เวียดนามใต้ (South Vietnam) หรือในชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐเวียดนาม (Republic of Vietnam) เป็นรัฐซึ่งครั้งหนึ่งเคยตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในปัจจุบัน มีเมืองหลวงคือ ไซง่อน สาธารณรัฐเวียดนามเป็นรัฐที่มีนัยสำคัญในช่วงสงครามเย็นในฐานะที่เป็นประหนึ่งปราการสำหรับทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามรัฐดังกล่าวก็ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามภายหลังจากที่กองกำลังเวียดกงสามารถบุกยึดไซง่อนได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1975
สาธารณรัฐเวียดนามถือกำเนิดขึ้นหลังการสิ้นสุดของสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 จากการประชุมที่เจนีวาในปี ค.ศ. 1954 ว่าด้วยประเด็นปัญหาในอินโดจีน ชาติที่เข้าร่วมประชุมซึ่งมีทั้งชาติมหาอำนาจและกลุ่มประเทศในอินโดจีน อันได้แก่ ลาว กัมพูชา ฝ่ายเวียดนามเหนือในนามของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม และรัฐบาลบ๋าวได่ที่มีอำนาจอยู่ในเขตเวียดนามใต้ ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงเจนีวา ข้อตกลงดังกล่าวส่งผลให้ระบอบจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสล่มสลายหายไปจากอนุภูมิภาคอินโดจีนซึ่งหมายถึงรัฐในอินโดจีนจะมีสถานะเป็นรัฐเอกราช เวียดนามซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งก็พบกับข้อสรุปจากการตกลงในกล่าวซึ่งได้แบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจนโดยใช้เส้นขนานที่ 17 เป็นเกณฑ์ ขอบเขตของเวียดนามที่อยู่ล่างลงไปจากเส้นดังกล่าวได้กล่าวเป็นอาณาเขตของเวียดนามใต้ไป โดยในข้อตกลงได้ระบุไว้ว่า เส้นแบ่งที่ลากกั้นเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้เป็นเพียงเส้นแบ่งเขตทางการทหาร มิใช่ทางการเมือง
แม้ว่าจะมีข้อตกลงว่าทั้งเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้จะรวมตัวเป็นรัฐเดียวกันทันทีหลังจากที่มีการเลือกตั้งซึ่งถูกจัดวางว่าจะมีขึ้นในปี ค.ศ. 1956 อย่างไรก็ตาม ดินแดนทั้งสองก็ไม่ได้รวมตัวกันตามที่กำหนด จุดเปลี่ยนที่สำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าวคือ การที่โง ดิน เดียมในฐานะนายกรัฐมนตรีของเวียดนามใต้ผู้มีแนวคิดต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และมีสายสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาได้ริเริ่มแผนการ “ปฏิวัติแห่งชาติ” ของเขาซึ่งดัวยการที่ไม่เพียงแต่แผ่ขยายอำนาจของรัฐบาลของเขาซึ่งมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ไซง่อนไปสู่พื้นที่ที่เหลือในเวียดนามใต้ เขายังได้สถาปนาเวียดนามใต้ในฐานะ “สาธารณรัฐเวียดนาม”ในปี ค.ศ. 1955 โดยเขาได้ขึ้นเป็นประมุขของรัฐดังกล่าวแทนที่จักรพรรดิบ๋าวได่ด้วยวิธีการเลือกตั้งที่ว่ากันว่าไม่ค่อยโปร่งใสเท่าใดนัก ภายใต้แผนการดังกล่าวของโง ดิน เดียม เวียดนามใต้ได้มีสถานะเป็นรัฐใหม่ที่ต่อมาก็ได้รัฐธรรมนูญและคณะบริหารเป็นของตัวเอง และพร้อมกันนั้นฝ่ายเวียดนามใต้ก็ได้ทำการละเมิดข้อตกลงในการประชุมเจนีวาที่จะให้มีการรวมตัวกับเวียดนามเหนือ
สาธารณรัฐเวียดนามภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีคนแรก แม้จะมีการก่อสร้างสาธารณสมบัติโดยประธานาธิบดีเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีงามแก่เขาก็ตาม ในเวลาต่อมาภาพลักษณ์ของเขาก็ต่ำลงพร้อมกับบรรยากาศการเมืองที่เริ่มจะตึงเครียด เมื่อโง ดิน เดียมเริ่มใช้นโยบายการปรามปรามที่รุนแรงต่อผู้ที่ต่อต้านเขา เหงียน คัก เวียนผู้ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ชาตินิยมเวียดนามได้อ้างว่า ใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการคอมมิวนิสต์ทางใดทางหนึ่งหรือแม้แต่ถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องจะถูกรัฐบาลจับกุมและเนรเทศหรือแม้แต่ถูกทรมานถึงแก่ชีวิต อย่างไรก็ตาม วิธีการของเขากลับยิ่งทำให้เขาถูกต่อต้านมากยิ่งขึ้น แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังคงปรามปรามผู้ต่อต้านอย่างรุนแรงต่อไปโดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1959 รัฐบาลเวียดนามใต้ของโง ดิน เดียมได้ออกประกาศ 10/59 ซึ่งมีผลให้ศาลทหารพิเศษมีสิทธิออกสั่งประหารชีวิตได้โดยไม่ต้องมีการไต่สวน การกระทำที่รุนแรงของเขานำมาซึ่งการรวมตัวของหลายฝ่ายที่ไม่พอใจกับพฤติกรรมของรัฐบาลจนกลายเป็นแนวร่วมปลดปล่อยชาติหรือเวียดกงซึ่งนำโดยขบวนการคอมมิวนิสต์และได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายเวียดนามเหนือ
ในด้านการต่างประเทศ สาธารณรัฐเวียดนามมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งก็คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามหรือฝ่ายเวียดนามเหนือ สหรัฐอเมริกามีบทบาทในการดำเนินการยุทธของฝ่ายเวียดนามใต้อย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการสนับสนุนกำลังรบและการวางแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ อย่างไรก็ตามแม้ว่า รัฐบาลของโง ดิน เดียมจะถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิดของสหรัฐอเมริกา ในแง่ของความเป็นจริง โงดินดียมไม่ได้ทำตามความประสงค์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเมื่อบวกกับความล้มเหลวจากการทำสงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้สหรัฐอเมริกามองว่าเขาไร้ประโยชน์ และว่ากันว่าการรัฐประหารโค่นอำนาจโง ดิน เดียมและการสังหารเขาในเวลาต่อมา ในปี ค.ศ. 1963 ก็มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้รู้เห็นเป็นใจด้วย
ในช่วงแรกของการทำสงครามกับขบวนการคอมมิวนิสต์ กองทัพของสาธารณรัฐเวียดนามที่ได้รับการสนับสนุนด้านการทหารจากสหรัฐอเมริกาดูจะเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบเหนือกว่าอันเป็นผลจากความทันสมัยด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนมา อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา ความได้เปรียบเหล่านั้นก็เริ่มลดลงและฝ่ายเวียดนามใต้ก็เริ่มตกเป็นฝ่ายตั้งรับมากขึ้นเมื่อกองกำลังของฝ่ายเวียดกงเริ่มที่จะสามารถรับมือกับอาวุธสมัยใหม่ได้ซึ่งรวมไปถึงการยึดอาวุธดังกล่าวแล้วนำมาใช้เพื่อต่อสู้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น แนวร่วมปลดปล่อยเวียดกงสามารถเข้า “ปลดปล่อย” พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญหลายแห่งของกองกำลังเวียดนามใต้ซึ่งใช้ในการกักตัวผู้คนเอาไว้ ขณะที่สงครามในเวียดนามกำลังดำเนินไป รัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านฝ่ายเวียดนามเหนือ ได้ดำเนินยุทธวิธีโฆษณาชวนเชื่อแก่สาธารณชนของเขาว่า กองทัพของฝ่ายคอมมิวนิสต์เหล่านั้นกำลังจะประสบกับความพ่ายแพ้ในไม่ช้า อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนมกราคม ค.ศ. 1968 ยุทธการวันตรุษญวณของฝ่ายเวียดกงซึ่งได้ทำการเปิดฉากจู่โจมที่ทำการของรัฐบาลเวียดนามใต้ในหลายเมืองรวมไปถึงในไซง่อนและเว้ ได้ทำให้สาธารณชนประจักษ์ถึงความจริงของสงครามที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาบอกแก่พวกเขา เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการลงนามในสนธิสัญญาปารีสในปี ค.ศ. 1973 ที่มีผลบังคับให้สหรัฐอเมริกาต้องถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากเวียดนาม
หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากเวียดนาม ฝ่ายเวียดนามเหนือก็ได้เดินหน้ารุกคืบเรื่อยมาจนในปี ค.ศ. 1975 กองกำลังเวียดกงของฝ่ายเวียดนามเหนือได้ทำการยึดเมืองไซง่อนได้สำเร็จ สาธารณรัฐเวียดนามก็ได้ถูกผนวกเป็นหนึ่งเดียวกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามและสถาปนาเป็น “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” มาจนถึงปัจจุบัน
กาญจนพงค์ รินสินธุ์
กรกฎาคม 2559