เอลวี สุกาเอสิฮ์ (Elvy Sukaesih) เป็นนักร้องดังดุตหญิงชาวอินโดนีเซียที่เคยได้รับความนิยมอย่างมาก และได้รับการขนานนามจากแฟนเพลงอินโดนีเซียว่าเป็น ราชินีดังดุต (Ratu Dangdut) เธอเข้าสู่วงการเพลงตั้งแต่ทศวรรษ 1960 และเติบโตมาในยุคเดียวกับราชาดังดุตโรมา อิรามา แฟนเพลงของเอลวี สุกาเอสิฮ์มิได้มีเพียงในอินโดนีเซียเท่านั้น แต่ยังมีในญี่ปุ่นอีกด้วย
เอลวี สุกาเอสิฮ์ หรือชื่อเดิมว่า เอลเซ สุกาเอสิฮ์ (Else Sukaesih) เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ปี 1951 ที่กรุงจาการ์ตา เธอมักติดตามบิดาซึ่งตระเวนเล่นดนตรีตามงานแต่งแถวจังหวัดชวาตะวันออก ทำให้เธอสามารถร้องเพลงได้ตั้งแต่เรียนชั้นประถม ครั้งหนึ่งเมื่อเอลวี สุกาเอสิฮ์ติดสอยห้อยตามบิดาไปแสดงคอนเสิร์ตที่เมืองสุกาบูมีในปี 1964 เธอก็ได้รับโอกาสขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีเป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมพอสมควร ด้วยเหตุนี้ เธอจึงหันมาเอาจริงเอาจังในการร้องรำทำเพลง ทั้งจากการฝึกฝนด้วยตัวเองและฟังเพลงประเภทต่างๆ ที่ได้รับความนิยมสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพลงภาพยนตร์อินเดีย เพลงสมัยนิยมตะวันตก และเพลงพื้นอินโดนีเซียบ้านประเภทต่างๆ นอกจากนี้ เธอยังมีพรสวรรค์ในการท่องจำคัมภีร์อัลกุรอ่านได้อย่างเพราะพริ้ง ซึ่งทักษะด้านนี้ช่วยให้น้ำเสียงของเธอฟังดูไพเราะยิ่งขึ้น
เอลวี สุกาเอสิฮ์ย่างเท้าเข้าสู่เส้นทางนักร้องอาชีพ โดยเข้าเป็นสมาชิกในวงออเคสมลายูดังๆ หลายคณะ เช่น ปูรนามา (Purnama) ชาฮารา (Shahara) และ จันทราเลกา (Chandraleka) เป็นต้น เธอบันทึกเสียงครั้งแรกในปี 1964 คือเพลง Curahan Hati และ Rahasia Sukma ในแนวออเคสมลายูที่ได้รับความนิยมระหว่างทศวรรษ 1950 และ 1960 หลังจากนั้นช่วงทศวรรษ 1970 เธอก็ได้รับการชักชวนมาร้องเพลงในวงโซเนต้าของโรมา อิรามา อันเป็นช่วงที่เพลงอินโดนีเซียแบบใหม่อย่างดังดุตถือกำเนิดขึ้น แต่ก็ได้ออกจากวงเมื่อปี 1975 เพื่อไปตั้งคณะและออกอัลบั้มเดี่ยวของตัวเอง เพลงดังๆ ของเธอซึ่งเปลี่ยนมาร้องในแนวดังดุต ทั้งตอนที่อยู่ในวงโซเนต้าและในวงของเธอเอง เช่น Sengaja (1973) Pengalaman Pertama (1978) Assoy (1980) ฯ เป็นต้น ความโด่งดังของเพลงเหล่านี้ ทำให้เธอเป็นนักร้องเพลงดังดุตระดับแถวหน้าของวงการและกลายเป็นดาวเด่นแห่งยุคในช่วงทศวรรษ 1970
หลังทศวรรษ 1970 เอลวี สุกาเอสิฮ์ยังคงเป็นนักร้องเพลงดังดุตหญิงที่ได้รับความนิยมสุงสุดและมีน้ำเสียงอันทรงพลังมากกว่าใครๆ กล่าวกันว่าเธอคือผู้สืบทอดบัลลังก์รูปแบบการร้องแนวเพลงอินเดียจากเอลล์ยา คาดัม (Ellya Kadam) ตำนานนักร้องดังดุตหญิงผู้โด่งดังช่วงก่อนหน้านั้น แต่เอลวี สุกาเอสิฮ์ก็พัฒนารูปแบบการร้องในแนวทางของตัวเองตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 โดยมีน้ำเสียงกว้างกังวานขึ้น เพิ่มเสียงนาสิก เนื้อหาเพลงออกมาเชิงสองแง่สองง่าม พร้อมกับแสดงท่าเต้นที่ยั่วยุกามมาราณ์อีกด้วย เนื้อหาของเพลงในยุคหลังทศวรรษ 1970 จึงแตกต่างจากก่อนหน้านั้น ที่มักถ่ายทอดจากประสบการณ์ความเจ็บปวดของเธอเองและผู้หญิงทั่วไป เพื่อเอาใจบรรดาแฟนเพลงผู้หญิงของเธอ ทว่าในยุคหลังเพลงของเอลวี สุกาเอสิฮ์มีน้ำเสียงเน้นความหวานแหวว สดใสร่าเริง และวาบหวิวมากขึ้น เพลงอย่าง Mandi Madu คือหนึ่งในเพลงที่เป็นสัญลักษณ์ของเธอในทศวรรษ 1980
หลังจากประสบความสำเร็จในอาชีพร้องเพลง เอลวี สุกาเอสิฮ์ก็เข้ามาโลดเล่นในวงการภาพยนตร์ เช่นเดียวกับโรมา อิรามา นักร้องเพลงดังดุตที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเวลาเดียวกับเธอ โดยเฉพาะช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่เธอแสดงก็มักนำมาจากเค้าโคลงจากเพลงดังดุตที่ได้รับความนิยมของเธอ เช่น Asoy (1977) Tiada Seindah Cintamu (1977) Jalal Kojak Palsu (1977) Betty Bencong Slebor (1978) Mana Tahan (1979) Cubit-Cubitan (1979) เป็นต้น นอกจากนี้ เธอยังมีโอกาสได้แสดงภาพยนตร์คู่กับอะห์หมัด อัลบาร์ (Ahmad Albar) นักร้องเพลงร็อคระดับตำนานของอินโดนีเซียในภาพยนตร์เรื่อง Irma Cinta อีกด้วย ในทศวรรษ 1990 ด้วยอายุอานามเพิ่มขึ้นและมีนักร้องหน้าใหม่ก้าวขึ้นมามากมาย เอลวี สุกาเอสิห์ก็ไม่ค่อยได้ออกอัลบั้มใหม่ๆ มากนัก และว่างเว้นจากการแสดงภาพยนตร์มานานจนกระทั่งเมื่อปี 2009 เธอก็รับโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งคือ Hantu Biang Kerok (2009) อย่างไรก็ตาม เอลวี สุกาเอสิฮ์ยังคงดำรงสถานะนักร้องเพลงดังดุตตลอดกาล
สำหรับเอลวี สุกาเอสิฮ์ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดหรือยุคทองของเธอได้ผ่านพ้นมาแล้ว แต่เธอยังคงเป็นที่จดจำของแฟนเพลงชาวอินโดนีเซียตลอดมา รวมไปถึงแฟนเพลงของเธอในประเทศอื่นๆ อีกด้วย พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของดังดุตที่ถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง และปรับตัวเองเข้ากับกระแสใหม่ๆ ทางสังคมและวัฒนธรรมเสมอ เราจะเห็นว่าดังดุตในยุคหลังหรือในยุคปัจจุบันนี้ แตกต่างจากยุคเริ่มต้นและยุคทองของบรรดายักษ์ใหญ่ของวงการเพลงดังดุตที่โลดเล่นกับจังหวะที่มีชีวิตชีวา ทั้งนี้ ก็เพราะบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างขึ้นและเสรีภาพในการแสดงออกไม่ถูกปิดกั้นอีกต่อไป แต่กระนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใช่ว่าจะราบรื่นเสมอไป เห็นได้ชัดว่าดังดุตที่ถูกเรียกว่าดังดุตดิสโก้ซึ่งเน้นการเต้นรำและภาพลักษณ์อันเซ็กซี่ยั่วยวนของผู้หญิงขึ้นมามีบทบาทขึ้นมาอย่างโดดเด่น กลายเป็นประเด็นถกเถียงทั่วหัวระแหงในอินโดนีเซียนานร่วมปี อย่างไรก็ตาม ดังดุตช่นเดียวกับเพลงลูกทุ่งไทยที่เติบโตมาจากสถานะอันต้อยต่ำและถูกหมิ่นแคลน แต่ก็กลายมาเป็นวัฒนธรรมแห่งชาติได้ในที่สุด แน่นอนว่าคนอย่างสุรพล สมบัติเจริญ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ หรือเอลวี สุกาเอสิฮ์และโรมา อิรามา คือผู้ขับเคลื่อนสำคัญอย่างปฏิเสธอไม่ได้
บัญชา ราชมณี
มิถุนายน 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Weintraub, A. N. (2010). Dangdut Stories: A Social and Musical History of Indonesia's Most Popular Music. USA: Oxford University Press.
Lockard, C. A. (2001). Dance of Life: Popular Music and Politics in Southeast Asia. USA: University of Hawai'i press.
Barendregt, B. (2014). Sonic Modernities in the Malay World: A History of Popular Music, Social Distinction and Novel Lifestyles (1930s-2000s): Brill.
Gopal, S., & Moorti, S. (2008). Global Bollywood: Travels of Hindi Song and Dance. USA: University of Minnesota Press.