ฮาราเกาะฮ์ (Harakah) เป็นหนังสือพิมพ์หัวขนาดเล็กสัญชาติมาเลเซีย เริ่มแรกออกวางจำหน่ายรายสัปดาห์ แต่ปัจจุบันออกจำหน่ายเป็นรายเดือน โดยตีพิมพ์ทั้งในภาษามลายูกลางและภาษาอังกฤษ เนื้อหาข่าวที่ลงในฮาราเกาะฮ์ มีทั้งเรื่องการเมืองภายในและต่างประเทศ ศาสนาอิสลาม และกิจกรรมการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง ฮาราเกาะฮ์ที่หยิบยืมมาจากภาษาอาหรับซึ่งแปลว่าการเคลื่อนไหวนั้น ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือพิมพ์หรือสื่อทางเลือกที่ทรงพลังมากสุดในมาเลเซีย
ฮาราเกาะฮ์ก่อตั้งขึ้นในปี 1987 โดยพรรคอิสลามแห่งมาเลเซียหรือพรรคปาส (Pan-Malaysian Islamic Party (PAS)) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่เข้มแข็งมากที่สุดในเวทีการเมืองมาเลเซียและมีฐานมวลชนสนับสนุนหลักอยู่ที่รัฐกลันตัน ฮาราเกาะฮ์ทั้งฉบับประกอบด้วยคอลัมน์ต่างๆ รวมทั้งสิ้นจำนวน 8 หน้า โดยถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ ส่วนภาษามลายูกลางกับส่วนภาษาอังกฤษ ต่อมาภายหลังฮาราเกาะฮ์ได้จัดทำเว็บไซต์ฮาราเกาะฮ์รายวันขึ้น (www.harakahdaily.net) เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งแก่สาธารณชนในการเข้าถึงแหล่งข่าว กระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 2007 หนังสือพิมพ์ฮาราเกาะฮ์เพิ่มหน้าส่วนที่ใช้ภาษามลายูอักขระยาวี (Jawi) ขึ้นอีกด้วย
ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ยอดจำหน่ายของฮาราเกาะฮ์สูงถึง 300,000 ฉบับ ทำลายสถิติอย่างสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะช่วงที่อันวา อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) นักการเมืองหนุ่มไฟแรงและรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้นถูกนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ มูฮัมหมัด (Mahathir Muhamad) ขับออกจากตำแหน่ง เหตุการณ์ครั้งนั้นยังส่งผลให้ฮาราเกาะฮ์ถูกจำกัดการออกวางจำหน่ายไปด้วย โดยให้ตีพิมพ์เพียง 2 ครั้งต่อเดือน จากแต่เดิมที่สามารถตีพิมพ์ได้ถึง 2 ครั้งต่อสัปดาห์อยู่นานหลายปี เนื่องจากตีพิมพ์บทความแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อชะตากรรมของอันวากับสนับสนุนขบวนการปฏิรูปการเมืองและกระบวนการยุติธรรม แน่นอนว่าการจำกัดการออกจำหน่ายดังกล่าวเป็นวิธีที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคอัมโน (UMNO) ใช้ในการขจัดสื่อต่างๆ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แม้ว่าพรรคอิสลามแห่งมาเลเซียหรือพรรคปาสออกมาตอบโต้ด้วยการจัดทำเว็บไซต์ฮาราเกาะฮ์รายวันขึ้น แต่ท้ายที่สุดก็ถูกรัฐบาลจำกัดการลงบทความต่างๆ บนหน้าเว็บไซต์เหมือนกับฉบับหนังสือพิมพ์ก็คือเหลือเพียง 2 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น
ในงานครบรอบ 52 ปี ของกลุ่มเยาวชนของพรรคปาส ซึ่งจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2012 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญภายในอาราเกาะฮ์ เมื่อนัสรุดดิน ฮัสซัน (Nasrudin Hassan) หนึ่งในสมาชิกเยาวชนแห่งพรรคปาส แสดงความประสงค์ให้มีการเปลี่ยนโครงสร้างฝ่ายบรรณาธิการ รวมทั้งต้องการให้คณะกรรมการตรวจสอบเนื้อหาบทบรรณาธิการทั้งฉบับหนังสือพิมพ์และฉบับออนไลน์ กลุ่มสมาชิกเยาวชนแห่งพรรคปาสให้เหตุผลต่อการเรียกร้องครั้งนี้ว่า ฮาราเกาะฮ์สูญเสียความน่าเชื่อถือและออกนอกลู่นอกทางจากปณิธานเดิมของตนที่วางไว้ อีกทั้งมิได้เป็นหนทางที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนในการขับเคลื่อนขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามในศตวรรษที่ 21 บทสรุปในครั้งนั้นคือทางพรรคปาสเองก็ได้ยอมรับมติดังกล่าวโดยไม่มีการโต้เถียงใดๆ ต่อจากนั้น อย่างไรก็ตาม ฮาราเกาะฮ์ยังคงทำหน้าที่เป็นสื่อทางเลือกและเป็นเสมือนปากเสียงที่สำคัญของพรรคปาสในการขับเขี้ยวกับรัฐบาล
ปัจจุบันนี้ ฮาราเกาะฮ์อยู่ภายใต้การดูแลโดยกรรมการผู้จัดการ ดาโต๊ะ กามารุดดิน จาฟฟา (Dato Kamarudin Jaffar ) และอะฮ์หมัด ลุตฟี ออตมาน ( Ahmad Lutfi Othman) เป็นหัวหน้าบรรณาธิการซึ่งเขาได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2006 ในฐานะผู้ควบคุมหางเสือหรือทิศทางของหนังสือพิมพ์ ขณะที่บรรณาธิการผู้ดูแลฮาราเกาะฮ์รายวันในรูปแบบสื่อออนไลน์นั้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ โมฮัมหมัด ราชิดี ฮัสซัน (Mohd Rashidi Hassan) นักเขียนประจำฮาราเกาะฮ์อันเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางและประดิษฐ์คำว่า “ดารุล คาสิโน” (Darul Casino-ระเบียงคาสิโน) คือ เอ็ม. จี. จี. ปีลาย (M.G.G. Pilai) ซึ่งเสียชีวิตในปี 2006 อย่างไรก็ดี คอลัมนิสต์ที่ยังคงเขียนข่าวเป็นประจำอย่างต่อเนื่องในฮาราเกาะฮ์ ได้แก่ นัสรุดดิน ฮัสซัน, ไครุดดิน เอ. ราซาลี, และซับลี อับดุล ลาติฟ
ในทางการเมืองแล้ว ฮาราเกาะห์เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่คนละฝั่งกับแนวร่วมรัฐบาลแห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งนำโดยพรรคอัมโน (UMNO) ที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราช ภายใต้รัฐบาลที่บริหารประเทศแบบเบ็ดเสร็จ จึงมีการควบคุมเสรีภาพของสื่ออย่างเข้มงวด ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นักต่อการที่ฮาราเกาะฮ์มักมีปัญหากระทบกระทั่งกับรัฐบาลพรรคอัมโน ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายจำกัดการออกจำหน่ายให้เฉพาะแก่สมาชิกของพรรอิสลามแห่งมาเลเซียหรือพรรคปาส หรือการไปจำกัดจำนวนรอบของการออกตีพิมพ์มาวางจำหน่ายให้ลดน้อยลง จนนำไปสู่การสร้างทางเลือกใหม่บนอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ดี แม้ว่าฮาราเกาะห์จะออกสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลักและประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ แต่ก็ล้มเหลวในการดึงดูดผู้อ่านจากชาติพันธุ์อื่นอย่างชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน เนื่องจากจุดยืนที่วางบนวิสัยทัศน์อิสลามแบบเคร่งครัดคัมภีร์ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
บัญชา ราชมณี
พฤษภาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Cole, B. (2006). Conflict, Terrorism and the Media in Asia. USA and Canada: Routledge.
Hilley, J. (2001). Malaysia: Mahathirism, Hegemony and the New Opposition. USA: Zed Books.
https://books.google.co.th/books?id=yRVtAAAAQBAJ&pg=PA295&dq=harakah&hl=en&sa=X&redir_esc=y#v=onepage&q=harakah&f=false