ฟิลิปปินส์ถือเป็นประเทศหนึ่งที่ยอมรับในตัวตนของเพศที่สาม แต่การใช้ความรุนแรงต่อเพศที่สามยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ เช่น คดีฆาตกรรมสาวประเภทสอง ชื่อ เจนนิเฟอร์ โลด์ (Jennifer Laude) อายุ 26 ปี นับเป็นหนึ่งในคดีสะเทือนขวัญสำหรับชาวฟิลิปปินส์หลายคน โดยเฉพาะบรรดาสาวประเภทสองในฟิลิปปินส์ ทั้งยังสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์และกระแสสังคมซึ่งนำมาสู่การเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเจนนิเฟอร์เป็นจำนวนมาก
ในวันที่ 11 ตุลาคม 2014 สิบตรีโจเซฟ สกอตต์ เพมเบอร์ตัน (Joseph Scott Pemberton) นาวิกโยธินสหรัฐอเมริกาสังกัดกองพันที่ 2 กรมนาวิกโยธินที่ 9 ค่ายเลอเชิน มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา อายุ 19 ปี เดินทางมาเพื่อเข้าร่วมการซ้อมรบประจำปีระหว่างสหรัฐอเมริกากับฟิลิปปินส์ ขณะที่เรือกำลังจอดเทียบท่าในอ่าวซูบิค ซึ่งเป็นฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่ในฟิลิปปินส์ ภายหลังจากเสร็จสิ้นการออกกำลังกายในช่วงค่ำ เขาไปพักผ่อนที่ดิสโก้บาร์แห่งหนึ่งในเมืองโอลางกาโป และได้รู้จักกับเจนนิเฟอร์ โลด์ ในขณะนั้นเพมเบอร์ตันยังไม่ทราบว่าเธอคือสาวประเภทสอง ทั้งคู่จึงพากันเข้าโรงแรมม่านรูดแห่งหนึ่งในเมืองโอลางกาโป และหลังจากนั้นประมาณหนึ่งชั่วโมง เพมเบอร์ตันก็เดินออกมาจากโรงแรมเพียงคนเดียว
กระทั่งวันที่ 12 ตุลาคม 2014 พนักงานของโรงแรมดังกล่าว เข้าไปพบร่างของเจนนิเฟอร์ โลด์อยู่บนพื้นห้องน้ำ ในสภาพเปลือยกายครึ่งท่อนและเหลือเพียงผ้าเช็ดตัวห่อหุ้มร่างกายเอาไว้ มีร่องรอยของการบีบรัดบริเวณลำคอ และแผลถูกทำร้ายหลายจุด ขณะที่ผลการชันสูตรของตำรวจระบุว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการขาดอากาศหายใจ เนื่องจากผู้ตายถูกจับกดน้ำในชักโครก ทั้งยังตรวจพบถุงยางอนามัยและคราบอสุจิในพื้นที่เกิดเหตุ เพมเบอร์ตันจึงกลายเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมเจนนิเฟอร์ โลด์ เพราะมีพยานพบเห็นว่าเขาคือคนที่อยู่กับเธอเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะไม่มีใครพบเห็นเธออีกเลย จนกระทั่งพนักงานของโรงแรมดังกล่าวเข้าไปพบร่างของเธอและแจ้งตำรวจ หลังจากที่ถูกตั้งข้อหาเขาให้เหตุผลว่าเป็นการป้องตัว แต่ในท้ายที่สุดเขาก็ยอมรับว่ามีสาเหตุมาจากความโกรธ ที่เพิ่งจะมารู้ความจริงว่าเจนนิเฟอร์เป็นสาวประเภทสองในขณะที่กำลังจะมีเพศสัมพันธ์กัน เพมเบอร์ตันจึงบันดาลโทสะด้วยการจับหัวของเธอกดน้ำในชักโครกจนเสียชีวิตก่อนจะหลบหนีไป และถูกตำรวจฟิลิปปินส์ควบคุมตัวในเวลาต่อมา นำไปสู่การออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องบนท้องถนนของชาว ฟิลิปปินส์และพรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ เพื่อกดดันให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ยื่นเรื่องต่อสหรัฐอเมริกาในการย้ายการควบคุมตัวเพมเบอร์ตันจากบนเรือรบสหรัฐอเมริกา มาอยู่ภายใต้การควบคุมของกองบัญชาการทหาร ณ กรุงมะนิลา
วันที่ 19 ตุลาคม 2014 มีพยาน 4 รายได้เข้าให้ปากคำกับอัยการฟิลิปปินส์ และในวันที่ 1 ธันวาคม 2015 สหรัฐอเมริกาได้ส่งมอบตัวผู้ต้องหาให้ศาลท้องถิ่นเมืองโอลางกาโป ต่อมาในวันที่ 15 ธันวาคม 2015 ศาลท้องถิ่นในเมืองโอลางกาโปตัดสินความผิดเพมเบอร์ตันฐานฆาตกรรมโดยเจตนาให้ถูกจำคุกเป็นเวลาไม่เกิน 40 ปี แต่หน่วยงานตำรวจระหว่างประเทศไม่เห็นด้วยกับการตัดสินดังกล่าว เนื่องจากขาดองค์ประกอบของการฆาตกรรม เช่น การทรยศหักหลัง และการใช้กำลังที่รุนแรงกว่านี้ รวมทั้งมีสาเหตุมาจากความหลงใหล ความสับสน และความมึนเมาจึงได้รับการลดหย่อนโทษลง เหลือเป็นคดีการฆาตกรรมโดยไม่มีการไตร่ตรองไว้ก่อนล่วงหน้า มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี โดยศาลตัดสินจำคุกเพมเบอร์ตันเป็นเวลา 6-12 ปี พร้อมจ่ายค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตเป็นเงิน 4.5 ล้านเปโซ หรือประมาณ 3.5 ล้านบาท
คดีฆาตกรรมครั้งนี้เป็นข่าวใหญ่อยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และกลายเป็นประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐอเมริกาที่เป็นพันธมิตรกันมายาวนาน อันกระทบต่อความตกลงว่าด้วยการใช้ ฐานทัพฟิลิปปินส์ของกองทัพสหรัฐเป็นข้อตกลงทางการทหารของสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ที่ลงนามร่วมกันเมื่อปี 1998 เพื่ออนุญาตให้สหรัฐอเมริกาสามารถส่งทหารไปซ้อมรบร่วมกันในฟิลิปปินส์ได้ โดยข้อตกลงดังกล่าวเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผลประโยชน์ฝ่ายเดียวของสหรัฐอเมริกา และเป็นลัทธิอาณานิคมใหม่ของสหรัฐอเมริกา นาวิกโยธินสหรัฐอเมริกาจึงยกเลิกการเทียบท่าที่ฟิลิปปินส์เพื่อลดกระแสต่อต้านทางสังคม ทั้งกองบัญชาการสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิกยังสั่งห้ามทหารออกเที่ยวในสถานเริงรมย์หลังเวลา 22.00 น. เพื่อป้องกันไม่เกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้นอีก
ทั้งนี้นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเพศที่สามและพรรคฝ่ายซ้ายอย่างพรรคบายัน (Bagong Alyansang Makabayan) เริ่มแสดงออกในสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเพมเบอร์ตันได้รับสิทธิพิเศษในฐานะสมาชิกของกองทัพสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับการรักษาสิทธิพลเมืองชั้นสองของฟิลิปปินส์อย่างเจนนิเฟอร์ โลด์ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์ออกมาประท้วงสหรัฐอเมริกาให้โอนสิทธิการคุ้มครองเพมเบอร์ตันไปอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์แทนสหรัฐอเมริกาและเรียกร้องให้มีการยกเลิกความตกลงว่าด้วยการใช้ฐานทัพฟิลิปปินส์ของกองทัพสหรัฐ รวมทั้งประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาเดินขบวนประท้วงหน้าศาลที่ใช้ในการตัดสินคดีฆาตกรรมเจนนิเฟอร์ โลด์ ตลอดจนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนหนึ่งได้ตั้งกระทู้ถามในรัฐสภาเพื่อปลดนายเบนิโญ อากีโนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
ดังที่กล่าวมาคดีฆาตกรรมเจนนิเฟอร์ โลด์ นับเป็นคดีที่นำไปสู่ผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมฟิลิปปินส์ ทั้งกระแสต่อต้านจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเพศที่สาม การเดินขบวนประท้วงและกระแสการต่อต้านในแวดวงการเมือง ตลอดจนความสัมพันธ์ทางการเมืองและการทหารระหว่างสหรัฐอเมริกากับฟิลิปปินส์ ทั้งนี้บทลงโทษที่เพมเบอร์ตันได้รับยังน้อยเกินไปสำหรับชาวฟิลิปปินส์หลายกลุ่ม
ฐิติพงศ์ มาคง
เมษายน 2559