พรรคสภาชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย (Malaysian Indian Congress - MIC) เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ร่วมกันก่อตั้งแนวร่วมแห่งชาติที่ถือครองอำนาจทางการเมืองมาตั้งแต่ได้รับเอกราชจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะมีสัดส่วนประชากรเพียงร้อยละ 7.1 ของประชากรมาเลเซียทั้งหมด ซึ่งมีสัดส่วนประชากรที่น้อยกว่าชาวมลายูและชาวจีนอยู่มาก โดยพรรคนี้มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาวอินเดีย
สภาชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย ก่อตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม 1946 โดยนายจอห์น ธิวี ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากอุดมการณ์ของมหาตมะ คานธี เนื่องจากได้พบกันขณะที่จอห์นเรียนกฎหมายกรุงลอนดอน เขามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวชาตินิยมอินเดีย และร่วมเรียกร้องเอกราชให้มาเลเซีย หลังมาเลเซียได้รับเอกราช เขาจึงก่อตั้งสภาชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียเลียนแบบสภาแห่งชาติอินเดีย จนกลายเป็นตัวแทนของชาวอินเดียในมาเลเซีย ต่อมาในปี 1954 ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรคอัมโนและสมาคมชาวจีนมาเลเซีย ซึ่งนำมาสู่การก่อตั้งแนวร่วมแห่งชาติในปี 1973 สมาชิกของพรรคนี้ต้องเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียเท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของชาวทมิฬอพยพที่มาเป็นแรงงานในนิคมกสิกรรมยางพาราของชาวอังกฤษ
นโยบายของพรรคเน้นสร้างความร่วมมือระหว่างเชื้อชาติ และการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่ชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย แต่ความล้มเหลวในการดำเนินการจากชวงก่อนหน้านั้น ทำให้การเลือกตั้งในปี 2008 ชาวอินเดียส่วนใหญ่หันไปลงคะแนนให้พรรคฝ่ายค้าน นอกจากความล้มเหลวในการดำเนินงานแล้วยังมีสาเหตุมาจากสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวทมิฬที่มักจะขัดแย้งกับชาวมลายู จนไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคอัมโนมากนัก และชาวอินเดียส่วนใหญ่ที่อยู่ในมาเลเซียนั้นเป็นแรงงานชั้นล่างที่มองว่าสภาชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย ไม่สามารถช่วยเหลือพวกตนได้เท่าไรนัก ทั้งยังมีพรรคการเมือง องค์กร และสหภาพแรงงานของชาวอินเดียจำนวนมากที่เป็นทางเลือกสำหรับชาวอินเดีย จึงเป็นสาเหตุให้พรรคนี้มีชาวอินเดียสนับสนุนน้อยจนต้องเขาร่วมกับแนวร่วมแห่งชาติเพื่อความอยู่รอดของพรรค
ซาร์ดาร์ บุดห์ ซิงห์ เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 2 เป็นช่วงที่เกิดการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมอย่างรุนแรง ในขณะเดียวกันสหภาพมลายัน ซึ่งให้การสนับสนุนสภาชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย มาโดยตลอดได้ถูกยุบเลิกไปในปี 1948 และแทนที่ด้วยสหพันธ์รัฐมาลายา ส่งผลให้ชาวอินเดียนับหมื่นคนถูกปฏิเสธการมีสถานภาพพลเมือง กระทั่งชาวอินเดียจำนวนหนึ่งตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปยังต่างประเทศ
เค รามานาทาน เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 3 ตระหนักถึงการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ และด้อยอำนาจจากการไม่เป็นพันธมิตรกับพรรคที่ใหญ่กว่า จนเข้าเป็นพันธมิตรกับพรรคอัมโนและสมาคมชาวจีนมาเลเซีย รวมทั้งองค์กรพัฒนาชุมชนต่างๆ ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ ปี 1952 ภายใต้การนำของดาโต๊ะ ออน บิน จาอาฟาร์ โดยชัยชนะที่ได้รับมา ยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นถึงความไร้อำนาจของพรรคที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง ต่อมาในปี 1954 ภายใต้การนำของนาย เคเอล เดวาเซอร์ ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรคอัมโนและสมาคมชาวจีนมาเลเซีย เพื่อความอยู่รอดของพรรค และนโยบายสนับสนุนการศึกษาแก่ชาวอินเดียถึงแม้สมาชิกพรรคบางจะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่พรรคไม่ค่อยรับการสนับนุนจากชาวอินเดียระดับล่าง กระทั่งในเดือนมีนาคม 1955 กลุ่มทมิฬมูราซู ได้ปลุกระดมให้ชาวทมิฬคว่ำบาตรพรรค
ในการประชุมประจำปีครั้งที่ 9 นายเตลุค แอนสัน ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 5 ซึ่งต้องแก่ปัญหาความยากจนในหมู่ชาวอินเดียชนชั้นแรงงาน เขาเริ่มโดยการรณรงค์รับสมัครคนงานที่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งเป้ฯช่วงที่พรรคมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นจากการเข้าเป็นแนวร่วมแห่งชาติ เขาจึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าช่วงที่ผ่านมา ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคตั้งแต่ปี 1955-1971 ได้ปรับเปลี่ยนจากพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมให้ลดการยึดติดกับวัฒนธรรม ศาสนาและภาษาอินเดียลง รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเงินของพรรคเพื่อช่วยเหลือชาวอินเดีย
มานิกคาวาซากัม เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 6 สามารถจัดระเบียบพรรค และแก้ไขปัญหาภายในพรรคได้ เขานำพรรคเข้าสนับสนุนการลงทุนในกิจการเศรษฐกิจและจัดตั้งกองทุนการศึกษาสำหรับเด็กมาเลเซียและอินเดียเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา เช่นเดียวกับการแสวงหาสถาบันเพื่อการฝึกอบรมอาชีพ เพื่อสร้างแรงงานฝีมือชาวอินเดีย เขาจัดสัมมนาเศรษฐกิจ และหนังสือปกฟ้าที่เป็นแผนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของชาวอินเดีย
ซามี่ เวลลู เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 7 นับเป็นช่วงวิกฤติของพรรคหลังหนังสือปกฟ้าล้มเหลว และเขาไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคได้ รวมทั้งความล้มเหลวในการผลักดันสิทธิที่เท่าเทียมกันในทุกเชื้อชาติ นำไปสู่การถือกำเนิดฮินดราฟ ในปี 2007 ส่งผลให้การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2008 พรรคต้องสูญเสียคะแนนนิยมไปเป็นจำนวนมาก จนซามี่ถูกถอดออกจากตำแหน่ง โดยหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันคือ สุบรามานีอัม ซาธาสิวัม
พรรคเอ็มไอซี เป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของชาวมลายูเชื้อสายอินเดีย รวมไปถึงการออกนโยบายที่เอื้อต่อชาวมลายูเชื้อสายอินเดีย อย่าง การตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือชาวอินเดีย และการฝึกอาชีพ ซึ่งพรรคได้รับความนิยมในช่วงแรก แต่ในช่วงหลังพรรคได้รับความนิยมน้อยลงจากการที่ไม่สามารถต้องสนองต่อความต้องการของชาอินเดียได้ ความขัดแย้งภายในพรรค และการถือกำเนิดของพรรค หรือองค์กรชาวอินเดียจำนวนมาก
ฐิติพงศ์ มาคง
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Lakshiny. MIC's Rising Star: Saravanan Speaks About The Party Crisis And Changes The Indian Com
munity Wants To See . [Online]. Search on 30 June 2016. Retrieved from : http://malaysian
digest.com/opinion/577567-mic-s-rising-star…
Malaysian Indian Congress. Search on 5 July 2016, Retrieved from Wikipedia:https://en.wikipedia.org
/wiki/Malaysian_Indian_Congress.
สีดา สอนศรี. (2546). พรรคการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ศึกษาเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย
และมาเลเซีย. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ. บริษัท พัฒนวิจัย.