เอสนาดา (Snada) เป็นกลุ่มนักร้องประสานเสียงเพลงอนาซิดหรือเพลงทางศาสนาอิสลามของอินโดนีเซียที่โดดเด่นที่สุดตลอดทศวรรษ 1990 มีบทบาทสำคัญในการแผ้วถางปูทางให้แก่วงการเพลงอนาซิดอินโดนีเซียจนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และเป็นวงแรกๆ ที่นำเพลงประเภทนี้เข้าไปสู่โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงแรม งานแต่งงาน งานประชุม และงานอื่นๆ ไม่ว่าในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ
เอสนาดาก่อตั้งขึ้นในปี 1991 อันเป็นชื่อที่ได้รับการแต่งตั้งจากนักปราชญ์อิสลามชาวอินโดนีเซียที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง สมาชิกในวงยุคแรกล้วนเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (Universitas Indonesia) ประกอบด้วย อากุส อิวาร์ จุมฮาดี้ (อีอีดี) เออร์วิน ยะฮ์ยา (เออร์วิน) และ เอ็ม. ลุกมาน นูนาญิม (ลุกมาน) การปรากฏตัวของเอสนาดาครั้งแรกนั้น ได้สร้างความแปลกใหม่แก่แวดวงเพลงอนาซิดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในแวดวงเพลงอนาซิดทั่วโลก อันได้แก่การยืนร้องเพลงบนเวทีแทนที่จะนั่งร้อง โดยหันหน้าเข้าหาผู้ชม และมีเนื้อเพลงการเน้นทางด้านความบันเทิง ตลอดจนมีเสียงดนตรีประกอบอีกด้วย
ในปี 1992 เอสนาดาได้รับอาลัมชาเข้าเป็นสมาชิกใหม่ วงประสานเสียงอนาซิดจึงมีสมาชิก 4 คนและมี 4 เสียงประสาน ต่อมาอาลัมชา อากุส (อัล) และ เอ็ม. อิคบาล ตาคิอูดิน (อิคบาล) ก็เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มอีกภายหลัง เอสนาดาเริ่มการแสดงอย่างไม่เป็นทางการบนเวทีต่อหน้าเพื่อนๆ ร่วมมหาวิทยาลัยในปี 1994 และได้รับผลตอบรับอย่างน่าพอใจ นอกจากนี้ เอสนาดายังถูกเปรียบเหมือนกับกลุ่มนักร้องบอยแบนด์แนวอาร์แอนด์บี (R & B) สัญชาติอเมริกันอย่าง Boyz II Men ที่กำลังโด่งดังขณะนั้น โดยเฉพาะการรับอิคบาล ซึ่งเคยร้องเพลงประกวดชนะเลิศมาหลายเวที ไม่ว่าจะเป็นรายการว๊อยซ์ออฟเอเชีย (Voice of Asia) หรือรายการจิบตา เปอโซนา บินตัง” (Cipta pesona bintang) ทำให้เอสนาดาโฉดฉายเป็นประกาย จนกระทั่งได้ออกอัลบั้มเพลงอนาซิดมากว่า 10 อัลบั้ม เพลงบางเพลงกลายเป็นเพลงโฆษณาและเพลงสำหรับหาเสียงให้แก่พรรคยุติธรรม (Keadilan Parti) พรรคการเมืองอิงศาสนาอิสลามในอินโดนีเซียอีกด้วย
แม้ว่าสมาชิกบางคนในเอสนาดาได้ลาออกไป เนื่องจากเหตุผลในเรื่องส่วนตัวและมีวิสัยทัศน์ในการทำเพลงที่แตกต่างกัน แต่ในที่สุดเอสนาดาก็ได้สมาชิกวงใหม่เพิ่มอีกสองคนคือ อิคลาน นูร์ รอมมาดอน (อิคลาน) ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนมานับถืออิสลามและเข้ามาเป็นสมาชิกเอสนาดาในเดือนมีนาคมในปี 1999 และ เท็ดดี้ ตาเดียน่า ตาลันดา (กัง เท็ดดี้) ที่เข้าเป็นสมาชิกเอสนาดาในเดือนพฤศจิกายนปี 2000 สำหรับการเข้ามาของคิลานและเท็ดดี้นั้น ยิ่งทำให้เอสนาดาเจิดจ้าอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะอิคลานและเท็ดดี้ต่างเป็นนักร้องและนักดนตรีอาชีพกันมาก่อน
อัลบั้ม Neo Shalawat 2002 เป็นอัลบั้มเพลงอนาซิดแรกที่ประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์อย่างล้นหลาม โดยมียอดจำหน่ายในอินโดนีเซียสูงถึง 300,000 ตลับ ความสำเร็จในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าเพลงอนาซิดไม่ได้เป็นแค่เพลงสอนศาสนาอิสลามเท่านั้น หากแต่ยังสามารถสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์อย่างมากอีกด้วย ดังที่ปรากฏว่าเพลงถูกนำมาขายเป็นเสียงรอสายสำหรับโทรศัพท์มือถือและเป็นเพลงในเว็บไซต์เกี่ยวกับศาสนา ในขณะเดียวกัน ความสำเร็จของเอสนาดาก็ผลักดันให้พวกเขาสามารถก้าวเท้าไปสู่เส้นทางระดับนานาชาติในที่สุด เพราะตลาดสำหรับเพลงอนาซิดหรือเพลงทางศาสนาอิสลามนี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะบางที่หรือกระจัดกระจายตามประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีมุสลิมอาศัยอยู่อีกต่อไป แต่กลายเป็นตลาดเพลงทางศาสนาอิสลามหนึ่งเดียวที่ใหญ่โตอย่างมาก ครอบคลุมอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนและไทย รวมทั้งที่อื่นๆ ที่เพลงอนาซิดถูกนำไปเผยแพร่
อัลบั้ม Dari Jakarta ke Kuala Lumper (2003) ของเอสนาดา คืออัลบั้มที่สะท้อนความพยายามนำเพลงอนาซิดจากอินโดนีเซียข้ามทะเลไปยังกลุ่มผู้ฟังในประเทศอื่น ในอัลบั้มนี้ เพลงที่โด่งดังอย่างมากและถูกเปิดวนไปวนมาจนท่วมสถานีวิทยุช่องต่างๆ ตลอดช่วงปี 2003 คือ Jagala Hati ซึ่งได้รับการแต่งเนื้อร้องจากผู้นำมุสลิมหัวสมัยใหม่ผู้มากบารมี อับดุลเลาะห์ ยิมนาสเตียร์ หรือที่รู้จักกันในนาม “น้ายิม” (A’a Gym) อย่างไรก็ตาม ความนิยมในเพลงอนาซิดไม่ได้หยุดอยู่นั้น ดูเหมือนเอสนาดาได้กลายเป็นต้นแบบแก่วงอนาซิดรุ่นหลังๆ ในประเทศอื่นอีกด้วยอีกด้วย
ในประเทศไทย ความนิยมของเพลงอนาซิดเริ่มต้นขึ้นในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะในจังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส โดยบรรดาโต๊ะครูสอนศาสนาต่างกระตือรือร้นในการปลุกปั้นลูกศิษย์ของตนให้ก้าวไปสู่นักร้องเพลงอนาซิดในอนาคต มีการนำเพลงอนาซิดดังๆ จากเอสนาดาและวงอนาซีดต่างประเทศอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงมาใช้ในการฝึกฝนหรือร้องประปวด นอกจากนี้ มีการบันทึกเสียงเพลงอนาซิดขึ้นอีกด้วย โดยปรับเปลี่ยนเนื้อร้องเสียใหม่ในภาษามลายูถิ่นปาตานีที่คุ้นเคย แต่ยังคงทำนองเพลงอนาซิดที่มีชื่อเสียงอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าในฐานะแม่แบบเพลงอนาซิด หนึ่งในนักร้องอนาซิดระดับตำนานและที่มีชื่อเสียงอย่างมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ดะ กำปงปีแซ เปิดเผยว่าเธอเติบโตมากับการร้องเพลงอนาซิด โดยมีโต๊ะครูคอยฝึกฝนการร้องเพลงและมักจะซื้อเทปคาสเซ็ตเพลงอนาซิดจากมาเลเซียและอินโดนีเซียติดมือมาให้ฟังเสมอ ในปัจจุบัน เพลงอนาซิดได้รับความนิยมในหมู่คนมุสลิมรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
บัญชา ราชมณี
พฤษภาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Dani, I. R., & Guli, I. (2010). Kekuatan musik religi: mengurai cinta merefleksi iman menuju kebaikan universal. jakata: kompas gramedia.
Seneviratne, K. (2012). Countering MTV Influence in Indonesia and Malaysia. Singapore: ISEAS
Weintraub, A. N. (2011). Islam and Popular Culture in Indonesia and Malaysia. USA and