แนวคิดลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แพร่ขยายเข้ามายังชุมชนชาวจีนในมลายาโดยผ่านตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนก๊กมินตั๋ง ตั้งแต่ปี 1924 ซึ่งเข้ามาเผยแพร่อุดมการณ์ปฏิวัติและปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่อ ความรู้สึกชาตินิยมในหมู่คนจีนในมลายา ทั้งในหมู่นักศึกษาตามโรงเรียนจีน สมาคมแซ่ต่างๆ และกรรมกรในองค์กร ตลอดจนคนรับใช้ตามบ้านเรือนหรือกุลีสวนยางนำไปสู่การก่อตั้งสมาคมชาวจีนโพ้นทะเลและก่อตั้งสหภาพแรงงานนานาชาติ จนกระทั่งในปี 1926 จึงมีการจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า “สหภาพแรงงานนานยาง” (Nan yang General Labor Union - NGLU) ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลและการกำกับควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่อมาในปี 1927 พรรคคอมมิวนิสต์จีนพิจารณาเห็นว่าเพื่อให้สามารถดำเนินงานและกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและคลอบคลุม จึงได้จัดส่งตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกจำนวนหนึ่งเข้ามาในมลายาเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ จัดหาและขยายสมาชิกในหมู่คนจีน พร้อมกับจัดตั้งองค์กรใหม่มีชื่อว่า “พรรคคอมมิวนิสต์นานยางแห่งมลายา” (Nan yang Communist Party of Malaya – NCPM
ในปี 1930 ได้มีการประชุมให้ปรับองค์กรใหม่เพื่อความเป็นปึกแผ่นของพรรค และเพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลกิจการของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการยุบรวมสหภาพแรงงานนานยางและพรรคคอมมิวนิสต์นานยางแห่งมลายาเป็นองค์กรเดียว มีชื่อว่า “พรรคคอมมิวนิสต์มลายา” (Malaya Communist Party - MCP
พรรคคอมมิวนิสต์มลายา หรือ (พคม.) The Communist Party of Malaya (CPM)ก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 เมษายน 1930 จากการรวมตัวของผู้นำชนชาติจีน อินเดีย อินโดนีเซีย โดยมีท่านโฮจิมิน(Ho Chi Minh) ผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์สากลประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้ร่วมเข้าดำเนินการ โดยมีนโยบายที่สำคัญว่า จะใช้กรรมกรเป็นกลจักรขับเคลื่อนสำคัญในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายและผลประโยชน์ของพรรคฯ ด้วยเหตุนี้ จึงจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า “สหภาพกรรมกรทั่วไปแห่งมาลายา” (Malaya General Labor Union - MGLU) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการปฏิบัติการต่างๆ ควบคู่กับการดำเนินกิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา
การดำเนินกิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาในการเคลื่อนไหวระยะแรกได้รับการสนับสนุนจากชาวจีนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งกรรมกร พ่อค้า และสมาคมชาวจีนอื่นๆ เช่น สมาคมชาวจีนกวางตุ้งสมาคมชาวจีนแคะ สมาคมชาวจีนไหหลำ เป็นต้น แต่ในแง่ของชนชาติอื่นกลับไม่ได้รับการตอบสนองมากนัก ด้วยเหตุนี้ ฐานมวลชนของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาจึงจำกัดอยู่เฉพาะคนจีนและเปรียบเสมือนพรรคของชาวจีนเท่านั้น ในขณะที่การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อความสงบเรียบร้อยเป็นไปตามแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์สากลที่มอสโกเป็นหลัก เช่น การประท้วงนัดหยุดงานและการก่อวินาศกรรม เป็นต้น
บทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาปรากฏเด่นชัดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อได้ให้ร่วมมือกับอังกฤษในการต่อต้านญี่ปุ่น และจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า “กองทัพมาลายาต่อต้านญี่ปุ่น (The Malayan People’s Anti-Japanese Army -MPALA) เพื่อทำหน้าที่ต่อต้านและทำลายล้างญี่ปุ่น และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในเดือนกันยายน 1945 ด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผลให้อังกฤษกลับมามีอิทธิเหนือมลายูตามเดิมพร้อมกับได้ให้การรับรองว่าพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องกฎหมาย แต่เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์มลายาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐบาลสหพันธมลายากำหนด เช่น การไม่ยอมยุติการแทรกซึมระบบคอมมิวนิสต์และไม่ยอมคืนอาวุธทั้งหมดให้กับอังกฤษ ด้วยเหตุนี้ พรรคคอมมิวนิสต์มลายาจึงเกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลอังกฤษและดำเนินนโยบายต่อต้านอังกฤษ พร้อมกับการออกแถลงการณ์ รณรงค์ ต่อต้านอังกฤษด้วยวิธีการก่อการร้ายและวิธีการรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อจีนเป็ง (Chin Peng) เข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เมื่อปี 1947 ได้อาศัยแนวทางการต่อสู้ตามแนวทางของเหมา เจ๋อ ตุง ที่เชื่อว่าอำนาจเติบใหญ่จากปากกระบอกปืนในลักษณะของสงครามแบบกองโจร การดำเนินการเพื่อต่อต้านอังกฤษในลักษณะต่างๆ เช่น การโจมตีและสังหารเจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษ การประท้วงนัดหยุดงาน การคุกคามผู้ประกอบอาชีพและเจ้าของกิจการชาวต่างประเทศ เป็นต้น
การดำเนินการของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาในลักษณะดังกล่าวได้นำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉิน (Emergency) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 1948 ในเขตภาคกลางกับภาคตะวันตก และต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคมปีเดียวกัน ได้ประกาศขยายการบังคับใช้ภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธซึ่งแปรสภาพจากกองกำลังที่เคยปฏิบัติการเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นกองกำลังเพื่อต่อต้านอังกฤษมีชื่อเรียกว่า “กองทัพประชาชนมลายาต่อต้านจักรภพอังกฤษ” และในปี 1949 ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองจึงได้ยุบเลิกและเรียกชื่อกองกำลังดังกล่าวเป็น “กองทัพปลดแอกประชาชาติมาลายา” (Malayan National Liberation Army - MNLA)
การปราบปรามอย่างหนักของรัฐบาลที่เกิดขึ้นในช่วงการประกาศภาวะฉุกเฉิน ปี 1948-1960 ส่งผลให้สมาชิกและแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์สูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมาก ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์มลายาตกอยู่ในฐานะของฝ่ายเสียเปรียบ จนต้องถอยร่นและหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย ตามหลักฐานที่ปรากฏโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาบางส่วนปรากฏตัวครั้งแรกในประเทศไทยเขตพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อปี 1949 ทางการไทยจะเรียกกองกำลังนี้ว่า “โจรจีนคอมมิวนิสต์” หรือ จคม. และถือเป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายภาคใต้
การเคลื่อนไหวและปฏิบัติการทั้งทางการเมืองโดยการแทรกซึมเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าไปในกลุ่มกรรมกรสวนยางที่เป็นคนไทยและเชื้อสายจีน และกำลังทหารยึดที่ดิน ข่มขู่ วางระเบิด และซุ้มโจมตี ของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ตลอดจนสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และความช่วยเหลือซึ่งกันและกันกับขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดน ได้ก่อให้เกิดผลและผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายๆ ด้าน เช่นด้านการเมือง การปกครอง และความมั่นของของชาติด้านเศรษฐกิจด้านสังคมและวัฒนธรรมและด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
นูรุลฮูดา ฮามะ
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Barnard, RohayatiPaseng and Timothy P. Barnard. “The Ambivalence of P. Ramlee: PenarekBeca and BujangLapok in Perspective.” Asian Cinema13, 2 (Fall/Winter 2002): 9-23.
Barnard, Timothy P. “Film, Literature, and Context in Southeast Asia: P. Ramlee, Malay Cinema, and History.” In Southeast Asian Studies: Debates and New Directions, edited by Cynthia Chou and Vincent Houben, 162-79. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2006.
Harding, James and Ahmad Sarji.P.Ramlee: The Bright Star. Subang Jaya, Selangor: Pelanduk, 2002.
Ramli Ismail. KenanganAbadi P. Ramlee. Kuala Lumpur: Adhicipta, 1998.