การฆ่าสังหารที่ซัมบัส (Sambas Massacres) เป็นผลพวงจากความขัดแย้งระหว่างชาวดายักกับมาดูรีสที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนธันวาคม ปี 1996 ถึงเดือนมกราคม ปี 1997 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 600 คน และส่งผลกระทบต่อผู้อพยพและประชาชนรวมกว่า 5-6 ล้านคน มีสาเหตุหลักมาจากนโยบายทรานไมเกรชั่น หรือนโยบายสังสารวัฏ ในปี 1930 ทำให้เกิดการอพยพชาวมุสลิมครั้งใหญ่ โดยอพยพมาดูรีสจากเกาะมาดูรามายังเกาะบอร์เนียวภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลอาณานิคมดัตช์ให้มาตั้งถิ่นฐาน จนเกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากชาวมาดูรีสมีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่าชาวดายัก ทั้งที่ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นเคยเป็นของชาวดายักมาก่อน ถือเป็นสาเหตุหลักที่สร้างความโกรธแค้นให้แก่คนพื้นถิ่น และสาเหตุในตอนท้ายคือการเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ผสมผสานกับความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ ตลอดจนตั้งองค์กรเคลื่อนไหวของตนเองในเรื่องสิทธิทำกิน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้คือผลพวงจากนโยบายทรานไมเกรชั่นในปี 1930 ของรัฐบาลอาณานิคมดัตช์จนถึงรัฐบาลซูฮาร์โต เพื่อจะสนับสนุนให้กระจายคนกว่า 200 ล้าน ที่อาศัยอยู่บนเกาะชวา บาหลีและมาดูรา ซึ่งมีความหนาแน่นของประชากรถึง 800 คนต่อตารางกิโลเมตร และยังมีความแตกต่างกันทางชาติพันธุ์ ไปยังเกาะบอร์เนียวที่มีความหนาแน่นของประชากรเพียง 17 คนต่อตารางกิโลเมตร และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ของเกาะบอเนียว รวมทั้งลดผู้ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติในเขตชวา เช่น น้ำท่วมในชวากลางในปี 1993 หรือการเกิดแผ่นดินไหวบนเกาะฟลอเรสในปี 1992 รวมถึงโครงการเพื่อการพัฒนา เช่น เขื่อนเกอดัง โอมโบในชวากลางหรือเขตอุตสาหกรรมต่างๆ โดยรัฐบาลซูฮาร์โต้ใช้ข้ออ้างว่าเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนยากจนในเขตบอร์เนียวเพื่อหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
จากนโยบายดังกล่าวทำให้สัดส่วนประชากรบนเกาะบอร์เนียวเพิ่มขึ้น รัฐเข้าไปเวียนคืนที่ดินเพื่อนำมาให้ผู้อพยพ ซึ่งสร้างความโกรธแค้นแก่คนพื้นถิ่นเป็นอย่างมาก การชดเชยจากภาครัฐที่น้อยเกินไปหรือบางกรณีก็ไม่ได้รับการชดเชยใดๆ จากภาครัฐ ทำให้คนพื้นถิ่นจำนวนมากต้องไปประกอบอาชีพด้านอื่นๆ รวมทั้งการขายบริการ นำไปสู่ความตึงเครียดระหว่างคนพื้นถิ่นกับผู้อพยพที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จนเกิดการทำลายผลผลิตทางการเกษตรและเผาทำลายโรงงาน
ในปี 1999 ความขัดแย้งปะทุขึ้นอีกครั้งระหว่างการร่วมมือกันของชาวมลายูกับชาวดายัก เพื่อกำจัดชาวมาดูรีส มีจุดเริ่มต้นในย่านซัมบัส มาดูรีส อำเภอซัมบัส จังหวัดกาลิมันตันตะวันตก ด้วยการโจมตีจากนักรบดายักกว่า 1,000 คน ที่ออกมาจากป่า พร้อมด้วยอาวุธ อาทิ ธนู ลูกศร หอก มีดพร้า และปืน ชาวมาดูรีสส่วนใหญ่ในเมืองหนีเข้าไปในป่า แต่ก็ถูกตามล่าและนำมาสังหาร เกิดการเผาบ้าน ปล้นอาหารและสิ่งของอื่นๆ ใส่รถบรรทุก หลังเหยื่อเสียชีวิต ซึ่งมีทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก ศพจะถูกตัดอวัยวะอย่างทารุณ เช่น การตัดหัวและพาเดินไปทั่วท้องถนนเสมือนถือถ้วยรางวัลแห่งชัยชนะ การตัดหูและส่วนอื่นๆ ของเหยื่อมาสวมใส่เป็นเครื่องประดับบนร่างกายของตนเอง นอกจากนี้กลุ่มวัยรุ่นชาวดายักยังนำอวัยวะภายในของเหยื่อ เช่น ตับและหัวใจ รวมทั้งแขนและขามาปรุงให้สุก เพื่อแบ่งกันกินในหมู่นักรบ โดยมีความพยายามเพียงเล็กน้อยจากรัฐบาลอินโดนีเซียที่จะหยุดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งตำรวจที่เข้าไปปราบปรามการสังหารหมู่ดังกล่าวก็โดนชาวมลายูและชาวดายักโจมตีไปด้วย
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คน และมีหลายคนถูกข่มขืนจากผู้สังหารก่อนจะลงมือฆาตกรรม ทั้งยังมีผู้ลี้ภัยชาวมาดูรีสกว่า 20,000 ราย อยู่ในการดูแลของศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยชั่วคราวที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นทั่วจังหวัดพอนเทียนัค และอีก 7,000 คน ได้รับการคุ้มครองจากค่ายทหารทั้งสี่ค่ายในเขตพื้นที่ซัมบัส โดยผู้ลี้ภัยจำนวนมากแทบจะไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่ ศูนย์ที่ดูแลผู้ลี้ภัยจึงต้องจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกและปัจจัยพื้นฐานที่ใช้ในการดำเนินชีวิต
ความรุนแรงลดลงชั่วขณะหลังจากรัฐบาลส่งกองกำลังพิเศษเข้ายึดพื้นที่ในการสังหาร และจัดตั้งกองกำลังทหารส่วนภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างอำนาจรัฐผ่านกองกำลังทหารในพื้นที่กาลิมันตัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถขยายการปกครองระบบทหารลงไปถึงระดับหมู่บ้าน
ชาวมลายู ชาวดายัก และผู้นำชาวจีนได้เรียกร้องให้รัฐบาลขับไล่ผู้อพยพชาวมาดูรีสออกจากจังหวัดกาลิมันตันตะวันตก นายแฮนโด ปริโยโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรานไมเกรชั่น และนายอัสพาร์ อัศวิน ผู้ว่าราชการจังหวัดกาลิมันตันตะวันตกได้ทำงบประมาณที่ใช้ในการดูแลผู้ลี้ภัยชาวมาดูรีสและที่จะใช้ในการส่งตัวกลับมาดูรา ท่ามกลางการประท้วงของผู้นำมาดูรีสที่ไม่ต้องการกลับมาดูรา โดยนายแฮนโด ปริโยโน ให้เหตุผลว่าการย้ายถิ่นฐานของชาวมาดูรีสไม่จำเป็นอีกต่อไป ผนวกกับชาวมลายู ชาวดายักและผู้นำชาว ให้เหตุผลว่า วัฒนธรรมไม่สามารถเข้ากันได้ แต่จากการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดได้เปิดเผยออกมาว่าชาวมาดูรีส เป็นแพะรับบาปที่รัฐบาลสร้างขึ้นเพื่อรองรับกับปัญหาทางสังคมและการล่มสลายทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในช่วงปี 1997-1998 โดยนโยบายของกระทรวงทรานไมเกรชั่นในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา นั้นเอารัดเอาเปรียบชาวมาดูรีสเป็นอย่างมาก
เหตุการณ์ฆ่าสังหารที่ซัมบัส เป็นความรุนแรงที่ปะทุขึ้นจากการกระทำของรัฐบาล อันมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจโดยไม่ได้ให้ความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนพื้นถิ่น ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ และความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจนำมาสู่ความโกรธแค้นของคนในพื้นที่และความตึงเครียดระหว่างคนพื้นถิ่นกับผู้อพยพที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เมื่ออำนาจทางการเมืองอ่อนแอลง ความตึงเครียดที่ถูกเก็บสะสมมาอย่างยาวนานก็ปะทุขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากเหตุการณ์ฆ่าสังหารเมื่อปี 1997 และ1999 ยังมีเหตุการณ์ฆ่าสังหารในปี 2001 ที่ชาวดายักเข้าไปสังหารชาวมาดูรีสที่ซัมปิท
ฐิติพงศ์ มาคง
พฤษภาคม 2559