื้อชาติเข้ามา ช่วยเรียกสียงสนับสนุนจากประชาชนได้มากกว่าพรรคอื่นๆ ทำให้พรรคได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตามปัญหาหนึ่งของพรรคพันธมิตรคือ แต่ละพรรคสมาชิกต่างพยายามรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนไว้อย่างเหนียวแน่น จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์จลาจลทางเชื้อชาติในปี 1969 รัฐบาลเริ่มตระหนักว่าควรกระจายผลประโยชน์ไปสู่กลุ่มอื่นๆ บ้าง จึงขยายสมาชิกพรรคพันธมิตรไปยังฝ่ายการเมืองอื่น เริ่มมีการเจรจากับพรรคฝ่ายค้านในปี 1971 นำไปสู่การจดทะเบียนพรรคการเมืองในนามของ Barisan Nasional ในปี 1974 พร้อมคำขวัญที่ว่า “ความยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย” ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีตุนกู อับดุล ราซัค
ช่วงแรกแนวร่วมแห่งชาติสามารถดึงพรรคการเมืองอื่นมาเข้าร่วมได้ถึงหกพรรค อาทิ สมาคมชาวจีนซาราวัค, พรรคพันธมิตรซาราวัค, พรรคภูมิบุตรซาราวัค, พรรคเปสะกะซาราวัค, พรรคเกอรากัน และพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (Pan-Malaysian Islamic Party; PAS) ในเวลาต่อมาก็ดึงเอาพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ เข้าร่วมมากขึ้น เช่น พรรคเสรีประชาธิปไตย เป็นต้น วิธีการเช่นนี้ทำให้พรรคแนวร่วมแห่งชาติได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมาโดยตลอด และมักจะได้สมาชิกเข้ามานั่งในสภาไม่ต่ำกว่าสองในสามเสมอ ต่อมาในปี 1977 พรรคปาส ถูกขับออกจากพรรค เนื่องมาจากกรณีของดาตุกโมฮัมหมัด นาซีร์ มุขมนตรีของรัฐกลันตันถูกลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจ จนเกิดจลาจลขึ้นในโกตาบาห์รู เมืองหลวงของรัฐ หลังจากรัฐบาลเสนอพระราชบัญญัติยกเลิกสภานิติบัญญัติของรัฐกลันตันและให้ปกครองในสภาวะฉุกเฉิน พรรคปาสได้ลงคะแนนเสียงคัดค้าน จนเกิดการแตกหักกับพรรคแนวร่วมแห่งชาติในท้ายที่สุด
แต่กระนั้นแนวร่วมแห่งชาติก็ยังคงได้ที่นั่งในสภาไม่ต่ำกว่าสองในสาม เช่น ในปี 1986 ได้ 148 ที่นั่ง จากทั้งหมด 177 ที่นั่ง ในปี 1990 และปี 1995 ได้ 127 ที่นั่ง จาก 180 ที่นั่ง และ 164 ที่นั่ง จาก 194 ที่นั่ง จะเห็นว่าพรรคแนวร่วมแห่งชาติครองอำนาจทางการเมืองมายาวนาน แม้ว่าจะสูญเสียคะแนนเสียงของรัฐกลันตัน ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคปาสไปก็ตาม
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน แนวร่วมแห่งชาติมีสมาชิกจากพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งสิ้น 13 พรรค แต่ละพรรคสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองภายใต้ชื่อพรรคของตนเอง และสามารถที่จะลาออกจากการเป็นสมาชิกของแนวร่วมแห่งชาติได้ แต่การเข้ามาเป็นสมาชิกแนวร่วมแห่งชาติจะยากเล็กน้อย เนื่องจากทุกพรรคการเมืองที่สังกัดแนวร่วมแห่งชาติ จะต้องเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ต่อการเข้ามาเป็นสมาชิก ในกรณีพรรคใดพรรคหนึ่งพรรคในสังกัดแนวร่วมแห่งชาติไม่เห็นด้วย พรรคการเมืองนั้นก็ไม่สามารถจะสมัครเป็นสมาชิกเข้าสังกัดแนวร่วมแห่งชาติได้ เช่น กรณีที่พรรคสภาอินเดียมุสลิมมาเลเซีย (Kongres India Muslim Malaysia; KIMMA) จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกสังกัดแนวร่วมแห่งชาติ แต่พรรคสภาอินเดียแห่งมาเลเซีย กลับคัดค้านโดยแย้งว่าพรรคสภาอินเดียแห่งมาเลเซียเป็นตัวแทนของชาวอินเดียอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าพรรคสภาอินเดียมุสลิมมาเลเซียต้องการเข้าร่วมสังกัดแนวร่วมแห่งชาติ ก็สามารถทำได้โดยสลายตัวมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคสภาอินเดียแห่งมาเลเซียแทน และยังมีกรณีพรรคการเมืองอื่นๆอีกหลายพรรค
ในปี 2003 ฐานเสียงแนวร่วมแห่งชาติเติบโตขึ้นอย่างมาก ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2004 แนวร่วมแห่งชาติสามารถคว้าที่นั่งในสภาได้ถึง 198 ที่นั่ง จากทั้งหมด 219 ที่นั่ง จนกระทั่งถึงการเลือกตั้งครั้งถัดมาในปี 2008 ซึ่งถูกเรียกขานกันว่าเป็น “สึนามิทางการเมือง” ในปีนี้แนวร่วมแห่งชาติสูญเสียชัยชนะในรัฐเคดาห์ ที่ถือเป็นพื้นที่สำคัญทางการเมืองของพรรค และเป็นพื้นที่ที่พรรคอัมโนครองชัยชนะมายาวนาน แต่ในการเลือกตั้งของปี 2008 พรรคปาสกลับมีคะแนนเสียงมากกว่าพรรคอัมโน จากผลการเลือกตั้งของรัฐเคดาห์ในปี 2008 ทำให้แนวร่วมแห่งชาติและพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ที่นั่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติในจำนวนที่ไล่เลี่ยกัน ในส่วนของรัฐเปรัก แม้ว่าพรรคที่ทำคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งจะเป็นพรรคอัมโนที่ได้จำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐไป 28 ที่นั่ง แต่ขณะเดียวกันพรรคอัมโนกลับพ่ายแพ้ในการรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่น โดยรัฐต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่มีความสำคัญ การเลือกตั้งในปี 2008 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างความนิยมต่อพรรคการเมืองฝ่ายค้าน พรรคฝ่ายค้านได้จำนวนที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์
นับแต่ปี 2008 เป็นต้นมา แนวร่วมแห่งชาติยังคงสูญเสียคะแนนเสียงอย่างต่อเนื่อง ในการเลือกตั้งทั่วไป 2013 กลายเป็นผลการเลือกตั้งที่เลวร้ายที่สุดของแนวร่วมแห่งชาติ แม้ว่าจะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็พ่ายแพ้คะแนนความนิยมให้กับฝ่ายค้าน และเริ่มสูญเสียที่นั่งสองในสามของสภา
ปัจจุบันแนวร่วมแห่งชาติภายใต้การนำของนายนาจิบ ราซัค ยังคงเป็นที่น่าสนใจว่าจะมีวิธีการจัดการกับคะแนนเสียงที่เริ่มจะสูญเสียไปอย่างไร ท่ามกลางความคุกกรุ่นทางเชื้อชาติ แม้จะมีความพยายามแสดงให้เห็นผ่านนโยบาย 1Malaysia แต่ดูเหมือนว่ามันก็ไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่ฝังรากลึกในสังคมมาเลเซียมาอย่างยาวนาน
มนัสวี นาคสุวรรณ์
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Barisan Nasional. Search on 5 July 2016, Retrieved from Wikipedia:
https://en.wikipedia.org/wiki/Barisan_Nasional.
Nusantara Studies Center. (2013, เมษายน 3). พรรคการเมืองต่างๆในประเทศมาเลเซีย.[ออนไลน์]. สืบค้นจาก:
http://nikrakib.blogspot.com/2013/04/blog-post_30.html.
สีดา สอนศรี. (2546). พรรคการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ศึกษาเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย
ฟิลิปปินส์ ไทย และมาเลเซีย. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ. บริษัท พัฒนวิจัย