ยุทธการวันตรุษญวณ (Tet Offensive) เป็นเหตุการณ์ที่เวียดกงซึ่งเป็นกองกำลังของฝ่ายเวียดนามเหนือเปิดฉากโจมตีฝ่ายรัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนามในเขตเวียดนามใต้ ปฏิบัติการดังกล่าวดำเนินขึ้นในวันที่ 31 มกราคม ปี ค.ศ. 1968 ซึ่งตรงกับเทศกาลตรุษญวนของชาวเวียดนาม โดยมีการระดมพลของฝ่ายเวียดกงเป็นจำนวนมากทั้งยังมีการบุกโจมตีในหลายเมืองทั่วเวียดนามใต้ นับว่าเป็นเหตุการณ์การโจมตีครั้งสำคัญของฝ่ายเวียดกงในสงครามอินโดจีนทั้งที่ 2 ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ฝ่ายเวียดนามใต้และสหรัฐอเมริกา
ในการตระเตรียมเพื่อบุกโจมตีเวียดนามใต้ครั้งดังกล่าว ฝ่ายขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนาม -- ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวของฝ่ายเวียดนามเหนือหรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ที่ทำสงครามกับฝ่ายเวียดนามใต้ซึ่งถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิดของสหรัฐอเมริกา เพื่อจะรวมเวียดนามให้เป็นรัฐเดียวที่มีเอกราชอย่างแท้จริงโดยปราศจากการทรกแซงจากจักรวรรดินิยมตะวันตก – ได้มีการตระเตรียมกำลังพลจาก 1 ใน 3 ของกองกำลังสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม และระดมกำลังพลของเวียดกงอีกประมาณ 70,000 คน โดยผู้บัญชาการทหารของฝ่ายเวียดนามเหนือ หวอ เงียน ย๊าบ ได้เลือกเอาวันที่ 31 มกราคม ซึ่งเป็นวันปีใหม่ในปฏิทินจันทรคติของชาวเวียดนามในการเริ่มปฏิบัติการจู่โจมครั้งดังกล่าว โดยซัปได้หวังผลทางยุทธศาสตร์ว่า การบุกจู่โจมดังกล่าวจะสามารถพิชิตกองกำลัง ARVN (Army of the Republic of Vietnam) ของฝ่ายเวียดนามลใต้ลงได้ และยังจะสามารถสร้างความวุ่นวายและปลุกปั่นกระแสต่อต้านรัฐบาลเวียดนามใต้ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เขายังต้องการที่จะกระตุ้นรอยร้าวของความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงระหว่างรัฐบาลเวียดนามใต้กับสหรัฐอเมริกา แล้วจึงค่อยหาทางเจรจาให้สหรัฐอเมริกาถอนกำลังออกไป
แผนการบุกจู่โจมของฝ่ายเวียดกงเริ่มขึ้นตรงตามที่ได้มีการวางวางแผนไว้ กองกำลังเวียดกงปฏิบัติการจู่โจมเป็นวงกว้าง กว่า 100 เมืองทั่วเวียดนามใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไซง่อนซึ่งเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐเวียดนาม ที่มั่นของฝ่ายรัฐบาลเวียดนามใต้ในไซง่อน เช่น สถานทูตสหรัฐอเมริกาซึ่งถูกก่อวินาศกรรมโดยหน่วยกล้าตายของเวียดกงประมาณ 19 นาย หน่วยจู่โจมดังปะทะกับฝ่ายรงข้ามเพื่อยึดที่มั่นสำคัญของฝ่ายเวียดนามใต้แห่งนี้ได้นานถึง 6 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกปลิดชีพด้วยการกราดยิงจากเฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายตรงข้าม ที่ทำการของประธานาธิบดี สถานีวิทยุ ศูนย์กลางของกองทัพเรือ กองพลร่ม ศูนย์กลางของตำรวจ รวมถึงคลังน้ำมันที่ 4, 5. 6, 7, 8 ในไซง่อน ความสำเร็จในการบุกจู่โจมไซง่อนของเวียดกงได้แสดงให้ถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของสงครามว่า เวียดกงมิได้เป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำอย่างที่ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยนำเสนอมา นอกจากนี้ความจริงดังกล่าวยังเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของทหารอเมริกัน ในวันเดียวกันของการเริ่มปฏิบัติการ ที่กรุงเว้ กองกำลังเวียดกงสามารถบุกยึดเมืองดังกล่าวได้สำเร็จ และปล่อยนักโทษที่ถูกฝ่ายตรงข้ามคุมขังให้เป็นอิสระได้ถึง 2,000 คน
การขับไล่กองกำลังเวียดกงของฝ่ายเวียดนามใต้และสหรัฐอเมริกาเป็นไปอย่างยุ่งยากในไซง่อน หน่วยจู่โจมคอมมิวนิสต์ที่ถูกสั่งการโดยเวียดนามเหนือ แทรกซึมอยู่ในเมืองไซง่อนเป็นเวลาร่วมสัปดาห์โดยอาศัยเสบียงที่พอจะประทังชีวิตไปได้หลายสัปดาห์รวมทั้งยุทโธปกรณ์ต่างๆ กองทัพสหรัฐอเมริกาโต้กลับด้วยวิธีการที่รุนแรงผ่านการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดและปืนใหญ่เข้าทำลายพื้นที่ทั้งหมดในทั้งไซง่อนและที่อื่นๆ ที่มีกำลังของเวียดกงอยู่ แม้ว่าปฏิบัติการจู่โจมดังกล่าวจะไม่ได้ประสบกับความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ ฝ่ายขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนามเริ่มดำเนินการเชิงรุกด้วยการจัดตั้งหน่วยงานบริหารในบางส่วนของพื้นที่ที่ยึดมาได้
เหตุการณ์ดังกล่าวได้นำมาซึ่งปัจฉิมบทของสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 และการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา เมื่อรัฐบาลของทั้งเวียดนามเหนือและสหรัฐอเมริกาต่างตกลงที่จะประชุมกันเพื่อเจรจาสันติภาพ แม้จะมีข้อขัดแย้งกันระหว่างการเจรจา สหรัฐอเมริกาก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาปารีส ในปี ค.ศ. 1973 ซึ่งมีผลให้สหรัฐอเมริกาต้องยอมรับเอกราช อธิปไตย เอกภาพและบูรณภาพของดินแดนเวียดนาม และต้องถอนกำลังทหารออกจากเวียดนามใต้ทั้งหมด
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
กรกฎาคม 2559