พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (Islamic Party of Malaysia - PAS) เป็นพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมอิสลามที่เคยต้องการเปลี่ยนประเทศมาเลเซียเป็นรัฐอิสลาม และปฏิเสธคนเชื้อชาติอื่นโดยเฉพาะชาวจีน เกิดกระแสต่อต้านพรรคจากชาวจีนเป็นอย่างมาก ในปัจจุบันพรรคปาสถือเป็นพรรคที่มีฐานเสียงหลักอยู่ในรัฐกลันตัน และตรังกานู
พรรคปาส ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคม 1951 จากครูในโรงเรียนชนบทที่รวมตัวกันต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษและเป็นอดีตสมาชิกของพรรคชาตินิยมมลายู รวมทั้งสมาชิกพรรคอัมโนเคร่งศาสนา นักวิชาการชาวมลายูที่เชี่ยวชาญทางศาสนา ในช่วงก่อตั้งใช้ชื่อว่าพรรคพันธมิตรอิสลามมลายู (Pan-Malayan Islamic Party) มีจุดประสงค์เพื่อสร้างสิทธิพิเศษแก่ชาวมลายูกับศาสนาอิสลาม กีดกันเชื้อชาติอื่นโดยเฉพาะชาวจีน และใช้ศาสนาอิสลามเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในพรรค ต่อมาพรรคปาสจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ และในวันที่ 22 มิถุนายน 1971 พรรคปาสเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (Islamic Party of Malaysia) เพื่อแสดงตนว่าเป็นพรรคของศาสนาอิสลามและชาวมลายู ภายใต้การนำของอาหมัด ฟูอัด บิน ฮัสซัน กระทั่งปี 1953 กระทั่งเขาลาออกจากตำแหน่ง และนายอับบาส อาลีอัส เข้าเป็นหัวหน้าพรรคแทน และลงจากตำแหน่งในปี 1956
การทดลองเลือกตั้งรัฐบาลกลางในปี 1955 พรรคปาสส่งผู้สมัคร 11 คน แต่ด้วยปัญหาขาดแคลนเงินทุนทำให้มีเพียง ตวน อาหมัด ฮุสเซน เท่านั้นที่ได้รับเลือกตั้ง หลังการลงจากตำแหน่งของนายอับบาส ผู้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค คือ บูร์ฮานูดดิน อัลเฮลมี การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 1959 พรรคเน้นเขตการเลือกตั้งในชนบท โดยเฉพาะในภาคเหนือ ซึ่งพรรคปาสได้รับเลือก 30 ที่นั่ง จากทั้งหมด 104 ที่นั่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคกลายเป็นผู้ร่างกฎหมายของรัฐกลันตันและตรังกานู
จากการเผชิญหน้าระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ในช่วงปี 1963-1966 ตนกู อับดุล เราะห์มาน เพื่อหาความช่วยเหลือจากตะวันตกและเพิ่มคะแนนนิยม หลังที่นั่งในรัฐสภาของพรรคอัมโนลดลง 9 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งเมื่อปี 1964 รวมทั้งการกักตัวบูร์ฮานูดดินด้วยพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในจากข้อกล่าวหาว่าเขาร่วมมือกับอินโดนีเซีย โดยเขาได้รับการปล่อยตัวในปี 1969 หลังการเผชิญหน้าสิ้นสุดลง สำหรับการเลือกตั้งระดับรัฐในปี 1969 คะแนนนิยมของปาสเพิ่มขึ้น 20 % และที่นั่งในรัฐสภา 12 ที่นั่ง เดือนตุลาคมปีเดียวกัน บูร์ฮานูดดิน อัลเฮลมี เสียชีวิต และรองหัวหน้าพรรค อัสรี มูดา เป็นหัวหน้าพรรคแทน เขานำพรรคปาสเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรคอัมโน ในปี 1973 และแนวร่วมแห่งชาติ ในปี 1974 ต่อมาพรรคปาสถูกขับออกจากแนวร่วมแห่งชาติ ในปี 1977 เพราะพรรคความขัดแย้งระหว่างสมาชิกของปาสและอัมโน ต่อมาสมาชิกพรรคอัมโนได้แยกตัวออกมาตั้งพรรคจิตวิญญาณมลายู 46 (Parti Semangat’ 46) และในปี 1987 ร่วมมือกับพรรคปาสในการจัดตั้งแนวร่วมเอกภาพมุสลิม และเข้าร่วมการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1990
การปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ ยูโซฟ ราวา สร้างรัฐอิสลามหลังการกลับมาจากการเป็นทูตมาเลเซียไปยังอิหร่านก่อนหน้าการปฏิวัติ เขาในฐานะหัวหน้าพรรคเริ่มหันเข้าสู่อิสลามเคร่งครัด และสวมใส่เครื่องแต่งกายทางศาสนาในแบบอาหรับ ทั้งพรรคปาสและอัมโนได้พยายามเข้าสู่แนวทางอนุรักษ์นิยมอิสลาม การเลือกตั้งทั่วไปในปี 1986 ได้รับที่นั่งในรัฐสภาเพียงหนึ่ง ที่นั่ง จึงลดความเคร่งครัดทางศาสนาลง ต่อมาในปี 1989 ยูโซฟ ออกจากตำแหน่งเนื่องจากอาการป่วย และนายฟัดซัล โนช์ เข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน
การเลือกตั้งทั่วไปในปี 1999 พรรคปาสสามารถครองที่นั่งในรัฐกลันตันได้ทั้งหมดและเกือบจะทั้งหมดในรัฐตรังกานู ภายใต้การนำของนายฟัดซัล โนช์ หลังจากนั้นพรรคปาสประกาศใช้กฎหมายอิสลามในทั้งสองรัฐที่เป็นการขยายอิทธิพลทางการเมืองในหมู่ชาวมุสลิมและนับเป็นการพยายามตั้งรัฐอิสลาม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากกระแสต่อต้านพรรคอัมโนจากการจับกุมนายอันวาร์ อิบราฮิม ในปี 1999 เขาถูกตัดสินจำคุกหกปีด้วยข้อหาคอร์รัปชัน และในปี 2006 เขาถูกศาลตัดสินจำคุกอีกเก้าปีด้วยข้อหารักร่วมเพศ นอกจากนี้การสร้างแนวร่วมจากกลุ่มชนต่างศาสนาให้เป็นผู้สนับสนุนพรรค เช่น นายนิอับดุลอาซีส บินนิมัด หัวหน้ามนตรีของรัฐกลันตันได้ช่วยเหลือพัฒนาสังคมชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยพุทธในมาเลเซีย หลังการเสียชีวิตของฟัดซัล โนช์ ในปี 2002 และอับดุลฮาดี อะวัง เป็นหัวหน้าพรรค
สำหรับการเลือกตั้งในปี 2004 ได้ที่นั่งในรัฐสภา 20 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 ที่นั่ง ในปี 2008 เป็นการเลือกตั้งที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งประกอบด้วยพรรคกิจกรรมประชาธิปไตย พรรคปาส และสหภาพชุมชนมุสลิมแห่งมาเลเซียของนายอันวาร์ อิบราฮิม สามารถเอาชนะแนวร่วมแห่งชาติได้ในหลายเขตเลือกตั้ง ได้ที่นั่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 82 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 ที่นั่ง ส่วนการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติแห่งรัฐจำนวน 505 ที่นั่ง ได้ที่นั่งรวมกันจำนวน 196 ที่นั่ง ต่อมาการเลือกตั้งในปี 2013 พรรคฝ่ายค้านได้รับที่นั่งในรัฐสภา 89 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 ที่นั่ง เนื่องมาจากการจัดตั้งชมรมชาวจีนผู้สนับสนุนพรรคปาส เพราะต้องการลดความไม่พอใจของชาวจีนที่มีต่อพรรค ในสมัยของนายนาจิบ ราซัก พรรคฝ่ายค้านได้ตั้งข้อสังเกตว่าการครองตำแหน่งพรรครัฐบาลมาอย่างยาวนานของพรรคอัมโนนั้นเอื้อต่อการคอรัปชั่น ส่งผลให้พรรคปาสได้รับคะแนนนิยมมากขึ้น และตำแหน่งพรรครัฐบาลของพรรคอัมโนเริ่มสั่นคลอน
พรรคปาสเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมอิสลามในช่วงแรก แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป ทำให้พรรคต้องร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้านที่เป็นตัวแทนของเชื้อชาติอื่น นำมาสู่การเปลี่ยนไปใช้แนวทางสายกลางในช่วงหลัง ด้วยการรวมตัวกันเป็นแนวร่วมฝ่ายค้าน ทำให้การเลือกตั้งในช่วงสิบปีที่ผ่านมาพรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับความนิยมจากชาวมาเลเซียมากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกตั้งในปี 2013 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับคะแนนนิยมเหนือแนวร่วมแห่งชาติ
ฐิติพงศ์ มาคง
กรกฎาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
MGR Online. (2556, พฤษภาคม 10). ปิดฉากเลือกตั้งใหญ่ “มาเลเซีย” กับความวุ่นวายทางการเมืองครั้งใหม่.
[ออนไลน์]. สืบค้นจาก: http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=...
Pan-Malaysian Islamic Party. Search on 5 July 2016, Retrieved from Wikipedia: https://en.wikipedia.
org/wiki/Pan-Malaysian_Islamic_Party.
สีดา สอนศรี. (2546). พรรคการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ศึกษาเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และ
มาเลเซีย. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ. บริษัท พัฒนวิจัย.