สเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ คือชื่อเรียกดินแดนที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในพื้นที่ช่องแคบมะละกา อันประกอบด้วยรัฐปีนัง มะละกา สิงคโปร์ ลาบวนและดินดิงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเประในปัจจุบัน โดยอังกฤษมีจุดประสงค์เพื่อรักษาผลประโยชน์และสร้างความมั่นคงทางการค้าบริเวณช่องแคบ
สเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1826 ภายใต้การควบคุมของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ซึ่วเป็นผลพวงมาจากการลงนามในสนธิสัญญาแองโกล-ดัทช์ ในปี 1824 ระหว่างอังกฤษกับดัทซ์ได้แบ่งคาบสมุทรมลายูออกแป็นสองฝ่ง โดยให้เกาะทางใต้ของสิงคโปร์ ชวาและสุมาตราเป็นอาณาเขตของดัตช์ ส่วนสิงคโปร์ไปจนถึงตอนเหนือของคาบสมุทรมลายูเป็นอาณาเขตของอังกฤษ ส่งผลให้อังกฤษต้องยกนิคมเบงคูเลน ทางภาคตะวันตกของเกาะสุมาตราให้กับดัทซ์ แลกกับพื้นที่มะละกาและสิงคโปร์ ส่งผลให้เมืองหลวงของอาณานิคมย้ายจากเกาะปีนังมาเป็นสิงคโปร์ในปี 1832 เริ่มกลายเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญในคาบสมุทรมลายู ต่อมาในปี 1833 จีนยกเลิกการผูกขาดการค้ากับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ทำให้บริษัทถูกลดความสำคัญลง และย้ายอำนาจการปกครองของ สเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ไปยังรัฐบาลอังกฤษประจำอินเดียในปี 1851
จนกระทั่งในปี 1867 สเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ ได้กลายเป็นอาณานิคมภายใต้การปกครองของสำนักงานอาณานิคมอังกฤษแห่งกรุงลอนดอน แทนการขึ้นตรงกับรัฐบาลอังกฤษประจำอินเดียในกัลกัตตา ต่อมาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1867 รัฐบาลอังกฤษตราธรรมนูญประจำอาณานิคม ที่ให้อำนาจแก่ผู้สำเร็จราชการแห่งสเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ ในการบริหารกิจการของอาณานิคมโดยมีสภาบริหารและสภานิติบัญญัติเป็นที่ปรึกษา อีกทั้งผู้สำเร็จราชการแห่งสเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ ยังเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำสหภาพมลายัน และบอร์เนียวเหนือของอังกฤษอย่าง รัฐสุลต่านบรูไน รัฐสุลต่านซาราวัก และยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการแห่งลาบวน
ดินดิงส่วนหนึ่งของรัฐเประ ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษตามสนธิสัญญาปังโกร์ในปี 1874 โดยมีอาณาเขตติดกับพรอวินซ์เวลส์ลีย์ซึ่งเป็นพื้นที่ทางชายฝั่งตะวันตกของรัฐเกดะห์ที่อยู่ตรงกันข้ามกับเกาะปีนัง กลายเป็นของอังกฤษในปี 1798 โดยเขตแดนทางเหนือและทางตะวันออกที่ติดต่อกับรัฐเกดะห์นั้นได้กำหนดตามข้อตกลงที่ทำกับสยามในปี 1867 ดินแดนแห่งนี้ถูกปกครองโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งขึ้นตรงต่อหน่วยงานในเกาะปีนัง ส่วนใหญ่เป็นชาวมลายู โดยมีชาวจีนและชาวทมิฬเป็นแรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมการเกษตรอื่น ๆ รวมทั้งการทำเหมืองแร่
ในปี 1886 หมู่เกาะคีลิงและเกาะคริสต์มาสถูกโอนไปอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลสเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ ต่อมาลาบวนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ ในปี 1907 ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเข้ายึดครองคาบสมุทรมลายูและสเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ โดยเข้ามาทางรัฐกลันตันในวันที่ 8 ธันวาคม 1941 จากนั้นในวันที่ 16 ธันวาคม 1941 ปีนังเป็นส่วนแรกของสเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ ที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง ลุกลามไปสู่มะละกาในวันที่ 15 มกราคม 1942 และสิงคโปร์ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ส่งผลให้สเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ และส่วนที่เหลือของคาบสมุทรมลายูตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นจนถึงเดือนสิงหาคม 1945
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง สิ้นสุดลงในปี 1945 นำไปสู่การล่มสายของอาณานิคมในปี 1946 สิงคโปร์มีประมุขเป็นของตนเอง ปีนังและมะละกาเข้าร่วมกับสหภาพมลายัน ลาบวนถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของสิงคโปร์ ก่อนจะถูกนำมารวมกับอาณานิคมของอังกฤษบนเกาะบอร์เนียว สำหรับหมู่เกาะคีลิงและเกาะคริสต์มาส จากเดิมเป็นส่วนหนึ่งของสิงคโปร์ในปี 1946 มีการถ่ายโอนการบริหารงานของออสเตรเลียในปี 1955 และ 1957 ตามลำดับ
สเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ ก่อตั้งในช่วงเดียวกับการค้าที่กำลังขยายตัวและประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบริเวณเมืองท่า โดยเฉพาะสิงคโปร์ เกิดการอพยพขนาดใหญ่ของชาวจีนเข้ามาในสิงคโปร์ จนทำให้ประชากรสิงคโปร์ที่มีอยู่ 10,000 คน ในปี 1824 เพิ่มเป็น 18,000 คน ในปี 1829 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้กุมอุตสาหกรรมการเกษตร และการทำเหมืองแร่ แต่ชาวจีนมักไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับชาวมลายู จนเกิดความขัดแย้งกันเป็นบางครั้ง รวมทั้งการตั้งรัฐซาราวักในปี 1841 ซึ่งมีเจมส์ บรูค เป็นผู้ปกครองซาราวัก แต่ก็ถูกญี่ปุ่นยึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนี้ สเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ ยังถือเป็นสิ่งที่สร้างให้สิงคโปร์กลายเป็นเมืองท่าทางการค้าที่สำคัญของภูมิภาค และรูปแบบการปกครองดังกล่าวยังกลายเป็นต้นแบบการปกครองของมาเลเซีย
สเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ เป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 1826 และได้สิ้นสุดลงในปี 1946 หลังถูกญี่ปุ่นเข้ายึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยจุดประสงค์หลักของการก่อตั้งคือการพยายามสถาปนาการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เพื่อความสะดวกในการบริหาร ควบคุมและรักษาดินแดนอาณานิคมของรัฐบาลอังกฤษ แม้สเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์จะล่มสลายไปแต่ถือได้ว่าสเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ เป็นต้นแบบของการกลายมาเป็นประเทศมาเลเซียทีมีรูปร่างดั่งในปัจจุบัน
ฐิติพงศ์ มาคง
มิถุนายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Barbaba Watson Andaya, Leonard Y. Andaya. พรรณี ฉัตรพลรักษ์(แปล). (2549). ประวัติศาสตร์มาเลเซีย.
กรุงเทพฯ. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
Straits Settlements. Search on 1 July 2016, Retrieved from Wikipedia: https://en.wikipedia.org/wiki/ Straits_Settlements.
The British Empire. British Empire South East Asia: Straits Settlements .[Online]. Search on 30 June 2016. Retrieved from : http://www.britishempire.co.uk/maproom/straitssettlements.htm
นิคมช่องแคบ. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2559, จากวิกิพีเดีย: https://th.wikipedia.org/wiki/นิคมช่องแคบ.