สหภาพมลายัน เป็นรูปแบบการปกครองที่อังกฤษเสนอขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้รวมดินแดนมลายูที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเดียวกัน คลอบคลุมพิ้นที่รัฐมลายู สเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์และสิงคโปร์ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ สหภาพมาลายันมีลักษณะสำคัญคือ การรวมรัฐทั้งในและนอกสหพันธรัฐมลายู รวมถึงปีนังกับมะละกาเข้าด้วยกันเป็นสหภาพมลายัน การลดสถานภาพของสุลต่านให้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล และอธิปไตยเป็นของกษัตริย์อังกฤษ อีกทั้งพลเมืองภายในสหภาพมลายันทุกคนจะต้องมีสิทธิเท่าเทียมและไม่มีอคติเรื่องเชื้อชาติ หรือศาสนา
สหภาพมลายัน ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายน 1946 โดยมีเซอร์ เอ็ดเวิร์ด เจนท์ เป็นข้าหลวงผู้ปกครองกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของสหภาพมาลายัน โครงการสหภาพมลายันได้รับการเสนอแก่คณะรัฐมนตรีฝ่ายการสงครามในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 1944 ซึ่งยังอยู่ในสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาแนวคิดดังกล่าวได้รับการทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นจากฝ่ายเจ้าอาณานิคมอังกฤษในเดือนตุลาคม 1945 โดยมีเซอร์ แฮโรลด์ แมกมิเชล ได้รับมอบหมายงานให้รวบรวมความเห็นชอบจากผู้ปกครองของแต่ละรัฐ ในเดือนเดียวกันนั้นผู้ปกครองในแต่ละรัฐลงมติว่าเห็นชอบสำหรับการจัดตั้งโครงการนี้ขึ้น เนื่องมาจากในระหว่างที่ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองรัฐที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษนั้น เหล่าผู้ปกครองต่างถูกแย่งชิงอำนาจการปกครองไป และถูกขับออกจากตำแหน่ง แสดงให้เห็นถึงการไร้กำลังสำหรับต่อกรกับผู้รุกรานหากยังแยกกันปกครอง ดังนั้นเหล่าผู้ปกครองจึงเห็นชอบกับแนวคิดดังกล่าว แม้จะไม่เต็มค่อยใจนัก เพราะอำนาจของตนเองถูกลดทอนลงไป
แม้ประชาชนทุกคนจะมีสิทธิที่จะยื่นขอเข้าเป็นพลเรือนของสหภาพมลายัน แต่ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริติชมลายาหรือสิงคโปร์ ก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1942 จะได้รับสถานะพลเรือนของสหภาพมลายัน แบบอัตโนมัติ สำหรับผู้ที่เกิดนอกบริติชมลายาหรือสเตรทส์เซ็ทเทิลเมนต์ เฉพาะในกรณีที่มีบิดาเป็นพลเมืองของสหภาพมลายันและมีอายุครบ 18 ปี บริบูรณ์ และผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในบริติชมลายาหรือสิงคโปร์ ในช่วง 10-15 ปี ก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1942 จะมีโอกาสในการได้รับสถานะพลเรือนของสหภาพมลายันเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติที่จะต้องมีความประพฤติดีเข้าใจและสื่อสารภาษาอังกฤษหรือภาษามลายูได้ดี รวมทั้งการสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อสหภาพมลายัน อย่างไรก็ตามคุณสมบัตดังกล่าวนี้ก็ไม่เคยใช้งานจริง เพราะส่งผลให้ชาวจีนจำนวนมากและชาวอินเดียมีโอกาสน้อยที่จะได้รับสถานะพลเรือนของสหภาพมลายัน จึงต้องมีการปรับแก้อยู่หลายครั้ง
สุลต่านที่เคยปกครองรัฐมลายูต่างยอมที่จะโอนอำนาจทั้งหมดของพวกเขาไปยังพระมหากษัตริย์อังกฤษยกเว้นในเรื่องศาสนา สหภาพมลายันอยู่ภายใต้การปกครองของข้าหลวงที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของอาณานิคมอังกฤษในคาบสมุทรมลายู ส่วนเทศบาลในแต่รัฐยังคงทำหน้าที่เหมือนกับตอนที่อยู่ภายใต้สหพันธ์มลายู แม้จะถูกลดทอนอำนาจลงก็ตาม เพราะถูกมองว่าการบริหารส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญน้อยกว่าส่วนกลางและรัฐบาลกลางในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เทศบาลจึงทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องมือช่วยบริหารที่จะต้องทำตามคำสั่งของรัฐบาลกลางเท่านั้น นอกจากนี้สถานะทางการเมืองของสุลต่านถูกลดลงอย่างมากเช่นกัน ศาลฎีกาแห่งสหภาพมลายันก่อตั้งขึ้นในปี 1946 ซึ่งมีแฮโรลด์ เคอแว๊น วิลแลน เป็นผู้พิพากษา
ความวุ่นวายภายในสหภาพมลายันมีกลุ่มชนชั้นนำในมาเลเซียเป็นกลุ่มที่ออกมาต่อต้านแนวคิดสหภาพมลายันอย่างจริงจัง เพราะเป็นการลดอำนาจของสุลต่านที่มีมานานลงอย่างมาก และชาวมลายูรู้สึกว่าตนเองสูญเสียสิทธิพิเศษที่เคยมีเหนือชาวจีนและชาวอินเดียไป โดยมีดาโต๊ะ ออน บิน จาอาฟาร์ เป็นผู้นำในการจัดประชุมเพื่อคว่ำบาตรสหภาพมลายา จนทำให้สุลต่านทุกพระองค์ไม่เข้าร่วมพิธีก่อตั้งสหภาพมลายันของอังกฤษ ประชาชนชาวมลายูเดินขบวนต่อต้านโดยคาดผ้าขาวไวบนหัว ต่อมาในวันที่ 11 พฤษภาคม 1946 ดาโต๊ะ ออน บิน จาอาฟาร์ ร่วมกับกลุ่มชนชั้นนำของชาวมลายูก่อตั้งพรรคอัมโน โดยมีเขาเป็นประธานพรรคคนแรก
เนื่องจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองและความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดกลุ่มนิยมอิสลามที่ต้องการสร้างศาสนาอิสลามบริสุทธิ์ในมาเลเซีย และกลุ่มฝ่ายซ้ายนำโดยสหภาพมลายูหนุ่มที่ต้องการรวมมลายา สิงคโปร์และอินโดนีเซียเข้าด้วยกัน ฝ่ายอังกฤษไม่ให้การสนับสนุนกับทั้งสองกลุ่ม และใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรงในปี 1948 จากนั้นอังกฤษจึงหันไปเจรจากับพรรคอัมโนในวันที่ 3 กรกฎาคม 1948 นำไปสู่การจัดตั้งสหพันธรัฐมลายาขึ้นแทนที่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1948 และแผนการสหภาพมลายันก็ล้มเลิกไป
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษกลับเข้ามาในมลายาอีกครั้ง และจัดตั้งสหภาพมลายันเพื่อรวบรวมดินแดนที่เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และสร้างสหภาพมลายันให้เป็นการปูทางสู่การให้เอกราช โดยใช้การปกครองร่วมระหว่างรัฐบาลอังกฤษและชาวมลายู ทั้งยังลดอำนาจทางการเมืองของสุลต่านประจำรัฐต่างๆ ลง และรวมอำนาจการปกครองให้อยู่ภายใต้รัฐบาลกลางด้วยการใช้ความไม่มั่นคงและความอ่อนแอของแต่ละรัฐซึ่งเคยแยกกันปกครองในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ญี่ปุ่นสามารถยึดครองได้โดยง่าย แต่ความล้มเหลวในการปกครองของสหภาพมลายันทำให้แผนการสหภาพมลายันต้องล้มเลิกไปในปี 1948
ฐิติพงศ์ มาคง
มิถุนายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Barbaba Watson Andaya, Leonard Y. Andaya. พรรณี ฉัตรพลรักษ์(แปล). (2549). ประวัติศาสตร์มาเลเซีย. กรุงเทพฯ. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
Malayan Union. Search on 2 July 2016, Retrieved from Wikipedia: https://en.wikipedia.org/wiki/Malayan_Union.
Althistory wikia. Malayan Union (Twilight of a New Era). [Online]. Search on 30 June 2016. Retrieved
from : http://althistory.wikia.com/wiki/Malayan_Union_(Twilight_of_a_New_Era).
สหภาพมาลายา. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2559, จากวิกิพีเดีย: https://th.wikipedia.org/wiki/สหภาพมาลายา.