เอลล์ยา คาดัม (Ellya Khadam) เป็นนักร้อง นักแต่งเพลงและนักแสดงหญิงชื่อดังของอินโดนีเซีย มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาดังดุต ซึ่งเป็นแนวแพลงที่ได้รับความนิยมสุงสุดในอินโดนีเซีย เธอได้รับการยกย่องจากบรรดาศิลปินดังดุตยุคหลังอย่างเคารพว่าเป็นคุณแม่และคุณย่าแห่งวงการดังดุต
เอลล์ยา คาดัม มีชื่อจริงว่า ซิตี อัลยา ฮุสนา (Siti Alya Husna) เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ปี 1928 ที่กรุงจาการ์ตา เธอเริ่มฝึกฝนร้องเพลงครั้งแรกด้วยการแอบฟังวิธีการร้องของเดียน เซอรูนี (Dian Seruni) นักร้องเพลงแนวออเคสมลายูที่อาศัยข้างบ้านเธอ หลังจากฝึกฝนอย่างเงียบๆ มานาน เธอก็ฉายแววและแสดงความสามารถในการร้องเพลงได้อย่างยอดเยี่ยม ในที่สุด เอลล์ยา คาดัมจึงเลือกเดินทางในสายนักร้องอาชีพ แม้ว่าความตั้งใจของเธอที่จะเป็นนักร้องถูกทานทัดจากพ่อแม่ก็ตาม แต่เธอก็ออกมาร้องเพลงตามงานแต่งงานและได้รับการตอบรับอย่างล้มหลาม ตลอดจนได้รับเชิญไปร้องเพลงในวงออเคสมลายู จนกลายเป็นที่ต้องใจของวงดนตรีหลายคณะที่ต้องการเธอไปร่วมด้วย ในระหว่างที่เป็นนักร้องรับเชิญตามเวทีต่างๆ เอลล์ยา คาดัมมีโอกาสขึ้นเวทีร้องเพลงร่วมกับนักร้องหญิงอินโดนีเซียในตำนานอย่างตีเตียก ปุสบา (Titiak Puspa) และอามินะฮ์ บาโนวาตี (Aminah Banowati)
เอลล์ยา คาดัมเข้าไปเป็นนักร้องออเคสมลายู (orkes melayu) ในวงเกอลานา เรีย (Kelana Ria) ซึ่งมีอาดี้ คาร์โส (Adi Karso) และมูนิฟ บาฮาซูอัน (Munif Bahasuan) เป็นหัวหน้าวง ทำให้เธอสามารถพัฒนาฝีมือการร้องเพลงและเขียนเพลงเองได้ตามลำดับ ในปี 1957 เธอมีโอกาสได้บันทึกเสียงเพลงของตัวเองในแนวออเคสมลายูเป็นเพลงแรกชื่อ Sinar Mesra จากฝีมือการแต่งเพลงของฮูซิน บาวาฟี (Husin Bawafie) โดยอยู่ในการดูแลของ เอ. คาดีร์ (A. Kadir) หัวหน้าวงออเคสมลายูซีนาร์ เกอมาลา (Sinar Kemala) นอกจากนี้ เนื่องจากความคลั่งไคล้ในเพลงภาพยนตร์อินเดีย เอลล์ยา คาดัมจึงได้พยายามเลียนแบบวิธีการออกขับร้องแบบอินเดีย ลีลาการร่ายรำ การแสดงออกทางใบหน้าและการแต่งกายอย่างดาราภาพยนตร์อินเดีย ไม่นานนักเธอก็มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นพรุแตกจากขับร้องเพลงที่แต่งขึ้นเอง Boneka Dari India (1962) ซึ่งกลายเป็นเพลงประจำตัวที่ต้องร้องทุกครั้งไม่ว่าแสดงที่ไหนก็ตาม และเพลงๆ นี้ยังถูกถือว่าเป็นเพลงเป็นพื้นฐานหนึ่งของเพลงดังดุตอีกด้วย
เนื่องจากเสียงร้องอันแสนหวานๆ ในแบบเพลงภาพยนตร์อิเดียและมีความสามารถในการแต่งเพลง เอลล์ยา คาดัมจึงได้ตั้งวงดนตรีออเคสมลายู เอล สีตารา (El Sitara) และต่อมาคืออานามิกา (Anamika) ออกตระเวนแสดงคอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ นอกจากนี้ วงออเคสมลายูของเธอยังมีโอกาสได้บันทึกเสียงร่วมกับวงโซเนต้าของโรมา อิรามา ที่กำลังโด่งดังอีกด้วย ซึ่งนับเป็นการพบเจอกันครั้งแรกของตำนานนักร้องดังดุต อย่างไรก็ตาม ทศวรรษ 1970 ดังดุตกลายเป็นเพลงแนวใหม่ที่ขึ้นมาแทนที่เพลงออเคสมลายูแบบดั้งเดิม นักร้องออเคสมลายูจำนวนมากต่างเปลี่ยนแนวมาร้องดังดุต แน่นอนว่าเอลล์ยา คาดัมก็มีส่วนร่วมในแวดดวงดังดุต ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเนื้อร้อง ขับร้องหรือบันทึกเสียง แต่เกือบทุกเพลงถูกขับร้องในลักษณะเพลงอินเดีย อันเป็นลักษณะเฉพาะของตัวเธอ ในปี 1976 นิตยสารชื่อดังอย่าง Tempo ได้ออกมากล่าวว่าเธอคือหนึ่งในเสาหลักของนักร้องดังดุตหญิงที่ขณะนั้นเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้น เช่น เอลวี่ สุกาเอสิห์ (Elly Sukaesih) ริต้า ซูกีอาร์โต้ (Rita Sugiarto) เป็นต้น
ในช่วงทศวรรษ 1970 และทศวรรษ 1980 มีศิลปินนักร้องหน้าใหม่ก้าวขึ้นมาบดบังรัศมีเอลล์ยา คาดัม แต่เธอก็ยังคงมุ่งมั่นทำงานในโลกความบันเทิงต่อไปและมีโอกาสได้แสดงภาพยนตร์กว่า 20 เรื่อง ซึ่งมีเค้าโครงภาพยนตร์แบบภาพยนตร์อินเดียที่ได้รับความนิยมอย่างสุงในช่วงนั้น เช่น Dibalik Pintu Dosa (1970) Bing Slamet Setan Djalanan (1972) Anak Yatim (1973) Ratu Amplop (1974) Ridho Allah (1977) Gudang Uang (1978) เป็นต้น อย่างไรก็ดีเธอยังคงร้องเพลงและแต่งเพลงเป็นระยะ แม้ว่าเมื่อมีอายุมากขึ้นเธอก็ค่อยๆ ล่าถอยไปจากโลกของดนตรีที่สร้างชื่อเธอขึ้นมา แต่เธอยังคงเป็นสัญลักษณ์ของดังดุตในฐานะเป็นผู้บุกเบิกสร้างแนวเพลงประเภทนี้ ในช่วงวัยเกษียณจากการแสดงเอลล์ยา คาดัม ใช้ชีวิตเรียบง่ายในบ้านหลังเล็กๆ ไม่หรูหรา มักได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์และวิทยุเดือนละ 2-3 ครั้ง และเติมเต็มชีวิตในเวลาว่างด้วยเครื่องสำอาง
ในปี 2000 เอลล์ยา คาดัมได้รับเกียรติจากสถานีโทรทัศน์ช่อง TPI ของอินโดนีเซีย มอบรางวัล TPI Dangdut Award ให้แด่เธอในฐานะผู้มีบทบาทอันสำคัญอันยิ่งยวดในการปลุกปล้ำพัฒนารูปแบบเพลงเฉพาะตัวแบบใหม่อย่างดังดุตขึ้นมา และทำงานสร้างสรรค์ความบันเทิงมาตลอดตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าสู่วงการเพลง นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่เธอได้รับช่วงปั้นปลายของชีวิต เอลล์ยา คาดัมยังคงทำงานในวงการเพลงมาตลอด จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานหลังป่วยมาหลายปี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ปี 2009 ที่เมืองบอกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย สิริอายุได้ 80 ปี ปิดม่านหนึ่งตำนานนักร้องดังดุต เพลงภาพยนตร์อินเดียไปตลอดกาล เหลือไว้เพียงผลงานที่ทรงคุณค่า
บัญชา ราชมณี
พฤษภาคม 2559
เอกสารสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
Gopal, S., & Moorti, S. (2008). Global Bollywood: Travels of Hindi Song and Dance. USA: University of Minnesota Press.
Weintraub, A. N. (2010). Dangdut Stories: A Social and Musical History of Indonesia's Most Popular Music. USA: Oxford University Press.
Barendregt, B. (2014). Sonic Modernities in the Malay World: A History of Popular Music, Social Distinction and Novel Lifestyles (1930s-2000s). Leiden: Brill.
Harnish, D. D., & Rasmussen, A. K. (2011). Divine Ins