ฮุสเซน อาหมัด นาจาดี (Hussain Ahmad Najadi) กำเนิดในบาห์เรนเมื่อปี 1938 บิดาและมารดาของเขามีเชื้อสายเปอร์เซีย เขาเป็นประธาน ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งกลุ่มไอก้า (AIAK Group) ในปี 1974 ที่ตั้งอยู่ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ต่อมาในปี 1975 ก่อตั้งกลุ่มธนาคารอาหรับมาเลเซีย (Arab Malaysian Banking Group - AMBG) เมื่อกลายเป็นหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซียก็เปลี่ยนชื่อเป็น อัมแบงค์ (AmBank) ซึ่งยังมีกิจการอื่นๆ อีกมากที่เขาเป็นหุ้นส่วนความเป็นเจ้าของ
คดีฆาตกรรมฮุสเซน อาหมัด นาจาดี เกิดขึ้นในวันที่ 29 กรกฏาคม 2013 เวลาประมาณ 14.00 น. ตามเวลามาเลเซีย เขาถูกลอบสังหารด้วยอาวุธปืนในระยะใกล้ลูกกระสุนพุ่งเข้าสู่หน้าอกจำนวนสองนัดจนเสียชีวิต ในขณะที่นายชอง เหม่ย เคียน (Chong Mei Kuen) เพื่อนชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนของเขาถูกตีด้วยของแข็งเข้าที่มือซ้ายและขาขวาจนได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยพวกเขาถูกยิงมาจากด้านหลังในบริเวณใกล้กับที่จอดรถ หลังเดินพวกเขาออกมาจากวัดเจ้าแม่กวนอิมในซอยโลรง เซย์ลอน (Lorong Ceylon) โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังการประชุมเรื่องทุนบริจาคให้วัดจำนวนกว่า 300,000 ริงกิตมาเลเซีย นายฮุสเซนได้คัดค้านข้อเสนอเรื่องทุนดังกล่าวของ ดาตุก ริชาร์ด มอร์ไรส์ (Datuk Richard Morrais) ซึ่งการประชุมสิ้นสุดลงในเวลา 13.30 น. ของวันเกิดเหตุ การเชื่อมโยงนี้มีน้ำหนักมากขึ้นจากคำให้การของ นายปาสคาล นาจาดี ลูกชายของเขา
หลังตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ ได้ทำการสอบถามพยานผู้พบเห็นเหตุการณ์ และหาหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ในที่เกิดเหตุ จึงได้ขอสรุปว่าฆาตกรเป็นหนึ่งในสามคนที่รออยู่ด้านนอกวัด เพื่อให้ฮุสเซนที่อยู่ระหว่างการสนทนาธุรกรรมส่วนตัวกับเพื่อนร่วมงานก่อนลงมือสังหารหลังพวกเขาออกมาจากวัด โดยที่ฆาตรกรสวมชุดกีฬา แว่นตาดำ หมวก และจับตามองเขาอยู่ในรถแท็กซี่พร้อมกับผู้สมรู้ร่วมคิดอีกสองคน
ในวันที่ 5 สิงหาคม 2013 ตำรวจจับกุมชายวัย 42 ปี เนื่องจากเขาเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในรถแท็กซี่คันดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม 2013 ตำรวจจับกุมผู้หญิงสองคนซึ่งต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรม จากนั้นในวันที่ 16 สิงหาคม 2013 นายชิว เซียง ชี (Chew Siang Chee) คนขับรถแท็กซี่ถูกจับกุมในข้อหาว่าเป็นผู้ขนส่งฆาตกรที่ฆ่านายฮุสเซน ศาลยังพิจารณาคดีครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนผิดกฎหาย โดยศาลพยายามชี้ให้เห็นว่าเขาเป็นหนึ่งในสามผู้ต้องสงสัย จนเขาให้การซักทอดว่าฆาตกร คือ นายกง ชวี ขวัญ อายุ 44 ปี แต่ตำรวจยังคงเชื่อว่านายเซือ งัน ชัย เป็นฆาตกรตัวจริง หลังจากนั้น นายกง ชวี ขวัญ ก็ถูกจับกุมและศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยการแขวงคอ พร้อมเงินค่าปรับอีก 20,000 ริงกิตมาเลเซีย ในขณะที่ นายชิว เซียง ชี ศาลอนุญาตการยื่นอุทธรณ์และได้รับรับโทษจำคุกเป็นเวลา 14 ปี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2014 ศาลพิพากษาจำคุกนายอาซวาร์นิดา แอฟแฟนดี (Azwarnida Affandi) เป็นเวลา 10 ปี และโบยอีกหกครั้ง สำหรับการเป็นเจ้าของปืนและอีกสี่ปีสำหรับการครอบครองเครื่องกระสุน
ก่อนหน้านี้ นายปาสคาล นาจาดี พร้อมด้วยนายนิค คอฟแมน นักกฎหมายในคดีความผิดทางอาญาระหว่างประเทศและอดีตอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศของยูโกสลาเวียง เข้ายื่นคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ กรุงเฮก ให้พิจารณาคดีฆาตรกรรม ฮุสเซน อาหมัด นาจาดี แทนศาลอาญาของมาเลเซีย เนื่องจากการปกปิดข้อมูลคดีของตำรวจมาเลเซียแก่ญาติของผู้เสียชีวิต และนายปาสคาลเชื่อว่า ศาลอาญาของมาเลเซียถูกครอบงำโดยรัฐบาล หลังการจับกุมผู้ต้องสงสัยตำรวจเองก็ไม่ได้แจ้งให้ทางญาติของผู้เสียชีวิตทราบถึงความคืบหน้าของคดี
นอกจากแรงจูงใจเรื่องความขัดแย้งภายในที่ประชุมแล้ว ยังมีความเกี่ยวข้องกับ นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เนื่องจากในปี 2013 มีเงินฝากจำนวน 2,600 ล้านริงกิตมาเลเซีย จากกองทุนเงินเพื่อการลงทุนแห่งชาติ (1 Malaysia Development Bhd - 1MDB) ในสังกัดกระทรวงการคลังของมาเลเซีย ถูกโอนจากบริษัทแห่งหนึ่งในหมู่เกาะ บริติชเวอร์จิ้น ผ่านสาขาของธนาคารฟัลคอนที่สิงคโปร์ เข้าสู่บัญชีส่วนตัวของนายนาจิบ ราซัค เป็นบัญชีที่เปิดไว้กับอัมแบงค์ ของนายฮุสเซน ซึ่งมีหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจที่ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาเลเซีย ตำรวจและธนาคารกลางร่วมกันระงับบัญชีธนาคารของนายนาจิบ ไว้แล้ว 6 บัญชี และกำลังตรวจสอบอีก 17 บัญชี รวมทั้งนายฮุสเซน ได้ยื่นรายงานในเรื่องดังกล่าวให้แก่ตำรวจ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2013 ก่อนเกิดการฆาตกรรมเพียงหนึ่งวัน แม้นายนาจิบจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความโปร่งใสจากหลายฝ่าย อันส่งผลต่อความหน้าเชื่อถือในตัวของนายนาจิบ หลังจากนั้นไม่นานเรื่องดังกล่าวก็เริ่มจะเลื่อนหายไปจากสังคมมาเลเซีย แต่ในบางประเทศที่มีส่วนในการตรวจสอบกองทุนเงินเพื่อการลงทุนแห่งชาตินั้นยังคงพูดถึงกันอย่างไม่เปิดเผยมากนัก เช่น ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฝรั่งเศสและสวิสเซอร์แลนด์
คดีฆาตกรรมฮุสเซน อาหมัด นาจาดี เป็นคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ตั้งแต่ความขัดแย้งภายในบริษัทไปจนถึงข้อกล่าวหาการคอรัปชั่นของผู้นำรัฐบาล แม้ว่าฆาตกรและผู้สมรู้ร่วมคิดจะถูกรับโทษตามกฎหมายไปแล้ว แต่ผู้บงการที่อยู่เบื้องหลังยังคงไม่ได้รับโทษทัณฑ์ตามกฎหมาย และดูเหมือนว่าคดีจะเงียบหายไปตามกาลเวลาถึงจะมีความพยายามดึงศาลโลกเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม
ฐิติพงศ์ มาคง
พฤษภาคม 2559